หมายเหตุ : เป็นอีกวันหนึ่งที่ “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ได้ลงภาคสนามเพื่อจัดเก็บข้อมูลเรื่องมะพร้าวน้ำหอม มานำเสนอแก่ผู้สนใจ และเพื่อการจัดสัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกร จริงหรือ?” วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 081 3090599 และต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยสู่เกษตรกร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ….
“มะพร้าวน้ำหอม” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าส่งออกหลายร้อยล้านบาทต่อปี และเป็นมะพร้าวพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
ปัจจุบันจัดเป็นพืชสงวนห้ามส่งออกในรูปผลแก่… น้ำมะพร้าวมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตยโดยความหอมนั้นมาจากละอองเกสรตัวผู้ที่มาผสม (xenia effect)
ปัญหาที่พบในการปลูกคือ “ความไม่สม่ำเสมอของความหวานและความหอม”…เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมโดยเน้นที่คุณภาพของผลมะพร้าวอ่อนด้านความหอมและความหวาน จนได้ต้นแม่ที่มีลักษณะดีเด่น คือ มีความหอมและมีความหวานของน้ำมะพร้าวระหว่าง 7.6 – 9.0 องศาบริกซ์ โดยต้นแม่เหล่านี้ สามารถนำมาขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนให้เพียงพอแล้วเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ทันที
ความโดดเด่นของมะพร้าวน้ำหอมคือเป็นไม้ผลที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ “จากงานวิจัยพบว่าส่วนที่รับประทานได้ของมะพร้าวน้ำหอม 100 กรัม ให้พลังงาน 77 แคลอรี และประกอบด้วยความชื้น 84.0 กรัม แคลเซียม 42.0 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.3 กรัม ไขมัน 3.6 กรัม โปรตีน 1.4 กรัม ฟอสฟอรัส 56.0 มก. วิตามินซี 6.0 มก. ไนอาซีน 0.8 มก. วิตามินบี 10.04 มก. วิตามินบี 2 0.03 มก. เส้นใย 0.4 กรัม”
ลักษณะประจำพันธุ์
มะพร้าวน้ำหอม จัดเป็นมะพร้าวกลุ่มต้นเตี้ย ลำต้นมีขนาดเล็ก ใบสั้น กว่ามะพร้าวพันธุ์ไทยทั่วไป อายุการออกจั่นจะเร็ว ในปีหนึ่ง ๆ จั่นจะทยอยออกประมาณ 15-16 จั่น หรืออาจมากกว่านั้น ในแต่ละจั่นจะติดผลอยู่ระหว่าง 10-18 ผล ปัจจัยที่ทำให้มะพร้าวน้ำหอมให้ผลผลิตมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพดิน แหล่งน้ำ สภาพอากาศ และการดูแลรักษา ฯลฯ
การเลือกสภาพพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม
- สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำในดินดี
- ควรใกล้แหล่งน้ำ
- ฝนตกกระจายสม่ำเสมอ
- อุณหภูมิของอากาศอยู่ระหว่าง 20-29 องศา
- ปริมาณแสงแดดเฉลี่ย 7.1 ชม./วัน
ระยะปลูก
พื้นที่ราบทั่วไป แบบสามเหลี่ยม แบบสี่เหลี่ยมด้านเท่า ระยะ 6.0 x 6.0 , 6.5 x 6.5 เมตร สภาพที่ลุ่มน้ำไม่ท่วมขัง ปลูกแบบยกร่อง ใช้ปลูกแบบแถวคู่ และแถวเดี่ยว ระยะ 6.0 x 6.0 , 6.5 x 6.5 เมตร ระยะหลุมควรห่างจากขอบร่องน้ำประมาณ 2 เมตร
การเตรียมหลุมปลูก
ควรเตรียมหลุมในช่วงฤดูแล้ง หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขนาดหลุมควรกว้าง 1.0 x 1.0 x 1.0 เมตร แยกส่วนหน้าดินกับดินล่างออก ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน ก้นหลุมอาจรองด้วยเปลือกมะพร้าวช่วยในกรณีที่โครงสร้างของดินโปร่ง ระบายน้ำเร็ว หรือปริมาณน้ำไม่เพียงพอ นำส่วนของดินล่างผสมปุ๋ยคอก 1 ปีบ ผสมหินร็อคฟอสเฟต 200-500 กรัม คลุกเคล้าให้ทั่วใส่กลบลงในหลุมปลูกจนเกือบเต็ม ทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก
วิธีการปลูก
หน่อพันธุ์ ควรตัดรากเดิมออกก่อนนำลงปลูกในหลุมที่ผสมดินใส่ไว้เกือบเต็ม ใช้ดินส่วนที่เหลือลงกลบหน่อพันธุ์ กดดินให้แน่นแต่ไม่ควรให้ดินกลบโคนหน่อ ซึ่งดินอาจรัดโคนหน่อ ทำให้การพัฒนาการเจริญเติบโตช้า
การดูแลรักษาสวนมะพร้าวน้ำหอม
- การใส่ปุ๋ย
ปีที่ 1 หลังปลูกมะพร้าวไปแล้ว 4 เดือน เริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรก โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 , 12-12-17-2 อัตราต้นละ 1 กก. +แมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม ครั้งที่ 2 ใส่ในอัตราเดิมในช่วงปลายฤดูฝน
ปีที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ,12-12-17-2 อัตรา 2 กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 300 กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 1 กก./ต้น/ปี
ปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21,12-12-17-2 อัตรา 3 กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 400 กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 2 กก./ต้น/ปี
ปีที่ 4 ขึ้นไป ใส่ปุ๋ย 13-13-21, 12-12-17-2 อัตรา 4 กก./ต้น/ปี แมกนีเซียมซัลเฟต 500 กรัม/ต้น/ปี โดโลไมท์ 2 กก./ต้น/ปี
การใส่ปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอม ให้แบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง หว่านปุ๋ยรอบ ๆ บริเวณทรงพุ่มพรวนดินตื้น ๆ กลบปุ๋ยรอบทรงพุ่ม
(นอกจากนี้ ควรใส่เกลือแกง ให้มะพร้าว 1.5 กก./ต้น/ปี เพื่อเพิ่มธาตุคลอไรด์ ช่วยให้มะพร้าวติดผลดี และมีเนื้อหนา-คำแนะนำนี้ใช้กับการปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมชุมพร-แต่ปรับใช้กันได้ )
- การให้น้ำ
น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำสวนมะพร้าวน้ำหอมในฤดูแล้ง หากฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกัน 1-2 เดือน ต้องมีการให้น้ำ
- การกำจัดและควบคุมวัชพืช
ควรกำจัดวัชพืช จำพวกหญ้าคาและวัชพืชที่แย่งน้ำ แย่งอาหารอื่น ๆ บริเวณรอบโคนต้นให้หมด
- การเพิ่มอินทรียวัตถุ
อินทรียวัตถุเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ต้องการอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ร่วมกับปุ๋ยเคมีอย่างน้อยปีละครั้ง หรือปีเว้นปี ขึ้นอยู่กับสภาพดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด
- แมลงศัตรูมะพร้าวและการป้องกันกำจัด
(อ่านได้ที่ http://www.kasetkaoklai.com/home/2016/04/จับตาย-4แมลงศัตรูมะพร้าว/)
การเก็บเกี่ยว
โดยทั่วไปหากมีการดูแลรักษาสวนที่ดีให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ มะพร้าวจะออกจั่นเร็ว อายุประมาณ 3 ปีเศษ ก็เริ่มทะยอยเก็บผลผลิตได้แล้ว
มะพร้าวน้ำหอมจะเริ่มเก็บผลอ่อนได้เมื่ออายุ 7 เดือน หรือประมาณ 190-200 วัน น้ำมะพร้าวในระยะนี้จะหวานและหอม เนื้อจะนุ่มเหมาะต่อการบริโภค
วิธีสังเกตมะพร้าวที่อ่อนพอดี
สังเกตโดยดูสีผล รอบกลีบเลี้ยงมีวงสีขาวล้อมรอบเพียงเล็กน้อย หรือดูทะลายอ่อนที่อยู่เหนือเยื้องทะลายที่จะตัดมีขนาดใหญ่กว่ากำปั้นเล็กน้อย หรือจะนับวันหลังจากตัดทะลายแรกผ่านไป 20 วัน จึงเริ่มตัดทะลายถัดมา นอกจากนี้อาจใช้วิธีสังเกตหางหนู หรือดีดผล ก็ได้เช่นกัน
(ขอบคุณข้อมูล /เรียบเรียง : คุณวิไลวรรณ ทวิชศรี, คุณทิพยา ไกรทอง และคุณสุภาพร ชุมพงษ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ถ.เพชรเกษม อ. สวี จ. ชุมพร 86130 โทรศัพท์/โทรสาร 077- 556073 / 077-556026 (วันเวลาราชการ) หรือ E- mail chump1@doa.in.th)
(ขอบคุณผู้ที่พาไปเยี่ยมชมแปลงปลูก : คุณธีระยุทธ กฤษณา นักวิชาการเกษตร ผู้ช่วยนักวิจัย)