ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ 30ปี ข้างหน้า ไทยต้องเป็น “เกษตรทันสมัย”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะคลังสมอง (think tank)หนึ่งของประเทศ จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2557 เรื่อง ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30ปี แห่งการก่อตั้ง ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อเร็วๆนี้

โดยมี “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดประเด็นในหัวข้อ สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ:ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า

ดร.สมเกียรติ มองไปในอนาคต 30 ปีข้างหน้า ที่โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งจะส่งแรงกดดันต่อความต้องการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาเกษตรและท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับทรัพยากรธรรมชาติมาก เมื่อถึงวันนั้นจะมีการตกลงเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มงวดกว่าทุกครั้ง

นอกจากนี้โลกจะเกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ ในลักษณะ mega-FTA block ซึ่งจะรวมเขตการค้าย่อย ๆ เข้าด้วยกัน อาจทำหน้าที่แทนองค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) และอาจไม่ใช่การค้าเสรีเต็มที่ แต่เป็นการค้าเสรีเฉพาะกลุ่ม FTA ซึ่งสถานะของไทยในปัจจุบันยังไม่เข้าเป็นสมาชิก 2 ใน 3 ของกลุ่มFTA ขนาดใหญ่ในโลกนี้เลย

สำหรับประเทศเติบโตเร็วในกลุ่มรายได้นั้น

– ประเทศร่ำรวย คือ เกาหลีใต้จะเป็นดาวรุ่งดวงต่อไป

-ประเทศยากจน คือ ไนจีเรีย

แต่คำถาม คือ ประเทศระดับรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะไทย เฉลี่ย 5,000 –10,000ดอลล่าร์/หัว ประเทศใดจะเป็นดาวรุ่ง และไทยจะมีอนาคตเป็นอย่างไร ?

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ปี 2568 โดยจะมีประชากรราว 20% ที่มีอายุเกิน 60 ปี และในปี 2588 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 36% ที่สำคัญ ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 63.8 ล้านคน และขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง

กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย

ข้อสังเกต คือ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนไทยที่ ‘รวยก่อนแก่’ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปี 2588 และในปีเดียวกันจะมีจำนวนผู้สูงอายุเท่ากับเด็ก

“ถ้าปล่อยให้การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ประสบความสำเร็จ คนไทยจะเดือดร้อนมาก”

พร้อมกันนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ ได้ยกตัวอย่าง อีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมเสี่ยงภาวะล้มละลาย เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงต้องเร่งปฏิรูป

สำหรับประเทศไทย ปี 2557 ดร.สมเกียรติ ระบุว่า คนไทยมีรายได้ 5,480 ดอล์ล่าร์ /คน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (2009-2013) 4.3% ต่อปี ปัจจุบันสาขาอุตสาหกรรมการผลิตมีประสิทธิภาพสูงกว่าสาขาเกษตร-บริการ นอกจากนี้มีแรงงงานในระบบ 40%นอกระบบ 60% และมีดัชนีความเหลื่อมล้ำ 0.39 ซึ่งค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งความจริงมีเฉพาะประเทศแถบละตินอเมริกาเท่านั้น ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้

“ในอดีตไทยเคยพัฒนาประเทศจากการใช้ฐานทรัพยากรผ่านอุตสาหกรรม โดยไม่พัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง แต่กลับเน้นการส่งออกและใช้แรงงานต่ำ เพื่อให้สินค้าส่งออกแข่งขันได้ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้รับ คือ กำลังซื้อของคนในประเทศต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำสูง และเกิดแรงกดดันกระจายรายได้อย่าง “นโยบายประชานิยม”ตามมา”

ปัจจุบันไทยจึงกำลังติดกับดักรายได้ปานกลางและการเจริญเติบโตของประเทศก็ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า เราเคยพึ่งพาการเติบโตบนฐานทรัพยากรในอดีต แต่ปัจจุบันควรปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาโครงข่ายประสิทธิภาพ และใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการก้าวไปสู่การพัฒนาฐานนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนในอนาคตจะยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยภายนอก คือ สภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยและโครงสร้างประชากรของไทยที่ไม่เหมือนเดิมต่อไป

ในด้านผลิตภาพแรงงานต่าง ๆ ของไทย จะเห็นว่ามีผลิตภาพสูงที่สุด ประมาณ 2 เท่าของสาขาบริการ และสูงเกือบ 10 เท่า ของสาขาเกษตร ฉะนั้นหากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป วิธีหนึ่ง คือ การเคลื่อนย้ายคนออกจากสาขาที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ผลิตภาพสูงกว่า

“ต้องตระหนักว่า แม้สาขาอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดก็ยังมีมูลค่าเพิ่มต่อหัวต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฉะนั้น จำเป็นต้องยกผลิตภาพทุกสาขาการผลิตไปพร้อมกันด้วย”

ศก.ไทย 30 ปี ข้างหน้า เกษตรทันสมัยเวิร์คสุด

ดร.สมเกียรติ จึงพยายามวาดภาพอนาคตที่เป็นไปได้ 3 สถานการณ์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า ได้แก่ ประเทศไทยไปเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมก้าวหน้า และเกษตรทันสมัย-บริการฐานความรู้ ซึ่งแต่ละภาพสถานการณ์จะมีผลลัพธ์การพัฒนาที่แตกต่างกัน และต้องการตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา และบทบาทภาครัฐที่ไม่เหมือนกัน

1.ประเทศไทยไปเรื่อย ๆ

ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไป ในอีก 30 ปีข้างหน้า ไทยจะมีรายได้ 17,016 ดอลลาร์/คน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.55% ต่อปี ทั้งนี้ จะสามารถก้าวพ้นรายได้ปานกลางในปี2579 ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ

พูดง่าย ๆ คือ คนไทยจะ ‘แก่ก่อนรวย’ และมีเงินออมเพียงพอหรือไม่ ส่วนความเหลื่อมล้ำในสังคมจะดีขึ้นเล็กน้อย จากแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้

“ไทยจะก้าวพ้นรายได้ปานกลาง ปี 2579 เป็นการมองโลกในแง่ดีมากเกินไป เพราะยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ประกอบ อาทิ หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง จะเข้าสู่จุดพ้นรายได้ปานกลางออกไปอีก 2 ปี หรือหากมีภาระการคลังด้านการรักษาพยาบาล จะช้าไปอีก 2 ปี

นอกจากนี้การใช้งบประมาณไปกับนโยบายประชานิยม ปีละ 1 แสนล้านบาท จะช้าไปอีก 4 ปี เกิดวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน จะช้าไปอีก 2.5 ปี และเกิดวิกฤตธนาคาร จะช้าไป4 ปี สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเกิดวิกฤตทางการเมืองจะทำให้ไม่สามารถประมาณการได้เลย”

2.อุตสาหกรรมก้าวหน้า

ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไปในอีก 30 ปี ข้างหน้า ไทยจะมีรายได้ 23,736 ดอลลาร์/คน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.59% ซึ่งมีอุตสาหกรรมการผลิตสูงถึง 63.8% และสามารถก้าวพ้นรายได้ปานกลาง ในปี 2571 หลังจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ

โดยจะมีแรงงานในระบบ 67.2% แต่ความเหลื่อมล้ำอาจสูงขึ้น เพราะการพัฒนาจะให้ผลตอบแทนรายได้ตกกับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวเพิ่มขึ้น

ประธานทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า รัฐต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพที่มีคุณภาพสูง พัฒนาช่างเทคนิคและวิศวกรที่มีทักษะเฉพาะทาง และรณรงค์ให้เอกชนยกระดับผลิตภาพด้วยการผลิตแบบลีน มีข้อสูญเสียน้อยที่สุด จูงใจให้เกิดการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะการออกแบบและสร้างแบรนด์ รวมถึงโยกย้ายกิจกรรมการผลิตคุณภาพเพิ่มต่ำ ดังเช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า ตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรกระทำ ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ไม่ควรดึงดูดแรงงานไร้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมขาดแรงจูงใจในการปรับตัว และต้องระวังการกระจายรายได้อาจแย่ลง ตลอดจนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ต่อคนจะเพิ่มเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน

3.เกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้

ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไปในอีก 30 ปี ข้างหน้า ไทยจะมีรายได้ 28,402 ดอลลาร์/คน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.21% ต่อปี ซึ่งจะมีสาขาบริการใหญ่ 60% ของจีดีพี เกินกว่าครึ่งเรียกว่า บริการมูลค่าเพิ่มสูง ส่วนที่เหลือ คือ บริการดั้งเดิม โดยจะก้าวพ้นรายได้ปานกลาง ในปี 2571

โดยมีแรงงานในระบบสูงขึ้น 74% และความเหลื่อมล้ำลดลงเหลือ 0.33% เพราะในสาขาบริการผู้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ แรงงาน ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะลดลงตามด้วย

ประธานทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ต้องปรับเปลี่ยนภาคเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรทันสมัย และเกษตรประณีต ด้วยการบริหารจัดการแหล่งน้ำและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบอาหารปลอดภัย วิจัยพัฒนา สร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer) และควบคุมการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ให้อยู่ในความเหมาะสม

สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ ดร.สมเกียรติ ระบุ คือ ต้องไม่อุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในระดับสูงเกินไป และจูงใจให้เกิดการผลิตเยอะ ๆ โดยไม่เน้นคุณภาพ ส่วนข้อควรระวัง คือ การมีระบบเกษตรพันธะสัญญา อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ฉะนั้นหากไม่มีความเป็นธรรม ความยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสาขาบริการว่า ต้องขยับจากบริการดั้งเดิม ซึ่งใช้ทักษะไม่สูง และเทคโนโลยีไม่มาก สู่บริการสมัยใหม่และสังคมที่มีเทคโนโลยีและไอซีที เพื่อให้การบริการมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น การเขียนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ การพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นต้น

ด้านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต้องพัฒนาทักษะแรงงาน เพราะเป็นหัวใจของสาขาบริการที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเน้นทักษะทั่วไปคุณภาพสูง และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีให้มีประสิทธิภาพ เปิดเสรีสาขาบริการ โดยเฉพาะบริการสาธารณูปโภคและบริการภาคธุรกิจ รวมถึงกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ

ส่วนสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ ดร.สมเกียรติ ระบุ คือ การคุ้มครองธุรกิจภาคบริการที่ผูกขาด และสิ่งที่ควรระวัง การปรับเปลี่ยนสาขาบริการนั้นไม่ได้รับประกันโดยอัตโนมัติว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลง

“สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างสำคัญ แม้จะมีเศรษฐกิจบริการขนาดใหญ่ แต่แรงงานส่วนใหญ่ใช้เวลากับการฟิตแฮมเบอร์เกอร์ สิ่งนี้ก็จะไม่ทำให้เศรษฐกิจเกิดความเท่าเทียมได้” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และเห็นว่า หัวใจสำคัญลดความเหลื่อมล้ำได้ คือ รัฐต้องลงทุนด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาให้มีคุณภาพสูง

เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยใน 3 สถานการณ์ อีก 30 ปีข้างหน้า พบการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ น่าจะเป็นภาพที่เป็นไปได้ที่สุด

“สังคมจะมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต และการเปลี่ยนผ่านทุกสถานการณ์จะมีผู้ชนะและแพ้จากการพัฒนา ผลได้ผลเสียอาจมีความขัดแย้งได้ ดังนั้น หากการบริการไม่ดี รัฐที่รวมศูนย์อำนาจแยกส่วน ไม่เปิดกว้าง ไร้วินัย จะไม่สามารถแก้ไขการระงับความขัดแย้งได้ แต่หากต้องการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นก็ต้องมีรัฐที่เปิดกว้าง มีวินัย กระจายอำนาจ โดยที่สามารถประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในที่สุด

ขอขอบคุณ : ภาพดร.สมเกียรติ จากกูเกิล

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated