ปัจจุบันนอกจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะประสบปัญหาขาดแคลนพืชอาหารสัตว์แล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการอาหารสัตว์อย่างสมดุล ทำให้ได้ผลผลิตต่อตัวน้อย และองค์ประกอบน้ำนมต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำนมดิบและได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า
จากปัญหาดังกล่าว องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้ได้หาทางออกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยส่งเสริมให้มีการใช้ “ทีเอ็มอาร์ (TMR)” หรืออาหารผสมสำเร็จรูปในการเลี้ยงโคนม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบเพิ่มสูงขึ้น
นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ปี 2558 นี้ อ.ส.ค.ได้มีแผนเร่งดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหาร TMR ขึ้นในพื้นที่ อ.ส.ค. อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และ อ.ส.ค.จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการผลิตอาหาร TMR สำหรับสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พร้อมผลิตอาหาร TMR ป้อนให้กับสหกรณ์และผู้เลี้ยงโคนมที่ต้องการใช้อาหารดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารของสัตว์ในฟาร์มให้ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบต่อตัวและแก้ไขปัญหาองค์ประกอบน้ำนมดิบด้วย
ศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหาร TMR ของ อ.ส.ค.จะเปิดรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเป็นฟาร์มนำร่องใช้อาหาร TMR จำนวน 15 ราย ทั้งยังจะจัดฝึอบรมการผลิตอาหาร TMR ให้แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่สนใจด้วย โดยศูนย์ฯมีเป้าหมายให้บริการศึกษาดูงาน/ฝึกอบรมแก่สหกรณ์ทั้งในเขตส่งเสริมและนอกเขตส่งเสริมของ อ.ส.ค.ปีละไม่น้อยกว่า 20 กลุ่ม
นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าผลิตอาหาร TMR บริการเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯนำร่องการใช้อาหาร TMR ปีแรก จำนวน 15 ฟาร์ม คิดเป็นโครีดนม 300 ตัว ปีที่สองขยายเพิ่มเป็น 30 ฟาร์ม คิดเป็นโครีดนม 600 ตัว และปีที่สามมีเป้าหมาย 45 ฟาร์ม คิดเป็นโครีดนม จำนวน 900 ตัว เบื้องต้น คาดว่า ฟาร์มโคนมที่เข้าร่วมโครงการนำร่องจะมีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น โดยได้ผลผลิตน้ำนมดิบมากกว่า 15 กิโลกรัม/ตัว/วัน และองค์ประกอบน้ำนมดิบได้มาตรฐาน ได้แก่ เนื้อนมทั้งหมด (TS) มากกว่า 12 % และไขมัน (FAT) มากกว่า 4.0% อนาคตคาดว่า สหกรณ์ที่ผ่านการอบรมจะมีความรู้และได้ต้นแบบไปขยายผลบริหารจัดการการผลิตอาหาร TMR ของตนเองเพื่อให้บริการสมาชิกได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรนำร่องยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดีขึ้นและศูนย์ฯจะเป็นโมเดลและแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรที่จะพัฒนาระบบการผลิตโคนมในฟาร์มได้อีกด้วย
นายนพดล กล่าวอีกว่า อาหาร TMR (Total Mixed Ration) เป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยต้องคำนวณสัดส่วนของอาหารทั้ง 2 ชนิด จากน้ำหนักแห้งให้ได้ตามความต้องการของโคแล้วนำมาเลี้ยงโคนม แทนการเลี้ยงแบบเดิมซึ่งจะแยกการให้อาหารหยาบและอาหารข้น
การใช้อาหาร TMR เลี้ยงโคนมมีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ช่วยควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะรูเมนให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้กระเพาะรูเมนของโคใช้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้การดูดซึมอาหารไปใช้ประโยชน์ในร่างกายได้ดีขึ้น ทำให้โคมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังประหยัดเวลา ลดความสูญเสีย และลดการใช้แรงงานในการจัดการอาหารหยาบ ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารเลี้ยงโคนมได้ค่อนข้างมาก และทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น
“ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเริ่มหันมาใช้อาหาร TMR เลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น อาทิ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก หนองรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรสีคิ้ว จำกัด และสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด ซึ่งโคแต่ละประเภทจะใช้สูตรอาหาร TMR แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของโค สำหรับโคนมที่ต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง คือ แม่โครีดนม ซึ่งการผสมอาหาร TMR จะต้องมีการคำนวณสัดส่วนการใช้อาหารหยาบและอาหารข้นอย่างเหมาะสม ทั้งหญ้าสด หญ้าแห้ง หญ้าหมัก กากถั่วเหลือง กากปาล์ม ข้าวโพดบด มันเส้น และพรีมิกซ์ เป็นต้น ซึ่งจะลดปริมาณการใช้อาหารข้นลงได้ค่อนข้างมาก ทั้งยังช่วยให้โคนมได้รับสารอาหารครบถ้วนตรงตามความต้องการ พร้อมเพิ่มผลผลิตน้ำคุณภาพดี และเป็นแนวทางช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ และทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น” รอง ผอ.อ.ส.ค.กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากสนใจเกี่ยวกับการผลิตอาหาร TMR สำหรับเลี้ยงโคนม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม อ.ส.ค. อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โทร.0-3690-9716 หรือฝ่ายส่งเสริมการเลี้ยงโคนม โทร. 0-3634-1685