โครงการเพาะเลี้ยง “ชะมดเช็ด” บ้านดงเย็น ฟาร์มตัวอย่าง ที่เพาะขยายพันธุ์ได้

ด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสให้ทำการเลี้ยงชะมดเช็ดขึ้นในโครงการฟาร์มตัวอย่างตามราชดำริ บ้านดงเย็น วัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ชะมดเช็ดและเพื่อใช้ประโยชน์จาก “ไขชะมดเช็ด” สืบต่อไปในอนาคต “องค์การสวนสัตว์” เล็งเห็นว่าเป็นพระราชดำรัสที่มีนิมิตหมายอันสำคัญ จึงอาสารับผิดชอบหน้าที่ทางด้านงานวิจัยเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์ชะมดเช็ด เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องหอม และได้ศึกษาวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จทางด้านการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ลึกลงไปคือ “สร้างอาชีพให้ราษฎรที่มีฐานะยากจนได้มีงานทำ” นั่นเอง

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ร่วมกับ คุณสหัส บุญมาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้สำรวจคัดเลือกพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าธาร บ้านดงเย็น หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บนเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ และให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านดงเย็น ขึ้น

ชะมดเช็ด คือสัตว์ป่าชนิดล่าสุดที่นำเข้ามาวิจัยและทดลองเลี้ยง เหตุผลที่เลือกพื้นที่ป่าท่าธารบ้านดงเย็น เนื่องจากมีความเหมาะสมด้านภูมิประเทศที่เป็นสภาพป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่เงียบสงบ คนไม่พลุกพล่าน สภาพอากาศในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิต่ำสุด ประมาณ 11 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส

โครงการในขั้นเริ่มแรก

ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นช่วงที่กระแสความต้องการ “ชะมดเช็ด” มีอยู่มาก ดังนั้น การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์ของโครงการเพื่อให้เป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับท่านที่สนใจต้องการเรียนรู้ และสามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา ให้ความสำคัญ

สำนักอนุรักษ์ วิจัย และการศึกษา ซึ่งมี คุณสุเมธ กมลนรนารถ เป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีพันธกิจหลักอยู่ 4 ประการ คือ อนุรักษ์ วิจัย ให้การศึกษา ให้ความรู้พักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการกับประชาชน ส่วนพันธกิจที่รับผิดชอบตรงในการอนุรักษ์ วิจัย ให้การศึกษา เป็นหน้าที่ของ น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พร้อมทีมงานที่รับผิดชอบโครงการงานวิจัยและอนุรักษ์สัตว์ป่า อีกทั้งยังทำหน้าที่ประสานงานกับอุทยานสวนสัตว์ทั่วประเทศ ในการขอความร่วมมืออนุเคราะห์สัตว์ป่าหายากมาวิจัยจนได้ผล

ล่าสุด…ได้รับผิดชอบ “โครงการเลี้ยงชะมดเช็ดตามพระราชดำริบ้านดงเย็น” ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อ ปี 2550 และเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง เมื่อปี 2551 โดยเข้าไปขอใช้พื้นที่ในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริบ้านดงเย็น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

เริ่มแรกในโครงการได้นำสายพันธุ์มาจากสวนสัตว์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ที่โคราช สงขลา เขาเขียว และเขาดิน รวมพ่อแม่พันธุ์ที่นำมาทดลองในครั้งนั้น 8 คู่ ภายใต้งบประมาณ 700,000 บาท มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 1 ปี แต่ติดปัญหาความพร้อมการเบิกจ่าย ทำให้เหลือระยะเวลาทำงานจริงเพียง 8 เดือน

“แรกเริ่มการบันทึกข้อมูลอาจจะติดปัญหาอยู่ที่ความใหม่ของชะมดเช็ด ต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้แก่เขาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ทางด้านการกินอาหาร การปรับตัวให้เข้ากับเพศตรงข้ามที่มาในแต่ละที่ และกับคนเลี้ยงโดยนักศึกษาที่ทำหน้าที่ดูแลและเก็บข้อมูล จนกระทั่งชะมดเช็ดมีสัญชาตญาณกับตัวเองว่าปลอดภัยที่สุด ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะที่ชะมดไม่เครียด เมื่อร่างกายมีความพร้อม ชะมดเช็ดก็จะเริ่มเข้าสู่การเป็นสัด ตัวผู้จะเริ่มผลิตสเปิร์ม ตัวเมียก็จะผลิตไข่ จากการทดลองปีแรกผสมพันธุ์ได้เพียง 1 คู่ จนกระทั่งวันนี้สามารถผสมพันธุ์ได้แล้วทุกตัว”

คุณหมอบริพัตร กล่าวถึงอุปสรรคในการนำเข้ามาทดลองเลี้ยงในครั้งแรกว่า ในระยะแรกมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง จึงต้องให้เวลาในการปรับตัวของชะมดเช็ดพอสมควร ที่สำคัญชะมดเช็ดเป็นสัตว์ที่ออกหากินในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น การพัฒนาชีวิตของเขาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและค่อยเป็นค่อยไป

ก่อนเลี้ยงต้องรู้ว่า ชะมดเช็ด คืออะไร?

ชะมดเช็ด เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้น หากถามว่า พื้นที่ใดเหมาะสมต่อการเลี้ยงชะมดเช็ดมากที่สุด คุณหมอบริพัตร กล่าวว่า สภาพพื้นที่และภูมิอากาศประเทศไทยเหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงชะมดเช็ดทั่วทุกภาค และฟาร์มที่เลี้ยงมากที่สุดในประเทศ คือ “ฟาร์มป้าน้อย” ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต้องยอมรับว่าเป็นฟาร์มที่มีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียอยู่ที่ ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ แม้ว่าจะเลี้ยงมานานถึง 7 ปี ก็ตาม ซึ่งภาพรวมเชิงลึกอาจวิเคราะห์ได้ว่า อนาคตชะมดเช็ดอาจสูญพันธุ์ได้

ดังนั้น การเลี้ยงชะมดเช็ดให้ได้ผลนั้น ควรทำความเข้าใจลักษณะความเป็นอยู่ให้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจภาพโดยรวมว่า ชะมดเช็ด คืออะไร ซึ่งคุณหมอบริพัตรให้ความเห็นว่า ชะมดเช็ด เป็นสัตว์ที่ปราดเปรียว มีอิสระในตัวเองสูง จึงทำให้ลักษณะการใช้ชีวิตของชะมดเช็ดมีความระแวดระวังตัวเองสูงขึ้น อีกทั้งลักษณะกลิ่นตัวยังเหม็นมาก อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้บางรายเข้าใกล้ไม่ได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเลี้ยงควรศึกษาให้ครบทุกด้านเสียก่อน

“ช่วงเวลาที่ตั้งท้องจนคลอดลูก ชะมดเช็ดจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดโดยการหารังอยู่อย่างมิดชิด ดังนั้น คนเลี้ยงต้องทำโพรงให้อย่างน้อย 2 โพรง เพื่อความปลอดภัยของชะมดเช็ดและลูก ไม่เช่นนั้นชะมดเช็ดจะไม่ผลิตฮอร์โมนเพื่อผสมพันธุ์ และจะไม่ทำการผสมพันธุ์ ท้ายที่สุดก็จะไม่ให้ลูก หรือถ้าคลอดออกมาแล้วเห็นว่ามีอันตรายชะมดเช็ดอาจฆ่าหรือกินลูกตัวเอง โดยเฉพาะชะมดเช็ดเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณของนักล่าอยู่แล้ว จึงมีความระมัดระวังตัวมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น”

สร้างกรงให้โดยลอกเลียนแบบธรรมชาติ

ชะมดเช็ดในฐานะที่เป็นสัตว์ป่า จะนำวิธีการเลี้ยงแบบตามอำเภอใจไม่ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ หาความเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ตามธรรมชาติให้ได้ ควรทดลองเลี้ยงพร้อมกับสังเกตพฤติกรรมและผลที่จะได้ เช่น การสร้างกรงเลี้ยงที่ทำขึ้นให้มีขนาดใหญ่กว่าลำตัวเพียง 1×1 เมตร ในความเป็นจริงสัตว์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่หากสร้างกรงให้ใหญ่กว่านั้นเชื่อว่าชะมดเช็ดก็ให้ไขได้มากกว่ากรงเล็ก เพราะชะมดเช็ดมีสัญชาตญาณว่าตัวเองปลอดภัยจึงไม่ก่อให้เกิดความเครียดตามมา ส่งผลทำให้ไขที่ได้เป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้น

“สิ่งที่ต้องสังเกตคือ เมื่อทำกรงเพาะพันธุ์ ขนาด 1×1 เมตร ชะมดเช็ด ยังคงวิ่งวน เกาตัวเอง กัดหางจนขนร่วง ตะกุยกรงจนเล็บขาด นั่นก็แสดงว่าเกิดความเครียดและรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย แต่ถ้าจะเพิ่มขนาดขึ้นเป็น 2×2 เมตร ลักษณะดังกล่าวดีขึ้น ก็ถือว่าทำถูกต้อง แต่ถ้าจะให้ดีมากไปกว่านั้นลองเพิ่มขนาดกรง ให้เป็น 3×6 เมตร ลักษณะลุกลี้ลุกลน เดินวน แสดงให้เห็นถึงความกลัวไม่มีให้เห็นแม้แต่น้อย นั่นแสดงว่าเป็นการสร้างกรงอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าขนาดกรงใหญ่จะเป็นความต้องการของชะมดเช็ดทุกตัว บางตัวอาจจะอยู่ได้โดยไม่เครียดภายในกรง ขนาด 1×1 หรือ 2×2 เมตร ก็ได้ ซึ่งต้องเข้าใจและสังเกตให้ดี”

จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของคุณหมอบริพัตร ได้บทสรุปขนาดกรงสำหรับการเพาะขยายพันธุ์ชะมดเช็ด 1 คู่ พบว่า ขนาดกรงควรอยู่ที่ 3x6x3 เมตร

โรงเลี้ยงเพื่อการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์

สำหรับวิธีการสร้างคอกชะมดเช็ด คุณหมอบริพัตร ได้ให้รายละเอียดว่า ควรมีส่วนประกอบภายในคอกหรือกรงที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ หรือกอไผ่ เพื่อให้เกิดร่มเงา ภายในกรงควรสร้างโพรงขึ้น 2 โพรง ซึ่งทำด้วยปูนซีเมนต์ ผนังอาจปะด้วยหิน ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ความลึกภายในโพรงไม่เกิน 1 ฟุต จากนั้นควรนำท่อนไม้ใจกลางกลวงที่ตายแล้วมาวางไว้ในบริเวณคอกและทำบ่อน้ำไว้ให้ พร้อมกับนำหญ้าหรือฟางมากองไว้ เพื่อให้ชะมดเช็ดคาบไปใช้รองเป็นที่นอนในช่วงคลอดนอกจากนี้ อาจจะปลูกต้นตะไคร้ โหระพาและหญ้าไว้ให้กินในเวลาที่ชะมดเช็ดต้องการ การสร้างคอกอาจจะก่ออิฐขึ้นมา 1-2 ก้อน ต่อด้วยลวดตาข่ายขึงจนรอบ ระยะความสูงอยู่ที่ประมาณ 3 เมตร ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องเพื่อกันแดดและฝนครึ่งหนึ่ง และเปิดโล่งครึ่งหนึ่ง ประตูทางเข้าทำเป็น 2 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ชะมดเช็ดกระโดดสวนออกมาได้ ระยะห่างในแต่ละคอก ประมาณ 4 เมตร และต้องมีทิศทางลมโกรกพอสมควร

โรงเลี้ยงเพื่อเก็บไข ควรอยู่ที่ ขนาด 4x12x3 เมตร (กว้างxยาวxสูง) มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ส่วนกรงเลี้ยงทำด้วยไม้ระแนง ขนาด 80x80x60 เซนติเมตร มีประตูยกเลื่อน เปิด-ปิด, ขึ้น-ลง เพื่อให้อาหาร มีภาชนะใส่น้ำบรรจุไว้ 1 ที่ ตรงกลางกรงมี “ไม้โมก” เสียบไว้เพื่อให้ชะมดเช็ดไขที่สามารถดึงออกมาได้ 1 อัน กรงเลี้ยงแบ่งเป็น 2 แถว ตามความยาวของโรงเลี้ยง ทิ้งระยะห่างระหว่างกรง ประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้กัดกัน พร้อมทั้งแยกเพศออกจากกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ควรสร้างกรงหลบซ่อนไว้ให้ภายในกรงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการให้ไขมากขึ้น เนื่องจากกล่องหลบซ่อนจะทำให้ชะมดเช็ดไม่เครียด

ส่วนกรงเดี่ยว ขนาด 80x80x60 เซนติเมตร จะทำขึ้นในช่วงที่ชะมดเช็ดหย่านมหรือโตจนสามารถแยกออกมาจากแม่ได้แล้วเท่านั้น จากการเก็บตัวเลขผลผลิตไขที่ได้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอุทยานฯ ห้วยทราย และฟาร์มของป้าน้อยจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก โดยให้ไขอยู่ที่ประมาณ 0.3-0.6 กรัม/ตัว/วัน

ลูก

การเลี้ยงชะมดเช็ดในโครงการครั้งแรกจะนำตัวผู้ใส่กรงมาวางไว้ใกล้ๆ กับกรงตัวเมีย เพื่อสร้างความคุ้นเคยพร้อมทั้งสังเกตด้วยการแอบดูว่าเข้ากันได้หรือไม่ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกันก็ปล่อยให้เข้าหากันได้นานๆ หลังจากนั้น ก็เก็บข้อมูลว่าตัวเมียท้องหรือไม่ ถ้ายังไม่ตั้งท้อง ต้องเข้าไปดูรายละเอียดว่าทั้งตัวผู้และตัวเมียมีความสมบูรณ์พันธุ์มากน้อยแค่ไหน เช่น ตัวผู้มีน้ำเชื้อแข็งแรงดีหรือไม่ หรือตัวเมียรังไข่ไม่ทำงาน หรือท่อรังไข่ตันหรือไม่ ช่วงที่ผ่านมาจากการดูประวัติการให้ลูกทั้งตัวผู้และตัวเมียจะไม่ค่อยมีปัญหามากมายนัก

ต้องยอมรับว่า ชะมดเช็ด เป็นสัตว์ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก และไม่จัดอยู่ในหมวดของสัตว์สังคมที่รวมกลุ่มกันออกหากินเป็นฝูง โดยเฉพาะการผสมพันธุ์ที่มีรอบการเป็นสัดกว่า 20 วัน หากเป็นตัวที่ไม่ได้เลือกหรือเข้ากันไม่ได้ จะทำร้ายโดยการกัดกันจนตาย แต่ถ้าตัวผู้ตัวใดที่โดนเลือก ตัวเมียจะยินยอมโดยดุษณี ให้ความปรานีโดยการผสมพันธุ์และอยู่ร่วมกัน ประมาณ 1 เดือนเศษ เพื่อรอการกลับสัดอีกรอบหนึ่ง หลังจากที่ได้ลูกแล้ว ตัวเมียจะไม่ยอมให้ตัวผู้เข้าใกล้โดยเด็ดขาด เพราะกลัวว่าตัวผู้จะกินลูกตัวเอง หรือในกรณีที่ตัวผู้และตัวเมียอยู่ร่วมกัน โดยไม่หวาดระแวงหรือไม่เครียดจนเกินไป ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูก ซึ่งจะเห็นได้ที่ “สถานีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย” อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ด้วยสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ตัวเมียจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว อุ้มท้องด้วยความรักและหวงแหนต่อไปตามลำพังประมาณ 80 วัน จนถึงกำหนดวันคลอดลูก พร้อมทั้งประคบประหงมให้นมลูกอยู่ในโพรง หลังจากนั้น ประมาณ 1 สัปดาห์ แม่จะพาลูกออกมาเดินเล่นนอกโพรง จนลูกสามารถกินอาหารได้ในช่วงอายุ 45 วัน ขณะเดียวกันลูกก็จะเรียนรู้การหากินจากแม่ไปด้วย จนอายุได้ 90 วัน ซึ่งเป็นวัยที่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ อีกทั้งมีพัฒนาการที่เร็วจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงแยกออกจากแม่ไปในที่สุด

“ที่นำมาเลี้ยงไว้ 8 ตัว มีแม่ชะมดเช็ดตัวหนึ่งสามารถให้ลูกได้ 3 ครอก/ปี ครอกหนึ่งให้ลูก 3 ตัว ปีหนึ่งเขาให้ลูกได้ 9 ตัว ซึ่งถือว่าให้ลูกมากพอสมควร แต่ถ้าจะให้ดีปีหนึ่งให้ลูกเพียง 2 ครอก หรือ 4-6 ตัว ก็น่าจะพอแล้ว เพราะจะทำให้แม่ไม่โทรมจนเกินไป หรือถ้าจะให้ได้ลูกมากกว่า 9 ตัว ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ ขณะนี้โครงการสามารถผลิตลูกได้ทั้งหมดกว่า 30 ตัว ซึ่งเป็นลูก รุ่นที่ 1 (F1) ต่อไปก็กำลังทำอยู่ใน รุ่นที่ 2 (F2) นอกจากนี้ กำลังทดลองเลี้ยงอีเห็น เพื่อที่จะนำเข้าไปเลี้ยงในไร่กาแฟอีกส่วนหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ชะมดเช็ด หรือสัตว์ป่าโดยทั่วไปจะมีลักษณะพิเศษ คือ คนที่เลี้ยงได้คลุกคลีกับชะมดเช็ดอยู่ตลอด สิ่งหนึ่งที่สัตว์ป่าเกิดความคุ้นเคย คือ กลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อเกิดแห่งความคุ้นเคย แต่ถ้าเมื่อใดที่เปลี่ยนคนเลี้ยง ชะมดเช็ดจะมีปฏิกิริยาเปลี่ยนไป หรือตกใจกลัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น คนที่จะเลี้ยงสัตว์ป่าได้สำเร็จ ต้องเป็นคนที่มีความใจเย็น และเข้าใจสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี

ควรมีการจัดการทางด้านโภชนาการอย่างถูกต้อง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชะมดเช็ด เป็นสัตว์ที่ชอบหากินบนพื้นดินในเวลากลางคืน อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นของโปรดและกินผลไม้บ้างเป็นบางครั้ง ส่วนอีเห็นจะนิยมกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ชอบหากินบนต้นไม้ อาหารประเภทเนื้อสัตว์จึงรองลงมา ดังนั้น การให้อาหารต้องดูที่ความเหมาะสมว่าควรให้อย่างไร เช่น การให้เนื้อ ไม่ควรให้เฉพาะเนื้ออย่างเดียว ควรผสมกระดูก ขน และหนัง ปนเข้าไปด้วย เพื่อให้เป็นลักษณะการกินแบบลอกเลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด

ทางด้านโภชนาการ ในอนาคต คุณหมอบริพัตร ให้มุมมองว่า พัฒนาทางด้านอาหารสำเร็จรูปชะมดเช็ดเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นสูตรอาหารชะมดเช็ดไข สูตรอาหารชะมดตั้งท้องหรือเลี้ยงลูก โดยสามารถคิดค้นพัฒนามาจากลักษณะอาหารการกินของชะมดเช็ดตามธรรมชาติ พร้อมกันนั้นต้องเติมธาตุอาหารสัตว์ที่เป็นประโยชน์เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม แมกนีเซียม และคาร์โบไฮเดรต เมื่อชะมดเช็ดกินเข้าไปสามารถสร้างความสมบูรณ์ให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ส่งผลทำให้ไขที่ออกมามีคุณภาพดีอีกด้วย

ทางด้านการให้อาหาร ที่โครงการได้จัดไว้ให้นั้น คุณหมอบริพัตร ได้ให้รายละเอียดว่า จะให้อาหาร 1 ช่วง คือ ช่วงเวลา 17.00-18.00 น. โดยให้ข้าวสวยผสมโครงไก่ต้มสุกสับละเอียด และให้อาหารเสริม ดังนี้

วันจันทร์และวันพฤหัสบดี ให้ไข่ไก่ หรือไข่นกกระทาผสมกับนมแพะและอาหารแมวสำเร็จรูป

วันอังคาร วันศุกร์ และวันอาทิตย์ ให้เนื้อหมู เนื้อแดง ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม หรือเนื้อไก่ ปีก และขนไก่ วันพุธ และวันเสาร์ ให้กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ อาหารแมวสำเร็จรูป และปลาไหล

สำหรับปริมาณในการให้ ขึ้นอยู่ว่าในแต่ละวันชะมดเช็ดกินหมดหรือไม่ ถ้ากินหมดก็เพิ่มปริมาณเข้าไป ถ้ากินเหลือก็ให้ลดจำนวนลง นอกจากนี้ ยังให้อาหารเสริมสมุนไพรจำพวก ตะไคร้หอม ใบโหระพา หรือแม้กระทั่งการให้ไส้เดือน กิ้งก่า จิ้งจก และแมลงต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการให้ตามธรรมชาติที่ชะมดเช็ดต้องการ อย่างไรก็ตาม การให้อาหารสดที่คนเลี้ยงต้องระมัดระวังคือ โรคหัด ที่เป็นเช่นเดียวกับแมวและพยาธิที่มากับอาหารเนื้อสด ดังนั้น ต้องเรียนรู้วิธีการให้ยาและการดูแลเรื่องหมัดหรือเห็บที่มากับชะมดเช็ดไปด้วย สำหรับการเลี้ยงในโครงการมีโปรแกรมดูแลรักษาทุกๆ 3-6 เดือน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าโรคหรือพยาธิที่เกิดขึ้นกับสัตว์กินเนื้อมีอะไรบ้าง

ภาวะทางด้านการตลาดไขชะมดเช็ด

ทางด้านราคาไขชะมดเช็ด ณ ปัจจุบัน หากเทียบกับราคาสัตว์เศรษฐกิจโดยทั่วไป จะมีมูลค่าแตกต่างกัน ปริมาณสินค้าและความต้องการสินค้าจะกำหนดในตัวมันเอง ทางด้านราคาไขชะมดเช็ดทราบว่าอยู่ในวงเงินหลักแสนบาทต่อกิโลกรัม ดูแล้วจะเห็นว่าเป็นวงเงินที่มากมาย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นควรไปดูงบประมาณต้นทุนค่าใชัจ่ายก่อนว่าคุ้มกันหรือไม่ การเลี้ยงในโครงการใช้งบประมาณในการลงทุน 50 บาท/ตัว/วัน ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากโครงการพระราชดำริ ทางด้านอาหารจากฟาร์มแพะ ฟาร์มไก่ และฟาร์มกวาง

สำหรับหน่วยงานราชการอาจจะมีส่วนร่วมทางด้านการจัดงานแสดงสินค้าและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในทวีปเอเชีย อเมริกา และยุโรป เพื่อประกาศให้ทราบว่าเรามีสินค้า พร้อมทั้งหาคนซื้อที่แท้จริง ปริมาณความต้องการภายในประเทศทั้งหมด ปริมาณที่ทั่วโลกต้องการ เมื่อทราบตัวเลขความต้องการทั้งหมด ประกอบกับประเทศไทยผลิตไขชะมดเช็ดได้มากที่สุด อีกทั้งยังแบ่งออกเป็นเกรดและกำหนดคุณภาพออกมาให้ได้มาตรฐาน ดังนั้น ถ้าทำได้ดังที่ คุณหมอบริพัตร กล่าวมา เชื่อว่าอนาคตชะมดเช็ดของประเทศไทยคงไปได้ไกลอย่างแน่นอน

และนั่นคือ ภาพโดยรวมทางด้านงานวิจัยชะมดเช็ด ซึ่งคุณหมอบริพัตรและทีมงานของสำนักงานทุกคนภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือด้านการเลี้ยงชะมดเช็ดที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรไทย

“เช่นเดียวกับชะมดเช็ดที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีโอกาสเราก็พร้อมที่จะเปิดเป็นตัวอย่างการเลี้ยงและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับท่านที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ หรือถ้ามีโอกาสร่วมกับเอกชนสร้างเป็นฟาร์มสาธิตก็ได้ ส่วนทางด้านการผลิตขายตัวชะมดเช็ดได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายเปิดให้ว่าองค์กรเราทำหรือไม่ ถ้าเปิดให้ สวนสัตว์ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายผลิต ส่วนกรมอุทยานฯ จะทำหน้าที่จำหน่ายจ่ายแจกให้กับประชาชนที่สนใจ ส่วนสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ก็เป็นฝ่ายประสานงานทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับชะมดเช็ดอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายและขจัดปัญหาที่มีอยู่ข้างหน้าให้หมดสิ้นไป”

น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับหวังไว้ว่า ชะมดเช็ด จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่และยั่งยืนของประเทศไทยอีกชนิดหนึ่งได้อย่างแน่นอน สำหรับท่านที่สนใจ ติดต่อไปได้ที่ “โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านดงเย็น” หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หรือท่านสามารถขอคำแนะนำได้ที่ น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ โทร. (089) 893-1352

เรื่องโดย : ศุภชัย นิลวานิช

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated