คิดตามปราชญ์เกษตรปี58…ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้านเป็นไม่ยาก?

เมื่อพูดถึงอาชีพชาวนาใครๆก็ว่ายากจน “ยิ่งทำยิ่งจน ทำนาจนเสียนา” แต่สำหรับเขาคนนี้ “ชัยพร พรหมพันธุ์” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่จริงเสมอไป ดังเรื่องราวของเขาที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ มากมาย และวันนี้ความสำเร็จที่เขาสร้างขึ้นยังทำให้ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2558 ซึ่งมีเกษตรกรเพียง  3 คนเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

จากความสำเร็จดังกล่าว “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ขอแสดงความชื่นชมยินดี และขออนุญาตเรียบเรียงเรื่องราวที่มาที่ไป แผนปฏิบัติในการทำนาแต่ละปีแต่ละรอบ รวมทั้งข้อคิดและมุมมองต่างๆที่ได้มีโอกาสพูดคุยล่าสุดสดๆร้อนๆ มานำเสนอดังนี้

เส้นทางอาชีพชาวนาและแรงบันดาลใจที่ทำให้มีวันนี้

ผมมาจากลูกชาวนาเป็นลูกชายคนโตของผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบางใหญ่ พื้นเพเป็นคนบ้านแหลม สมัยเด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ พ่อจึงส่งไปอยู่อยู่ซ่อมรถกว่า 3 ปี แล้วกลับมาช่วยที่บ้านทำนา ปี พ.ศ. 2525 แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่กับภรรยา ทำนามาเรื่อยๆ ที่นา 25 ไร่ ได้ข้าวเปลือกแค่ 13 เกวียน ทั้งที่ๆใช้ปุ๋ยใช้เคมีมาตลอด หวังว่าข้าวจะงอกงามดีและกำไรดี แต่สุดท้ายก็ขาดทุนทุกปี

จึงคิดหาทางออกให้กับตนเอง โดยหาความรู้จากหนังสือ รวมถึงการเข้าอบรมจากที่ต่างๆ จนในปี 2532  อาจารย์เดชา  ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ได้ขอใช้ที่ดิน 5 ไร่ ของพ่อเพื่อทดลองใช้พืชสมุนไพรควบคุมแมลง ซึ่งพ่อไม่มีเวลา กลายเป็นว่าต้องไปทำเองทุกอย่างแทนพ่อ ผลปรากฏว่า เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีมันพอรับได้

สังเกตจากแปลงข้างเคียงเพลี้ยลงแต่แปลงที่ฉีดสมุนไพร กลับไม่มีเพลี้ย จากหลักการตรงนั้นจึงเป็นที่มาของการลดการใช้สารเคมี พร้อมผสมผสานกับสมุนไพรที่ทำขึ้นเอง และเปลี่ยนรูปแบบเป็นการทำนาอินทรีย์ โดยเริ่มแรกจากที่นาตนเอง 8 ไร่ ตามด้วย 12 ไร่ แล้วขยายไปเป็น 108 ไร่ และ 120 ไร่ในปัจจุบัน

คิดตามปราชญ์เกษตรปี5801

หลักการทำนาอินทรีย์แบบที่ว่าเป็นอย่างไรครับ

ผมทำนาปีละ 2 ครั้ง เป็นระบบนาหว่านน้ำตม หลักการคือใช้วิธีการทำนาแบบชีวภาพ ลดต้นทุนการผลิต โดยไม่เผาฟางข้าว ไถกลบฟาง ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ ใช้สารสมุนไพรฉีดไล่แมลง เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศน์ในแปลงนา และคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับอาชีพการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่รักเป็นชีวิตจิตใจ ความมั่งคั่งมั่นคงทั้งปวง ได้มาจากการทำนาโดยสุจริต ไม่เอาเปรียบดินไม่เอาเปรียบน้ำ ซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง และมีสองมือหยาบกร้านจากการทำงานหนักเช่นเดียวกับชาวนาทั่วๆ ไป

หัวใจหรือเคล็ดลับความสำเร็จในอาชีพทำนาอยู่ตรงไหนครับ

เราต้องสามามารถลดต้นทุนให้ได้ด้วยตัวเราเอง เพราะว่าอาชีพทำนาเราไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวได้เอง ข้าวจะขึ้นลงมันอยู่ที่พ่อค้า ถ้าเราลดต้นทุนได้ก็คือกำไร ลดมากก็กำไรมาก หัวใจมันอยู่ตรงนี้

ถามว่าเราสามารถลดต้นทุนในเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น การทำนาแบบไม่เผาฟางข้าว แต่สามารถย่อยสลายฟางข้าวให้เป็นปุ๋ย การทำนาที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ถ้าเราใช้ปุ๋ยใช้ยาหรือสารเคมีเวลาเราฉีดยาแมลงที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยเราได้ก็พลอยตายไปด้วย หรือการทำเครื่องมือทางการเกษตรขึ้นมาใช้เองก็เป็นการลดต้นทุนได้มาก รวมทั้งการใช้เครื่องจัก ร เช่น รถไถนาเดินตาม เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ จะช่วยให้เราทำงานได้ทันเวลาโดยที่ไม่ต้องจ้างลูกจ้าง เราใช้แค่แรงงานในครอบครัวก็สามารถทำนาเป็น 100 ไร่ได้หากบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้ได้ หรืออย่างการทำปุ๋ยหรือสมุนไพรขึ้นมาใช้เองก็เป็นสิ่งสำคัญที่เรารู้ๆกันว่าค่าปุ๋ยค่ายาแพงเป็นต้นทุนหลักของการทำเกษตรเกือบจะทุกอย่าง เราจะต้องสามารถกำหนดราคาปัจจัยการผลิตตรงนี้ได้

คิดตามปราชญ์เกษตรปี5802

ยกตัวอย่างการลดต้นทุนทำนาที่เป็นรูปธรรมให้ชัดเจนอีกนิดครับ

  1. ต้นทุนแรงงานทำเอง ให้คนอื่นทำ เหยียบข้าวล้มหมด จึงต้องเอาไม้แหวกต้นข้าวไว้เดิน หากตัวเองทำตะแคงฝ่าเท้าเดินอย่างสบายๆ เอายาฆ่าหญ้าลูบข้าวดีด ก็ไม่ไปถูกข้าวดี เหมือนจ้างเขา คนอื่นทำเสียเงิน 600 บาท ทำเองแค่ 3 ชั่วโมงก็เสร็จก็จะได้ประหยัดไปแล้ว 600 บาท
  2. ต้นทุนค่าเช่านา ไม่มี เพราะซื้อเป็นเจ้าของเอง แรกๆ อาจเช่า พอมีเงินก็ซื้อเลย และต้องซื้อเงินสดด้วย ไม่ใช่เงินกู้ที่ต้องมีดอกเบี้ยงอกขึ้นทุกวัน
  3. ต้นทุนค่าปุ๋ย ใช้ปุ๋ยขี้หมู มาหมักอีเอ็มใส่ขี้หมู 4-5 กระสอบ/ไร่ กระสอบละ 20 กก. ซื้อมาใส่รถกระบะปิกอัพของตัวเอง เที่ยวละ 50 ลูก ต้นทุนแค่ 1,000 บาท ใส่ได้ 10 ไร่ ตกต้นทุนปุ๋ย 100 บาท/ไร่ ใส่ปุ๋ยขี้หมูแห้งก่อนทำเทือก หรือ พร้อมๆ กับทำเทือก โดยวิธีใส่กระบุ้งลงบนรถอีโกร่ง ปาดนาให้เรียบพร้อมๆกับหว่านปุ๋ยแห้งลงไปด้วย
  4. ต้นทุนปุ๋ยน้ำหมักและฮอร์โมน ก็ทำปุ๋ยน้ำหมักเอง ทำหัวเชื้ออีเอ็มเอง เอามาจากป่าห้วยขาแข้ง นอกจากนี้ยังทำฮอร์โมนไข่ และฮอร์โมนนมสดใช้งานเองด้วย
  5. ต้นทุนยาสมุนไพรไล่แมลง ทำเองที่บ้าน ก็ปลูกต้นบอระเพ็ดด้วย ให้ขึ้นตามต้นมะม่วง ไม่ต้องดูแลมาก
  6. ต้นทุนปลูกข้าว ใช้วิธีแช่น้ำข้าวเปลือกพันธุ์ 1 คืน พองอก ผสมไตรโคเดอร์ม่า แล้วเอาไปทิ้งเป็นจุดๆ เตรียมหว่านโดยวิธีพ่นกระจายทั้งนา หากทำเองไม่ทัน ต้นข้าวก็ไม่เป็นรากเน่า
  7. ต้นทุนพันธุ์ข้าว ให้พันธุ์ข้าวสุพรรณ 60 เมล็ดพันธุ์ก็เลือกเกี่ยว เอาต้นที่มีรวงเมล็ดมากๆ ไว้ทำพันธ์ เอามาผึ่งแดดลมให้แห้ง โดยใส่กระสอบปุ๋ยโป่งๆ ให้ล้มระบายได้อย่างน้อยๆ 45 วัน จึงจะปลูกได้ ตอนใช้งานให้แช่น้ำไตรโคเดอร์ม่า จะปาดเอาข้าวลีบเบาลอยน้ำออก ไม่เอาทำพันธุ์
  8. ต้นทุนไถนา ซื้ออีโกร่ง มาใช้งานเอง ช่วงวิ่งบนถนนก็เอายางนอกรถยนต์หุ้มไว้เวลาลงนาก็ถอดออก การไถนาจะทำทีเดียว ถึงทำเทือกเลย ไม่มีไถดะก่อน
  9. การสร้างเครื่องมือทางการเกษตรขึ้นมาใช้เองจากที่เคยไปอยู่ในอู่ซ่อมรถ คิดว่าเครื่องมือบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อ แต่สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ เช่น ผานไถนา ลูกจิ้มและตัวลากสำหรับตีเทือก  เครื่องหว่านข้าวและปุ๋ย เครื่องควักตีดินที่ติดกับรถไถนาเดินตาม (จุดเด่นของตัวนี้จะมีใบสำหรับควักขุดดินโดยไม่ต้องตีเทือก สำหรับนาดำหรือนาหว่านก็ได้ หากใช้เครื่องตัวนี้ 10 ไร่ใช้เวลา 1 วัน ก็พร้อมที่จะหว่านข้าวได้แล้ว จนมีโรงกลึงบางรายมาเห็นแล้วถ่ายรูปไป แล้วทำขายในราคาตัวละ 8,000 บาท) ฯลฯ
  10. การซื้อเครื่องจักรกลเกษตร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานได้ทันเวลา ไม่ต้องไปเสียค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเครื่องมือบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อในราคาแพงเราสามารถซื้อมือสองมาใช้แต่ก็ต้องดูให้เป็นและมีความรู้ในการซ่อมบำรุงเบื้องต้นด้วย(เช่น รถไถเดินตามที่มีถึง 8 คัน บางคันซื้อมาราคาหมื่นกว่าบาท จากราคา 7-8 หมื่นบาท เหตุที่ต้องมีหลายคัน เพราะคันไหนเสียก็จอดทิ้งไว้ และซ่อมทีเดียว)

การทำนาแบบชีวภาพ ไม่เผาฟาง มีวิธีการอย่างไรครับ

การทำนาแบบชีวภาพ ไม่เผาฟาง เราจะใช้อุปกรณ์ไถนาที่เรียกว่า “ลูกควัก” โดยทั่วไปเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จเกษตรกรจะเผาฟางเพื่อจะไถ ย่ำ และเตรียมดิน แต่เราจะไม่เผาฟาง คือจะใช้ไถลูกควักซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไถที่ดัดแปลงขึ้นเอง สามารถไถและตีดินพร้อมกันแล้วจึงทำเทือกพร้อมหว่านข้าว

สำหรับผมนั้นจะทำอยู่ 2 วิธีคือ  1. ถ้าต้องการความรวดเร็วหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็ใช้ไถผานที่ทำเองไถกลบฟางแล้วตีเทือก แล้วก็หว่านข้าวทันที  2. ถ้าต้องการปริมาณและคุณภาพหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จก็เอาน้ำเข้า แล้วปล่อยจุลินทรีย์จากป่าสลายตอซังหมักทิ้งไว้ 4-5 วันก็เอาเครื่องควักดินมาย่ำ ทิ้งไว้อาทิตย์กว่าๆ ก็มาย่ำอีกครั้ง เป็นการเตรียมดิน ทำให้ดินเรียบแล้วก็หว่านข้าวได้เลย (การทำดินให้เรียบเป็นเคล็ดลับที่จะนำไปสู่สำเร็จในเรื่องการจัดการอื่นๆ)

วิธีแรกจะมีข้อเสียคือ พอหว่านข้าวไปสักพักจะมีมีวัชพืชและเมล็ดข้าวอื่นๆที่ตกหล่นงอกขึ้นมาด้วย แต่ข้อดีคือทำได้ทันทีไม่ต้องรอเวลา ส่วนวิธีที่สอง จะดีกว่าวิธีแรกคือในช่วงที่เราทิ้งนาหมักฟางข้าวและไถย่ำครั้งที่สองจะทำให้ข้าวและวัชพืชที่งอกขึ้นมาตายไปด้วยเท่ากับว่าเป็นการกำจัดวัชพืชมาทำเป็นปุ๋ยไปในตัว

แผนปฏิบัติงานหรือตารางการทำนาแต่ละรอบเป็นอย่างไรครับ

  1. ไถกลบฟางหลังการเก็บเกี่ยว ครั้งที่ 2 ก่อนน้ำเข้านา โดยผานไถที่ดัดแปลงขึ้นเอง
  2. หว่านขี้หมูแห้งหลังน้ำลด
  3. ทำเทือก (พร้อมหว่านข้าว) หยดจุลินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินและน้ำ
  4. ข้าวอายุ 7 วัน ฉีดยาคุมหญ้า
  5. ข้าวอายุ 8-9 วัน สูบน้ำเข้านา (รักษาระดับน้ำไว้ถึงข้าวอายุ 30 วัน)
  6. ข้าวอายุ 18 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือเคมี
  7. ข้าวอายุ 19 วัน ฉีดสมุนไพรผสมฮอร์โมนนมสดกับน้ำขี้หมู
  8. อายุข้าว 30 วัน ใส่ปุ๋ยข้าวที่บริเวณต้นแกรนหรือเจริญเติบโตไม่เท่ากับบริเวณอื่น (หลังจากปล่อยน้ำออกจากแปลงให้แห้ง ดินจะชื้นเล็กน้อย จะทำให้ข้าวแตกกอดีไม่เป็นเพลี้ย ต้นข้าวจะแข็งแรงไม่ล้ม)
  9. ข้าวอายุ 43-44 วัน สูบน้ำเข้านา
  10. ข้าวอายุ 45 วัน หว่านปุ๋ยอินทรีย์ผสมปุ๋ยเคมีเล็กน้อย
  11. ข้าวอายุ 46 วัน ฉีดสมุนไพรผสมฮอร์โมนกับน้ำขี้หมู
  12. ข้าวอายุ 60 วัน , 75 วัน ฉีดฮอร์โมน ไข่ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา
  13. ข้าวอายุ 85 วัน ปล่อยน้ำออกจากแปลงนาให้แห้ง
  14. ข้าวอายุ 95 วัน เก็บเกี่ยว

ที่พูดกันว่า “ทำนายากจน” และ “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” คิดเห็นอย่างไรครับ

ผมคิดว่าการทำงานทุกอาชีพมันเหมือนกัน เราทำนาเราก็ควรจะภาคภูมิใจในอาชีพของเรา เมื่อเราคิดว่ามันเหนื่อยยากลำบาก ยิ่งทำยิ่งจนยิ่งทำยิ่งขาดทุน เราก็ต้องคิดหาหนทางหาทางออกให้ได้ ไม่ใช่คิดแต่ว่าจะขายที่นาไปทำอาชีพอื่น

การที่บอกว่าทำนาแล้วจน มันไม่จริงหรอก…สำคัญตรงที่ต้องทำนาแบบใช้สมอง ไม่ใช่ทำนาแบบเป็นผู้จัดการนา คือทำนามือถือใช้โทรศัพท์โทรสั่งการ ที่เหลือจ้างเขา ตั้งแต่ทำเทือก ทำดิน ไปยันหว่าน ถ้าคุณทำอย่างนี้อาจจะได้แค่ต้นนะ ยังไม่รู้เลยว่าจะได้เกี่ยวไหม ไหนจะต้องฉีดยาคุมหญ้า ใส่ปุ๋ยอีกหลายกระสอบต้นทุนทั้งนั้น

แต่ทำนาอย่างเราต้นทุนไม่กี่สตางค์ อาศัยว่าต้องละเอียดอ่อน(ทำนาแบบประณีต) ต้องคิดต้นทุนทุกอย่างให้ละเอียด ต้องรักษาความสมดุลของธรรมชาติ แล้วก็ต้องเป็นลูกจ้างตัวเอง ไม่ใช่ผู้จัดการ และสิ่งสำคัญที่สุดเราจะต้องสามารถกำหนดต้นทุนหรือลดทุนได้ด้วยตนเอง

ผมอยากให้ข้อคิดตรงนี้ว่า “ถ้าคุณให้ลูกทำเท่ากับตาบอด 1 ข้าง แต่เมื่อไรที่ให้ลูกจ้างทำเท่ากับคุณตาบอด 2 ข้างเลยละ”

ส่วนที่ว่า “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ…คิดเห็นอย่างไรต่อคำพูดนี้” ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคำคำนี้ ยังใช้ได้ดีในปัจจุบันหรือไม่ อาจจะเป็นกระดูกสันหลังผุๆมั่ง (หัวเราะ) แต่ก็เป็นอาชีพหลักของคนไทยเราเลยนะ

ที่สื่อขนานนามว่าเป็น “ชาวนาเงินล้าน” มีความรู้สึกต่อคำพูดนี้อย่างไรครับ

(หัวเราะชอบใจ) ผมก็ว่าดีนะ เพราะตอนนั้นเขามาสัมภาษณ์(รายการคนค้นคนมาสัมภาษณ์) และขนานนามว่า “ชาวนาเงินล้าน” จำได้ว่าประมาณปี 2552 ผมทำนาประสบความสำเร็จมากในปีนั้น ได้เงินรอบหนึ่งกว่า 1 ล้านบาท เขาก็เลยนำไปสื่อต่อ…

อันที่จริงผมก็ไม่ได้รู้สึกดีใจอะไรมากนัก แต่ก็คิดว่ามันดีตรงที่คนอื่นเขาจะได้ทำอย่างเราบ้าง อย่างน้อยคนเขาก็จะได้คิดว่าอาชีพทำนามันสามารถทำเงินล้านได้นะถ้าเราทำจริงๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือคนที่คิดจะเป็นชาวนารุ่นใหม่จะได้เกิดความสนใจพัฒนาอาชีพชาวนาให้มีความยั่งยืนเป็นอาชีพที่อยู่คู่คนไทยเพื่อพัฒนาประเทศไทยของเราให้มีความมั่นคงต่อไป

ต่อการได้รับรับเลือกเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปี 58 รู้สึกอย่างไร และจะดำเนินชีวิตหลังจากนี้อย่างไรครับ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือมีความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

ผมยกตัวอย่างในเรื่องการใช้จ่ายเงินไม่ทำอะไรเกินตัว มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว เงินที่ได้มาจะมีการเก็บหอมรอมริบแบ่งเป็นส่วนๆ เช่น การซื้อที่นา หรือซื้อรถไถนาถ้ามีเงินไม่ครบก็จะยังไม่ซื้อ จะไม่ยอมเป็นหนี้ หรือเสียค่าดอกเบี้ยที่งอกเงยทุกวัน ทำงานได้เงินก็ต้องมาใช้หนี้เป็นเหมือนขี้ข้าเขา แต่ถ้าคุณคิดว่าบริหารหนี้ได้ก็ไม่ว่ากัน ซึ่งธุรกิจสมัยใหม่หรือคนอื่นๆอาจจะคิดไม่เหมือนผม แต่ผมเน้นตรงนี้มากจะไม่ใช้เงินอนาคตเลย

ส่วนการได้รับเลือกเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2558 ก็เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวที่ว่าเราทำงานเสียสละทำงานจริงโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2538 ก็เคยได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพทำนาก็เป็นความภาคภูมิใจเสมอมา เราภูมิใจในอาชีพของเรามากกว่าสิ่งอื่นใด

ที่ผ่านมานั้นเราได้ถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งแต่ละวันจะมีผู้สนใจโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาหารือและมีผู้มาศึกษาดูงานจำนวนมาก รวมทั้งการได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามสถานที่และโอกาสต่างๆ

ใครเข้ามาก็รับได้หมด อาจจะแย่งเวลาพักผ่อนของเราไปบ้าง แต่เขาก็เหมือนหนีร้อนมาพึ่งเย็นเราจะไม่ช่วยก็ไม่ได้ ซึ่งก็คงต้องทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่และทำให้ดีที่สุดต่อไป

ทั้งหมดที่นำมาเสนอนี้เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่ง “เป็นเพียงเศษเสี้ยวอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” ของคุณชัยพร พรหมพันธ์ เกษตรกรตัวจริงเสียงจริงอีกคนหนึ่งของประเทศไทยที่จะต้องถูกบันทึกและจารึกไว้

คิดตามปราชญ์เกษตรปี5805

ซึ่งไม่เพียงอาชีพทำนาที่ประสบความสำเร็จ แต่ในชีวิตครอบครัวก็ประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม ทั้งภรรยา (คุณวิมล) ที่เคียงบ่าเคียงไหล่ทำนามาด้วยกัน และลูกๆ ทั้ง 3 คน ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท (คนที่ 1 และ 2 จบปริญญาตรีและโท จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนคนที่ 3 จบตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ แต่จบโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า))

“การเป็นชาวนาเงินล้าน มันไม่ยากเลย สำคัญที่ว่าคุณอยากเป็นหรือไม่เท่านั้น” คุณชัยพร กล่าวทิ้งท้าย และย้ำบอกว่าตัวเขามีความรู้อะไรก็เผยแพร่ได้หมด ด้วยหัวใจที่มุ่งหวังว่าอาชีพทำนาจะต้องมีความมั่นคง และขณะนี้ที่บ้านของเขาได้มีตำราหรือคู่มือทำนา ทั้งบอกสูตรปุ๋ย สูตรฮอร์โมนและสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งฤกษ์หว่านข้าว วันฟูและวันจม โดยบริษัทแห่งหนึ่งได้เป็นผู้สนับสนุนค่าพิมพ์จากเดิมที่เขาถ่ายเอกสารแจกฟรี

ขอขอบคุณ : ข้อมูลสนับสนุนและภาพจาก คุณสุภาพร  พรหมพันธุ์ …ผู้อ่านที่ต้องการติดต่อเชิญที่ เลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ต.บางใหญ่  อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 72150 โทร. 08 11782813

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated