เมล่อนมาแรงจริงๆ ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินคนพูดถึงเรื่องการปลูกเมล่อนอยู่เรื่อยๆ ดังเช่นเมื่อ 4-5 เดือนก่อนโน้นเพื่อนสื่อมวลชนเกษตรได้จัดสัมมนาเรื่องเมล่อนเงินล้าน…คนฟังแน่นห้องประชุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งๆ ที่เก็บเงินคนละ 1,000บาท
ผมสังเกตดูคนที่มาฟังสัมมนามาจากทั่วประเทศ แถมส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และระดับการศึกษาสูง คือไม่ใช่เกษตรกรทั่วไปที่เรารับรู้กัน นี่แสดงว่าวงการเกษตรบ้านเรากำลังเปลี่ยนไปสู่มือคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็น่าดีใจที่จะทำให้การเกษตรบ้านเราพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
และเมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้พบกับเกษตรกรรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งมีนามว่า “สุรินทร์ รุ่งวิตรี” … ที่บอกว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เพราะมีพื้นเพมาจากการเป็นนักธุรกิจบริหารโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า…. ก่อนหันเหมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน แถมมีดีกรีจบการศึกษาด้านวิศวอุตสาหการ จากสถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัย)
เพราะอะไรจึงหันมาปลูกเมล่อน ปลูกแล้วได้ผลดีหรือไม่…ลองฟังเรื่องราวกันดู
จากธุรกิจเสื้อผ้ามาเป็นเกษตรกรเมล่อน
ผมได้พบกับคุณสุรินทร์ ที่แปลงปลูกเมล่อน ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าหลังจากจบการศึกษาได้ทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย และกลับประเทศไทยมาทำงานเป็นวิศวกรที่บริษัทผลิตรองเท้า และต่อมาปักหลักเป็นผู้บริหารในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่จังหวัดสุพรรณบุรีจนปัจจุบัน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนก็ได้ผันตัวเองเข้าสู่อาชีพสำรอง นั่นก็คือการเป็นเกษตรกร เริ่มจากการทำสวนมะม่วง และมาทำนาปลูกข้าวจำนวน 40 ไร่
“ช่วงนั้นมีนโยบายจำนำข้าว เห็นว่าได้ราคาดีก็เลยปลูกกับเขาบ้าง แต่ปรากฏว่าขายได้ราคาดีไม่กี่ครั้งก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนนโยบาย ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ จึงเปลี่ยนมาปลูกเมล่อนอย่างทุกวันนี้”
แรงบันดาลใจที่หันมาปลูกเมล่อนมาจากเพื่อนคนหนึ่งที่ปลูกได้ผลดีที่จ.อ่างทอง “เขามีจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ด้วย เราเห็นว่ามันเป็นพืชที่ท้าทาย บ้างก็บอกว่าเป็นพืชปราบเซียน ก็เลยลองปลูกดูบ้าง”
ในการทดลองปลูกครั้งแรก คุณสุรินทร์ ได้ปลูกเมล่อนในกระถาง จำนวน 50 กระถาง ได้ผลผลิตจำนวน 50 ลูก ขนาดลูกละประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งถือว่ามีขนาดมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
“พอเอาไปให้พ่อค้าดู เขาบอกแตง(เมล่อน)มันเถาตาย…คือระหว่างที่ชั่งกิโลอยู่นั้นมีลูกหนึ่งกลิ้งตกลงมาแตก ความก็แตกเลย ชิมดูรสชาติไม่หวาน มันฟ้องว่าคุณภาพไม่ได้ เพราะโรคราแป้งนั่นเอง”
จากประสบการณ์ปลูกเมล่อนในครั้งแรกหาได้ทำให้คุณสุริทร์ท้อแท้แต่ประการใดไม่ กลับกันได้พยายามศึกษาหาหนทางที่จะประสบความสำเร็จอย่างเกษตรกรเมล่อนคนอื่นๆ
“ในช่วง 1-2 ปีแรก ไม่ได้ผลเลย เมล่อนเป็นพืชที่มีความไวต่อสิ่งแวดล้อมมาก อย่างวันนี้อากาศร้อนมาก ทำให้ใบสลด ถ้าเป็นสมัยแรกๆหรือใครที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนก็จะคิดว่ามันขาดน้ำ พอให้น้ำเข้าไปกลับไม่ฟื้นเลย คือต้องค่อยๆเรียนรู้ไปเรื่อยๆ”
ถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่คุณสุรินทร์ได้ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเมล่อน จากที่เคยเป็นอาชีพสำรองก็กลับเป็นอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่ง ได้เรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะจบสิ้น เรียกว่ามีปัญหาให้แก้อยู่ทุกวันก็ว่าได้
เคล็ดลับการปลูกเมล่อน
จากการปลูกเมล่อนในกระถาง ต่อมาได้ปลูกในโรงเรือนเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมโรคแมลงและการบริหารจัดการต่างๆ
“ครั้งแรกลงทุน 2 แสนบาท ได้มา 2 โรงเรือน แบบค่อยทำค่อยไป ได้เงินมาก็ลงทุนต่อ ทุกอย่างเราออกแบบเองเพื่อประหยัดต้นทุน เช่น โรงเรือนก็ไปสั่งช่างเหล็กทำโครงสร้างตามที่เราต้องการ พลาสติกที่คลุมหลังคา ตาข่าย(มุ้ง)ต่างๆ เราก็สั่งตัดหมด เหมือนสั่งตัดเย็บเสื้อผ้า เราแค่มาประกอบให้มันเป็นโรงเรือนก็ใช้ได้แล้ว”
“หรืออย่างระบบน้ำก็เช่นกัน ทุกอย่างเราทำขึ้นเอง แค่ศึกษาดูแบบจากหนังสือจากสื่อต่างๆเราก็มาทำเอง วิธีการนี้จะทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นการเรียนรู้ไปในตัว”
จาก 2 โรงเรือน ก็ค่อยๆขยับขยายมาเป็น 18 โรงเรือนในปัจจุบัน ขนาดโรงเรือนละ 6.7 x 25 เมตร ปลูกเมล่อน 4 แถว ได้ทั้งหมดโรงเรือนละ 400 ต้น
“เคล็ดลับการปลูกเมล่อนจริงๆก็ไม่มีอะไรมาก อยู่ที่ว่าเราต้องศึกษาให้เข้าใจถึงระบบความต้องการอาหารของพืชว่าเขาต้องการธาตุอาหารตัวไหนเท่าไร”
“เริ่มจากการปรับปรุงดินเราใช้เครื่องจักรเพื่อพรวนดิน ซึ่งในครั้งแรกก็อาจจะมีการปรับสภาพดิน เช่น ใส่มูลวัว ใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดของดิน คือเราต้องตรวจสภาพดินเสียก่อน แต่ถ้าเป็นดินที่ปลูกอยู่แล้วช่วงที่ปรับสภาพดิน ซึ่งเราจะพักดินประมาณ 1 เดือน จะเตรียมดินปลูกด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 พอช่วงบำรุงต้นจะให้ออกดอกจะให้ปุ๋ยทางใบสูตรเสมอ 20-20-20 โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร และปุ๋ยตัวสุดท้ายจะใช้เพิ่มความหวานคือปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง สูตรที่ใช้คือ 0-0-51 จะเป็นการให้ปุ๋ยทางใบ ซึ่งจากประสบการณ์ถ้าให้ทางน้ำเมล่อนจะงอมเร็ว จะฉ่ำน้ำเก็บไว้ไม่ได้นาน”
จริงๆ การให้ปุ๋ยก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแต่ระบบการให้ปุ๋ยจะต้องออกแบบร่วมกับระบบการให้น้ำ ซึ่งที่สวนปลูกเมล่อนของคุณสุรินทร์ได้มีการออกแบบระบบน้ำและระบบให้ปุ๋ยผ่านทางท่อในแบบระบบน้ำหยดเหมือนกับหลายๆสวน ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสามารถควบคุมได้ว่าพืชแต่ละช่วงอายุเราควรจะให้ปุ๋ยมากหรือน้อย เรียกว่าทุกขั้นตอนจะต้องยึดหลักวิชาการไม่ใช่ว่าให้ตามความเคยชิน
สำหรับปัญหาเรื่องโรคแมลงต่างๆ ถ้าเป็นแมลงตัวใหญ่ๆระบบโรงเรือนจะป้องกันได้เกือบหมด แต่ถ้าเป็นโรคหรือแมลงตัวเล็กๆ จะพบปัญหาเพลี้ยไฟ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งถือว่าเป็นแมลงที่น่ากลัวที่สุด วิธีแก้ไขคือต้องกำจัดวัชพืชรอบๆโรงเรือนอย่าให้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ โดยอาจจะใช้ยาฉีดคุมไว้หากมีปริมาณมาก
วิธีการผสมเกสรให้เมล่อนติดผล
ในการปลูกเมล่อนระบบโรงเรือนจะต้องบริหารจัดการในเรื่องการผสมเกสรด้วยแรงงานมนุษย์ ไม่สามารถใช้บริการจากแมลงหรือผึ้งเหมือนการปลูกพืชทั่วไป เพราะผึ้งหรือแมลงไม่มีสิทธิ์เข้าไปในโรงเรือนได้ง่ายๆ
วิธีการตรงนี้ เราจะต้องสังเกตดูว่าช่วงที่เมล่อนเจริญเติบโตผลิดอกบานจะเห็นว่ามีดอกตัวเมียและดอกตัวผู้เกิดขึ้น คือทุกก้าน(ข้อ)ใบจะมีดอกตัวเมีย 1 ดอก ส่วนดอกตัวผู้จะมีอยู่หลายดอก
“สังเกตดอกตัวเมียจะมีตุ่มหรือกระเปาะ ถ้าดอกตัวผู้จะไม่มีและดอกจะเล็กกว่า ให้เลือกดอกที่เห็นว่าสมบูรณ์ที่สุด ด้วยการเด็ดดอกตัวผู้มาฉีกกลีบดอกออก จากนั้นนำไปป้ายวนไปมา 2-3 ครั้งที่ดอกตัวเมีย”
“ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการผสมเกสรคือช่วงตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 11 โมงเช้า หลังจากนี้ไม่ได้ผลนัก เพราะพืชคายน้ำ…”
ดอกที่จะให้ผลผลิตดีจะต้องเป็นดอกที่เกิดขึ้นระหว่างข้อที่ 9-12 โดยจะต้องผสมเกสรไว้ให้ทุกข้อๆละ 1 ดอก เพื่อให้มีโอกาสเลือกเพียงข้อเดียว หรือลูกเดียวนั่นเอง
พอเวลาผ่านไป 2-3 วัน ก็จะรู้ว่าที่ผสมเกสรไว้นั้นติดผลหรือไม่ “ให้สังเกตดู ดอกที่ผสมติดจะเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ลูกจะตูมๆขึ้นมา”
ประมาณวันที่ 4 ลูกเมล่อนจะมีขนาดเท่าไข่ไก่ ถึงเวลานี้เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกลูกใดให้อยู่ติดต้น ลูกใดตัดทิ้งไป เป็นเวลาเดียวกับที่จะต้องริบใบหรือตัดยอดทิ้งไปด้วยกัน ให้เหลือเพียงยอดที่จะเลี้ยงลูกเท่านั้น
วิธีการนี้ ทำให้ผลเมล่อนเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ และแมลงต่างๆก็อดกินยอดอ่อน เหลือแต่ใบแก่ๆ กินไม่ได้แล้ว
หลังจากจัดการตัดลูกและริบใบทิ้งก็มาจัดการแขวนเชือกให้ติดไว้กับลูกที่ต้องการกับนั่งร้านไม้ไผ่รวกที่เริ่มปักไว้ตั้งแต่วันแรกๆที่ปลูกหรืออาจจะปักไว้ก่อนหังจากเตรียมดินเสร็จ
สำหรับต้นกล้าที่นำมาปลูกนั้น จะมีโรงเรือนเพาะขยายพันธุ์ต่างหาก ซึ่งใช้เวลาประมาณ12 วัน ก็นำต้นกล้าไปลงแปลงปลูกได้
พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนเมล่อน
จากวันที่ผสมเกสรนับไปอีก 43 วัน หรืออย่างช้า 45 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้และจำนวนวันตรงนี้จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูกด้วย ซึ่งที่สวนคุณสุรินทร์ได้ปลูกเมล่อน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เนื้อสีส้ม และเนื้อสีเขียว
“ตั้งแต่ปลูกมายังไม่เคยเจอปัญหาเรื่องการตลาด คือผมไม่เคยต้องนำไปขายเอง แต่จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตก็แค่โทร.ไปบอกเขาเท่านั้น”
ขั้นตอนการซื้อขายจะเริ่มจากเก็บผลผลิต คัดเลือกลูกที่ได้ขนาด แบ่งไว้เป็นกลุ่มๆ จากนั้นจะห่อตาข่าย และเมื่อพ่อค้ามาถึงก็จะทำการตรวจเช็คความหวาน ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า13 บริ๊กซ์ และเช็ครูปลักษณ์ลวดลายต่างๆ ว่าสวยงามหรือไม่ เมื่อทุกอย่างเข้าใจตรงกันก็ทำการชั่งน้ำหนัก
ในการชั่งน้ำหนักก็จะทำการคัดเกรดเมล่อนเป็น 3 เกรด คือ เกรดเอ (ขนาดใหญ่) ที่ตลาดต้องการ น้ำหนัก 1.3-2.2 กิโลกรัม ซึ่งจะมีประมาณ 50-70 % จะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท ขนาดกลาง น้ำหนัก 1-1.3 กิโลกรัม มีประมาณ 20-40 %ราคากิโลกรัมละ 35 บาท และขนาดเล็ก ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม มีประมาณ 10 % ราคากิโลกรัมละ 20 บาท
“พอชั่งน้ำหนักเสร็จก็คิดเงิน และจ่ายเงินกันสดๆ ไม่จ่ายเงินสด เราไม่ให้ขนขึ้นรถ และไม่ให้รถออก” คือหลักการซื้อขายของคุณสุรินทร์
ในเรื่องการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ทางคุณสุรินทร์ ได้ให้มุมมองว่าเกษตรกรมักเสียเปรียบพ่อค้าคนกลาง เช่น ซื้อผลผลิตไปก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งแทนที่เกษตรกรจะได้เงินมาลงทุนต่อก็ทำให้ขาดโอกาส “ผมคิดว่าเราต้องยืนอยู่ตรงนี้ให้ได้ …ถ้าซื้อขายเงินเชื่อเราแย่แน่ๆ”
ถามคุณสุรินทร์ว่า จากทั้งหมด 18 โรงเรือน สามารถทำผลผลิตได้ทุกเดือนหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าสามารถบริหารจัดการให้ผลผลิตออกมาขายได้เดือนละ 1 ครั้งๆละ ประมาณ 6 โรงเรือน โดยจะหมุนเวียนได้ทั้งปี
จากการที่สามารถบริหารให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้ต่อเดือน 50,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าช่วงฤดูกาลไหน เช่น ฤดูหนาวผลผลิตอาจจะน้อยกว่าฤดูอื่นๆ หรือฤดูฝนบางทีได้รับความเสียหายก็มีบ้าง เช่นเดียวกับฤดูร้อนบางทีอากาศแปรปรวน บางวันร้อนจัด และอยู่ๆฝนก็ตก
“เมล่อนเป็นพืชที่ต้องบริหารจัดการ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่หากคุณทำได้ก็จะขายได้ราคาดี เพราะความต้องการตลาดยังมีสูง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกคน หากไม่มุ่งมั่นตั้งใจจริงๆ”
วางแผนสร้างกลุ่มผู้ปลูกเมล่อน
จากการที่ได้ลงมาเป็นเกษตรผู้ปลูกเมล่อนอย่างเต็มตัว ทำให้มีความคิดว่าพืชชนิดนี้ยังมีอนาคตไกล และยังมีความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลผลิตสายพันธุ์ใหม่ๆอีกเยอะ
“ผมคิดว่าเมล่อนยังน่าปลูก คนอาจคิดว่าเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนสูง แต่จริงๆแล้ว ลงทุนสูงแค่ครั้งแรก หลังจากนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ ซึ่งทำได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน”
คนที่เป็นมือใหม่ที่คิดจะปลูกเมล่อน คุณสุรินทร์แนะนำว่าให้ปลูกในกระถางในจำนวนน้อยๆที่สามารถดูแลได้ก่อน เพื่อเป็นการเรียนรู้หาประสบการณ์ ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ได้ดูแลอะไรมากมาย อย่างของตนเองนั้นดูแลแค่ 2 คนกับภรรยา ใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ที่เหลือจะเน้นการจ้างคนงานที่รับจ้างทั่วไป เช่น จ้างปลูก จ้างดายหญ้า กำจัดวัชพืช เก็บเกี่ยวผลผลิต ฯลฯ ซึ่งจะจ้างเป็นครั้งคราว ไม่จำเป็นจะต้องมีคนงานประจำแต่อย่างใด
ขอวกมาที่การปลูกเมล่อนในกระถาง เช่น มีพื้นที่ 5×5 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ประมาณ 50 กระถาง จะปลูกไว้บนดาดฟ้า หรือข้างบ้านตรงไหนก็แล้วแต่ที่มีพื้นที่ว่าง
วิธีการปลูกเริ่มจากซื้อเมล็ดพันธุ์มาเพาะเองในกระบะ ประมาณ 12 วัน ก็แยกต้นกล้ามาปลูกในกระถาง ที่เตรียมดินปลูกไว้แล้ว โดยอาจจะใช้ดินผสมที่มีขายทั่วไป หรือผสมดินขึ้นเองด้วยมูลวัวหรือขุยมะพร้าวก็แล้วแต่ว่าจะมีวัสดุปลูกชนิดใด จากนั้นอาจจะทำโรงเรือนอย่างง่ายๆ เพียงซื้อมุ้งครอบวัวมาใช้ หรือไม่ต้องกางมุ้งก็ได้ และใช้ไม้ไผ่ทำเป็นค้างหรือนั่งร้านให้สามารถเลื้อยและแขวนเชือกได้
“ผมคิดว่าจากพื้นที่ปลูก 5×5 เมตร ลงทุนครั้งแรกจะมีค่าเมล็ดพันธุ์เม็ดละ 3 บาท ค่ากระถางใบละ 20 บาท ที่เหลือเป็นค่าวัสดุปลูก ค่าปุ๋ย ค่าโรงเรือน ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 3,000 บาท (เฉลี่ยต้นทุน 60 บาทต่อต้น) และหากดูแลดีคือรดน้ำเช้า-เย็น ก่อนไปทำงานและกลับมาจากทำงานก็จะทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายได้ประมาณ 3,000 บาท (คิดเฉลี่ยขายผลผลิตได้ลูกละ 60 บาท) เรียกว่าปลูกครั้งเดียวก็คืนทุนแล้ว”
นอกจากการปลูกเมล่อนแบบกระถางที่เหมาะกับการเริ่มต้นแล้ว ยังมีการปลูกในกระบะ ซึ่งที่สวนเมล่อนของคุณสุรินทร์ ได้ทำการทดลองปลูกก็ได้ผลดี แต่อาจจะต้องทำกระบะแบบใหม่ที่สามารถยกเคลื่อนที่ได้
ฟังคุณสุรินทร์เล่าเรื่องการปลูกเมล่อนแล้วก็ต้องยอมรับว่าทำให้สนใจเคลิ้มตามไปเหมือนกัน ซึ่งในอนาคตนั้นได้วางแผนไว้ว่าจะสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนและจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตเอง โดยอาจจะคิดค่าบริหารจัดการนิดหน่อยเท่านั้น
“จากที่ได้มาเป็นเกษตรกรมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะได้มาปลูกเมล่อน ทำให้เห็นว่าเกษตรกรบ้านเรายังถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่มาก และคิดว่าการทำเกษตรสมัยใหม่จำเป็นที่จะต้องเติมวิชาความรู้เข้าไป จึงคิดว่าวิชาความรู้ที่พอมีอยู่น่าจะนำไปช่วยเหลือกันได้บ้างไม่มากก็น้อย”
จากแนวคิดดังกล่าว คุณสุรินทร์ ได้ริเริ่มโครงการที่จะเข้าไปดูแลและวางแผนระบบการปลูกการผลิตให้กับน้องสาวและน้องเขยของตนเอง ที่ใช้ชื่อว่า “ประสิทธิ์ฟาร์ม” ซึ่งมีแปลงปลูกเมล่อนหลายสิบไร่ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง ไม่ไกลกันนัก
“ผมทำนาปลูกข้าวได้ไร่ละ 8 พันบาท แต่พอมาปลูกเมล่อน ได้ไร่ละ 8 หมื่นบาท” คือบทสรุปที่ทำให้ต้องมาทุ่มเทกับงานปลูกเมล่อนในวันนี้
หมายเหตุ :
- ข้อเขียนเรื่องนี้ เขียนโดย ลุงพร สอนอาชีพ นำเสนอครั้งแรกเดือนเมษายน 58 เคยได้รับความนิยมสูงสุดมียอดผู้อ่านหลายหมื่นคน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่ และนำมาเสนออีกครั้ง
2. ท่านที่สนใจการปลูกเมล่อน และต้องการติดต่อกับคุณสุรินทร์ รุ่งวิตรีโทร. 086-7666629