คณะเกษตร มก. พัฒนางานวิจัยนำเฮลิคอปเตอร์ไร้นักบิน “RMAX” ประยุกต์ใช้กับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ
ภาคเกษตรประเทศไทยได้พัฒนาก้าวไกลไปอีกขั้น เมื่อได้มีการลงนามความร่วมมือด้านงานวิจัยนำเทคโนโลยี “เฮลิคอปเตอร์แบบไร้นักบิน RMAX” มาใช้…ระหว่างคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ผศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร และบริษัทไทย ยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด โดยนายพงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการเงิน วางแผน และบริหาร เมื่อ 9 กรกฎาคม 2558 ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร. สุตเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในระหว่างพิธีลงนาม และการประชุมกลุ่มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเฮลิคอปเตอร์แบบไร้นักบิน YAMAHA RMAX กับการเกษตรในประเทศไทยว่า เฮลิคอปเตอร์แบบไร้คนขับRMAX เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทางคณะเกษตรจะศึกษาวิจัยและพัฒนาร่วมกับบริษัทเอกชน ในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อยและสับปะรด
“การศึกษาและพัฒนาจะก่อให้เกิดความร่วมมือของนักวิจัย ที่จะนำเอาเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ไปช่วยเหลือและร่วมวางแผนและขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในด้านทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ถึงแม้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การค้นคว้าวิจัยต้องมองไปข้างหน้าทั้งในเรื่องของลักษณะพืช โรคพืช แมลง เพื่อหาวิธีการป้องกันและบรรเทา โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมคิดและร่วมสร้างอนาคตภาคการเกษตรของประเทศไทย”
และกล่าวอีกว่า “การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับการเกษตรและปรับใช้กับการทำงานวิจัยของนักวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตสินค้าการเกษตร จะทำให้สามารถลดต้นทุนให้กับเกษตรกร รวมทั้งเป็นห้องเรียนเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วย สำหรับก้าวต่อไปคือนักวิจัยพืชทั้ง 5 ชนิด ไปจัดทำโครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา RMAX ร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อการเกษตรไทยในอนาคตประกอบกับประเทศไทยต้องเปิดประตูออกสู่ประชาคมอาเซียน จึงต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง”
ทางด้าน นายพงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการเงิน วางแผน และบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ได้กล่าวว่า จากปัญหาที่ประเทศญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับเกษตรกรสูงอายุ จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเกษตรของประเทศเพื่อให้ได้คุณภาพและยกระดับชาวนาและเกษตรกรด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นได้ร่วมมือในการพัฒนาเฮลิคอปเตอร์มาตั้งแต่ปี 2557 โดยเริ่มจากการวิจัยพัฒนาและศึกษากับข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของไทย โดยทาง ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำไปศึกษากับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ของนาข้าว การนำเฮลิคอปเตอร์ YAMAHA RMAX มาใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นการหาวิธีการเพื่อยกระดับการเกษตรของประเทศให้ทันสมัย กับพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด
“เพื่อทำการศึกษาว่า RMAX ว่าจะใช้กับพืชทั้ง 5 ชนิดนี้อย่างไร เช่น การให้ปุ๋ย การพ่นสารเคมี ฯลฯ ซึ่ง RMAX จะตอบโจทย์และแก้ปัญหาของภาคเกษตรโดยนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้เหมาะสม จึงต้องทำการวิจัยพัฒนาและศึกษาร่วมกันก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ”
ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ได้ดำเนินการด้านวิศวกรรมต่างๆ ทั้งการออกแบบ ดัดแปลง และปรับปรุงอุปกรณ์ของอากาศยานไร้คนขับรุ่นYAMAHA RMAX เพื่อใช้ในงานด้านการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการเกษตรในประเทศไทย โดยคณะเกษตรเป็นหน่วยงานสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตร ความสัมพันธ์ของปริมาณการใช้ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ตลอดจน เมล็ดพืชพันธุ์สำหรับพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ ซึ่งจะนำมาประยุกต์ใช้งานกับเครื่องต่อไป
“การทดสอบที่ผ่านมาจะเห็นถึงจุดเด่นของ YAMAHA RMAX ว่ามีความสามารถในการควบคุมตำแหน่งความสูงที่ถูกต้องแม่นยำและความมีเสถียรภาพของอากาศยาน นอกจากนี้ยังมีความแม่นยำสูงในการหว่านเมล็ดพืช การให้ปุ๋ย และการพ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งจะลดการฟุ้งกระจายทำให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงในการใช้ยาฆ่าแมลง การพ่นของเหลวในบางพื้นที่สามารถพ่น ได้รวดเร็ว แต่จะมีข้อเสียในเรื่องของการปฏิบัติการ โดยผู้ควบคุมที่ต้องเชี่ยวชาญและฝึกฝนมาอย่างดี และยังต้องศึกษาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การโปรยปุ๋ยเมล็ดยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องร่วมกันศึกษาและพัฒนาต่อไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกและพัฒนางานด้านการเกษตรให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตลอดไป” ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวในที่สุด
อนึ่ง ในการนำเทคโนโลยี “เฮลิคอปเตอร์แบบไร้นักบิน RMAX” มาใช้กับภาคเกษตรในอนาคตจะเหมาะกับเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะให้บริการเกษตรกรแบบคิดค่าเช่า หรือเกษตรกรที่มีกำลังซื้อก็อาจจะซื้อมาใช้ส่วนตัว จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นลำหนึ่งๆ เฉียด 3 ล้านบาท โดยเฮลิคอปเตอร์แบบนี้มีใช้ที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 2,600 ลำ และได้จำหน่ายไปแล้วหลายประเทศ ประมาณ 5,000 ลำ สำหรับในเอเซียนอกจากญี่ปุ่นแล้วยังนิยมใช้ในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
ข้อมูลจำเพาะ
RMAX Type ll G เป็นนวัตกรรมชั้นเลิศที่ออกแบบมาเพื่อตอบรับความต้องการทางธุรกิจและการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตรในวงกว้างเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ประสิทธิภาพการทำงานขึ้นสูงและความปลอดภัยที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำหรับอุตสาหกรรมหลายประเภท
วัตถุประสงค์ เพื่อใช้งานด้านการเกษตร คือ การสเปรย์สารเคมี ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และการหว่านเมล็ดพืชในพื้นที่ห่างไกล ด้วยความแม่นยำและสามารถปรับอัตราการหว่านหรือโปรยได้หลากหลายตามสภาวะของภูมิประเทศ หากต้องการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่อันตราย RMAX เป็นคำตอบที่ดีที่สุด การมองเห็นได้ในท้องฟ้า ทำให้การพ่นสเปรย์แม่นยำและไม่จำเป็นต้องกระทบพื้นดิน ทำให้การเกษตรกรรม โดยการใช้ RMAX มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าใช้จ่าย บรรลุตามเป้าหาย 100 % และไม่ต้องกังวลกับผู้ขับขี่
RMAXTypell G ติดตั้งด้วยอุปกรณ์การแจ้งเตือนผู้บังคับหากความเร็วเกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่มีการศึกษาวิจัยแล้วว่าอาจทำให้ความแม่นจำในการโปรยหว่านลดลง
RMAX Type ll G สามารถคำนวณความเร็วในแนวราบและปรับอัตราการพ่นสเปรย์หรือโปรยหว่านเมล็ดได้อย่างเหมาะสม
ติดตั้งด้วยระบบ Yamaha Altitude Control System (YACS) ซึ่งจะควบคุมความสูงทิศทางและความเร็วได้
ความปลอดภัยที่มั่นใจได้
ระบบไฟแจ้งเตือนของ YACS จะกระพริบเตือนเป็นเวลา 15 วินาที หลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์และเครื่องยนต์จะดับลงทันที หากมีผู้บังคับควบคุมโยกไม่เหมาะสม และระบบ YACS ยังกระพริบเตือนขณะบิน หากมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาระหว่างบิน ซึ่งไฟกระพริบนี้จะสังเกตเห็นได้ง่ายแม้บินอยู่ในระยะไกล
ระบบพ่น 1 หัวฉีด หรือ 2 หัวฉีด ติดตั้งระบบจีพีเอส (Global Positioning System – GPS) และระบบ Yamaha Altitude Contral System (YACS) ที่ทำให้ใช้งานง่าย
RMAX Type ll G ติดตั้งระบบ YAC-G ซึ่งเป็นระบบช่วยควบคุมการบินที่มีลักษณะพิเศษโดดเด่น สามารถทำการควบคุมทุกหางเสือของเครื่องด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การบินจะเรียบและเสถียร บวกกับระบบจีพีเอสที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถตรวจวัด ความเร็วของเครื่องเฮลิคอปเตอร์ได้ทั้งขณะทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นการบินไปข้างหน้า ข้างหลัง ซ้ายหรือขวา และขึ้นหรือลงระบบ YACS-G ทำให้การควบคุมความเร็วในการบินปกติ และการควบคุมการบินแบบโฉบเฉี่ยวทำได้ง่ายและแม่นยำ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้งานสูงตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และลดความกังวลของผู้บังคับการบิน