นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยเปิดใจอยากให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องปุ๋ย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ภายใต้การนำของ “นายกหญิง”คุณวรารัตน์ วีรยวรางกูร พร้อมด้วย คุณโสภิต สุทิน อุปนายก คุณธนภณ  สิริเงินตรา เลขาธิการ และ ดร.ประเสริฐ สุดใหม่ ที่ปรึกษา ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องสถานการณ์ปุ๋ยในประเทศ รวมทั้งมุมมองในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ภัยแล้งพ่นพิษ…ใช้ปุ๋ยน้อยลง  

สถานการณ์ปุ๋ยเคมีในปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าประมาณ 5 ล้านตัน เทียบกับปี 2557 ที่มีการนำเข้า 5.59 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวลดลงจาก 76.83 ล้านไร่ (ทั้งนาปี-นาปรัง) เหลือ 65.53 ล้านไร่ (รวมนาปี นาปรัง) จากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้พื้นที่นาปรังลดลง และจากการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของเกษตรกรน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรลดลงไปด้วย ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการนำโซนนิ่งการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้เกษตรปลูกพืชให้เหมาะสมกับดินและสภาพแวดล้อม อาจมีผลต่อการเลือกใช้สูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเคมีที่เปลี่ยนไป

ส่วนความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตที่เติบโตตามกระแสความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น จากการประมาณการเบื้องต้น คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีปีละประมาณ 5.8 แสนตัน ขณะที่การนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ใน 9 เดือนแรกปี 2558 เท่ากับ 1,964 ตัน มูลค่า 144 ล้านบาท และส่งออก 59,686 ตัน มูลค่า 386 ล้านบาท

หนุนขุดโปแตช ลดนำเข้าปุ๋ย

ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศถึง 95% ส่งผลให้ราคาปุ๋ยต้องเป็นไปตามราคาที่นำเข้า ในขณะที่การจำหน่ายปุ๋ยเคมีในประเทศยังถูกควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายใน ทางสมาคมจึงขอสนับสนุนให้มีการผลิตปุ๋ยโปแตชและปุ๋ยอื่นๆในประเทศ ให้มีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และลดการนำเข้า โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยโปแตชของไทยตามโครงการอาเซียนโปแตช ที่มีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ และจะผลิตออกสู่ตลาดในปี 2560 ปริมาณ 1 ล้านตัน คาดว่าจะช่วยให้ราคาปุ๋ยลดลงประมาณตันละ 20 เหรียญสหรัฐ เพราะไม่ต้องเสียค่าระวางเรือนำเข้า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงจัดสรรผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม

ส่งออกปุ๋ยไทยสดใส แต่…

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปุ๋ยจากประเทศไทยสามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านและได้รับความนิยมสูงมาก โดยคู่ค้าหลัก คือ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เรามีปัญหาเรื่องประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะปุ๋ยจากประเทศจีน เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า และเขาไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องคุณภาพเท่ากับของเรา ในขณะที่ปุ๋ยไทยทางกรมวิชาการเกษตรมีความเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน ธาตุอาหารหลัก N-P-K จะต่ำกว่ามาตรฐาน 10% ไม่ได้ และอีกเรื่องหนึ่งคือการตรวจสอบมาตรฐานปุ๋ยที่ปลายทาง เราเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงประสานความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรให้มาตรวจสอบมาตรฐานปุ๋ยหน้าโกดัง ก่อนส่งให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการปลอมปนระหว่างการขนส่งได้

โดยที่ผ่านมานั้น เรายังมีปัญหาด้านคุณภาพปุ๋ย ทำให้เสื่อมเสียวงการ อย่างเช่นเรื่องปุ๋ยคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่เรียกว่าปุ๋ยปลอม หากเรามีมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ผลิตปุ๋ยปลอมและปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้อนาคตปุ๋ยไทยสดใสเป็นผู้นำในอาเซียนได้

อยากให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเป็นและราคาถูก

ต้องยอมรับว่าเวลานี้เกษตรกรของเรายังใช้ปุ๋ยไม่ถูกหลักวิชาการ นั่นหมายความว่า เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจในการปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีที่ถูกต้อง ทั้งการใช้แบบเชิงเดี่ยวและการใช้ร่วมกัน เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง โดยให้เหมาะสมกับสภาพดินและชนิดของพืช และผลักดันการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชนให้กระจายไปทุกชุมชนเกษตรกรรม เพื่อลด wasteในอุตสาหกรรมเกษตร ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้ สมาคมกำลังส่งเสริมให้มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อในการจัดหาปุ๋ย หรือซื้อปุ๋ยราคาถูก หรือราคาที่เป็นธรรมให้เกษตรกร ส่งเสริมเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง และสนับสนุนการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ

“ทำอย่างไรให้เกษตรกรของเรามีความรู้ ใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง ไม่ใช่หลงเชื่อตามคำโฆษณาชวนเชื่อ… เราต้องรู้ว่าดินแบบนี้ใช้ปุ๋ยแบบไหน ธาตุอาหารในดินมีอะไรขาดอะไร จะต้องอ้างอิงหลักวิชาการที่ทันสมัย การเกษตรประเทศไทยจึงจะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”  นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย กล่าวในที่สุด

หมายเหตุ ในเรื่องการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทางสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ได้จัดทำหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ “คัมภีร์ดินและปุ๋ยไทย” รายละเอียดอ่านที่http://kasetkaoklai.com/news_detail.php?id=350

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated