ในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง กลางวันร้อน กลางคืนหนาว กรมวิชาการเกษตร แนะให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอะราบิกาเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช คือโรคราสนิม โรคแอนแทรคโนส และมอดเจาะผลกาแฟจะพบในระยะกาแฟผลสุกแก่ เกษตรกรควรสังเกตโรคราสนิม มักพบเป็นได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ พบมากที่ใบแก่ก่อน อาการเริ่มแรกใบเป็นจุดสีเหลืองขนาดเล็ก จุดสีเหลืองบนใบขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีส้มคล้ายสีสนิม จะพบผงสปอร์สีส้มบนแผล ใบที่เป็นโรคจะเหลืองและร่วงในที่สุด ทำให้ผลผลิตกาแฟลดลง

วิธีแก้ไขโรคราสนิม

ให้เกษตรกรหมั่นเก็บกวาดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และควรปลูกพันธุ์ที่ต้านทานโรค  อาทิ  พันธุ์คาติมอร์ CIFC 7963 ในฤดูปลูกถัดไป หากพบให้พ่นด้วยสารไตรอะดิมีฟอน 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารออกซีคาร์บอกซิน 19% อีซี อัตรา 12 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นในฤดูฝน 3-4 ครั้งต่อปี พ่นครั้งแรกช่วงเดือนมิถุนายน และครั้งต่อไปควรห่างกัน 5 สัปดาห์

โรคแอนแทรกโนส แก้ง่าย

สำหรับโรคแอนแทรคโนส แสดงอาการที่ใบ พบได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล เนื้อเยื่อกลางแผลตาย ถ้ารุนแรงจะเป็นแผลขนาดใหญ่ทำให้ใบไหม้ แสดงอาการที่กิ่ง พบกิ่งเขียวไหม้ทำให้กิ่งแห้งทั้งกิ่ง แสดงอาการที่ผล พบได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ เริ่มแรกผลเป็นจุดสีน้ำตาล เมื่อรุนแรงแผลจะมีรูปร่างไม่แน่นอนและยุบตัว หากพบที่ผลอ่อนจะทำให้ผลไม่พัฒนาเป็นเมล็ดและเปลี่ยนเป็นสีดำ หากพบที่ผลแก่ทำให้สุกแก่เร็วขึ้น

เกษตรกรควรตัดกิ่ง ใบ และเก็บผลที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่ม ให้โล่ง โปร่ง แสงแดดลอดผ่านได้ อีกทั้งควรให้ปุ๋ยบำรุงต้นเพื่อให้ต้นมีความแข็งแรง

มอดเจาะผลกาแฟ แก้ได้

ส่วนมอดเจาะผลกาแฟ จะพบเข้าทำลายช่วงผลดิบ ทำให้เมล็ดถูกทำลายเสียหาย หากพบเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟให้หมดต้นไม่ให้มีผลติดค้างอยู่บนต้นหรือร่วงหล่นใต้ต้นตามพื้นดิน ถ้าพบระบาดรุนแรงให้เกษตรกรเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง อาทิ สารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 80-95 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ปลูกถั่วเขียว..ระวังเพลี้ยอ่อน และหนอนเจาะฝักถั่วฯ

อากาศแห้งแล้งอย่าวางใจ01

นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวควรเฝ้าระวังการระบาดของแมลงศัตรูพืช 2 ชนิด คือ เพลี้ยอ่อน และ หนอนเจาะฝักถั่วมารูค่า โดยจะพบการเข้าทำลายในระยะถั่วเขียวติดฝัก สำหรับเพลี้ยอ่อน จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อน ทำให้ต้นแคระแกร็น ยอดย่น หงิกงอ ดอกร่วง ฝักอ่อนบิดเบี้ยว และเมล็ดลีบ ผลผลิตลดลงมากกว่า 30% หากพบให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

ในส่วนของหนอนเจาะฝักถั่วมารูค่า จะพบหนอนกัดกินดอกเดี่ยวๆ หรือชักใยดึงดอกมาติดกันเป็นกลุ่ม และกัดกินอยู่ภายในกลุ่มดอกจนหมด จากนั้นย้ายเข้าทำลายฝักที่อยู่ติดกันหรือเจาะฝักที่ติดอยู่กับใบ และกัดกินเมล็ดภายในฝัก หากพบพ่นด้วยสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเมื่อดอกหรือฝักถูกทำลาย 20% ในช่วงที่ต้นถั่วอายุ 42 วัน หรือพ่นเมื่อดอกหรือฝักถูกทำลาย 10% ในช่วงที่ต้นถั่วอายุ 49 วันขึ้นไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated