กล้วยหมูสัง...สร้างสุข คุณประกอบ-โสภา คงพูล ที่พัทลุง
กล้วยหมูสัง...สร้างสุข คุณประกอบ-โสภา คงพูล ที่พัทลุง

พอเอ่ยชื่อว่า “กล้วยหมูสัง” คนที่ไม่รู้จักอาจจะคิดว่าคงเป็นกล้วยชนิดหนึ่ง แต่ผิด…คนละเรื่องกันเลย คือกล้วยที่กำลังจะพูดถึงนี้เป็นไม้เลื้อย (คำว่าเลื้อย ปักษ์ใต้เรียกว่า “ย่าน”) แบบการะเวก แบบกระดังงา ฯลฯ เดิมนั้นชอบขึ้นในป่าละเมาะ หรือตามทุ่งนาชายป่า แต่มาบัดนี้ป่าหายาก ไม้ชนิดนี้ก็เลยถูกอัญเชิญมาปลูกตามบ้านเรือน เพราะมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ถูกใจผู้คน….

กล้วยหมูสัง พัทลุง
คุณประกอบ คงพูล กับกล้วยหมูสัง พวงนี้สวยงามมากๆ

ที่บ้านของ คุณประกอบ และคุณโสภา คงพูล 2 สามีภรรยาข้าราชการครูเกษียณ ณ บ้านเลขที่ 48 หมู่ 6 ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ได้แบ่งพื้นที่รอบบ้านปลูกต้นไม้ที่เป็นพืชผลหลายอย่าง (ข้อมูลตรงนี้จะได้นำมาเสนอในอีกตอนหนึ่ง) หนึ่งในนั้นก็คือ “กล้วยหมูสัง” หรือทางปักษ์ใต้มักจะออกเสียงว่า “กล้วยมุดสัง” (อันนี้เข้าใจเองว่ามุดสังหรือชะมดเช็คคงชอบกินกระมัง จึงเรียกชื่ออย่างนี้) …ปลูกไว้ที่หน้าบ้านจำนวน 1 ต้น เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยได้พันธุ์มาจาก ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

ปลูกแค่ 1 ต้น…ฟังดูว่าน้อยมากๆ แต่จริงๆแล้วพอต้นกล้วยหมูสังตั้งตัวได้ก็แผ่กิ่งก้านไปได้ไกลมาก หากทำให้เป็นโรงเรือน เช่น ซุ้มการะเวกข้างถนนแบบกทม. คงเลื้อยไปได้หลายสิบเมตร มิน่าบ้านเศรษฐีหลายคนจึงนิยมนำมาปลูกเป็นร่มเงาที่จอดรถ

ต้นกล้วยหมูสัง
คณะผู้มาเยือน กับต้นกล้วยหมูสัง

เหตุผลที่คุณประกอบเลือกปลูกกล้วยหมูสังไว้ที่หน้าบ้าน เพราะต้องการให้เป็นไม้ประดับ ใครไปใครมาก็จะได้เห็นได้ชมเชย เพราะเวลาออกดอกจะสวยงามมาก “ดอกมีสีแดงถึงแดงเข้มแกมสีเหลืองอ่อนที่โคนกลีบและมีกลิ่นหอมอ่อนด้วย ใครไปใครมาก็ชอบกัน” (เรื่องดอกนี้ ที่ตรงกลางตูมๆ บางคนบอกว่าคล้ายนมควาย จึงมักเรียกว่า “ย่านนมควาย” อีกชื่อหนึ่ง)

ดอกกล้วยหมูสัง
ดอกสวยๆของกล้วหมูสัง (ขอบคุณภาพนี้จาก www.gotoknow.org/ครูณรงค์ krunarong เพ็ชรเส้ง)

เวลาออกดอกทีหนึ่งก็บานอยู่หลายวัน ในระหว่างนั้นบรรดาผึ้งหรือแมลงที่เป็นมิตรต่างๆมักมาวนเวียน ดูเป็นธรรมชาติ และใช้เวลาจากดอกมาเป็นผลประมาณ 1 เดือน ผลก็ค่อยๆเติบโต ออกผลเป็นกลุ่มหรือช่อหรือเป็นพวง ลักษณะผลคล้ายกล้วย (ตรงนี้ก็เลยเรียกว่า “กล้วย”) ช่วงที่ผลยังไม่สุกมีสีเขียวเข้ม ราว 2 เดือน ผลก็เริ่มสุก เมื่อสุกเต็มที่ก็จะมีสีเหลืองอร่าม (อมส้ม)

กล้วยหมูสัง คุณโสภา คงพูล
คุณโสภา คงพูล เจ้าบ้าน…ขอโชว์บ้าง

“ช่วงที่ผลสุกเป็นอีกช่วงหนึ่งที่สวยงามน่าชมมาก” คุณประกอบ บอกด้วยความภูมิใจ

ในวันที่ผู้เขียนได้ไปเยือนเป็นวันที่กล้วยหมูสังช่อหนึ่งกำลังสุกเหลืองได้ที่ (ออกดอกและผลในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม) คุณประกอบได้เชิญชวนคณะผู้มาเยือนตรงไปที่ต้นกล้วยหมูสัง ชี้ไปที่พวงหนึ่ง…. “สวยจัง” “สวยมาก” “จะตัดเหรอ” เสียงของหลายคนอุทานออกมาพร้อมๆกัน ไม่ทันที่จะพูดต่อไปเป็นอื่น ต่างคนก็จดจ่อไปที่พวงสีเหลือง…คุณประกอบค่อยๆโน้มกิ่งลงมา และแล้วปลายกรรไกรที่ไว้ตัดแต่งกิ่งไม้ก็ได้ทำหน้าที่ของตนเองอีกครั้ง เสียงตัดดัง “ฉับ” ต่างก็ช่วยกันรับไว้ ตอนแรกนั้นก็เสียดายที่ต้องตัด แต่เมื่อกล้วยหมูสังได้มาอยู่ในมือคนแล้วคนเล่า ความดีอกดีใจก็บังเกิดขึ้น ดูว่าจะลดเลือนความเสียดายไปได้หมด  โดยเฉพาะบรรดาลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่แทบไม่ได้เห็นไม่ได้สัมผัสมาก่อนเลย

กล้วยหมูสัง คุณประกอบ คงพูล
วินาทีสำคัญ…ตัดกล้วยหมูสัง

“ผลสุกนี้กินได้นะ หวานดี ลองชิมดูสิ” คุณประกอบเชิญชวนให้ชิมกัน…มิน่ามีอยู่ผลหนึ่งที่ถูกแย่งชิมไปตั้งแต่อยู่บนต้น เข้าใจว่าคงเป็นกระรอก กระแต ที่เฝ้ารออยู่นาน แต่บัดนี้คงเสียดายว่า ไม่ได้แอ้มสียแล้ว

ในการชิมนั้น ยังไม่ได้รสมากนัก เนื่องจากผลยังไม่สุกเต็มที่ จะต้องปล่อยให้นิ่มกว่านี้อีกหน่อย อาจจะทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ในผลนั้นมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก คุณประกอบอธิบายว่าเวลาสัตว์กินเข้าไปก็จะไปถ่ายไว้ตามที่ต่างๆ ตรงไหนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะงอกขึ้นมา

กล้วยหมูสัง ดช.โชติพัฒน์ พงศาปาน
ลูกหลานจากกรุงเทพฯ เพิ่งได้เห็นครั้งแรก…สร้างความสุขได้มาก

“แต่วันนี้หาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมยากแล้ว สัตว์ที่จะมาช่วยกระจายพันธุ์ก็เหลือน้อย คนเท่านั้นที่จะช่วยขยายพันธุ์ได้”

นอกจากจะการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ยังมีวิธีปักชำกิ่ง และวิธีการตอนกิ่ง ซึ่งเวลานี้เป็นที่นิยม มีร้านไม้ประดับหลายแห่งขยายพันธุ์ขาย รวมทั้งขายในอินเตอร์เน็ต

วิธีปลูกก็ไม่ยุ่งยาก เนื่องจากเป็นไม้ประจำถิ่นไทย ที่ชอบร้อน ชอบแดด ชอบดินร่วน ชอบน้ำปานกลาง “หากว่าสนใจมาเที่ยวหน้าจะขยายพันธุ์ไว้ให้สักต้น” คุณประกอบ บอกกับผู้มาเยือน

นี่ละครับ ที่เขาบอกว่าต้นไม้สามารถสร้างความสุขได้ สุขทั้งผู้ปลูกที่เป็นเจ้าของบ้าน และสุขทั้งผู้มาเยือน…กล้วยหมูสัง จึงสร้างสุข ด้วยประการฉะนี้

(ข้อมูล : คุณประกอบ คงพูล โทร. 089 7350630 : ข้อมูลด้านวิชาการ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7 หรือเว็บไซต์ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated