ม้าเป็นโรคหัวใจไม่ต้องกลัวอีกแล้ว…มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มก. พร้อมด้วย ศ.น.สพ.อภินันท์ สุประเสริฐ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์, สพ.ญ.สุนทรี เพชร์ดี และ น.สพ.เมธา จันดา ทีมคณะสัตวแพทย์ฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า “มก.ประสบความสำเร็จในการรักษาม้าที่เป็นโรคหัวใจด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Pacemaker”
ดร. จงรัก กล่าวว่า มก.มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนและสร้างนวัตกรรมใหม่และวิชาการเพื่อชี้นำสังคม สาขาที่เรามีความเข้มแข็ง เช่น ด้านการเกษตรสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ ฯลฯ สำหรับสาขาสัตวแพทย์ฯนั้น ได้สร้างชื่อเสียงมาโดยตลอด ล่าสุดโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์ฯ มก.วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการผ่าตัดม้า ซึ่งเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติได้สำเร็จ
“ก้าวต่อไป มก.จะพัฒนาวิธีการรักษาสัตว์อื่นๆ ทั้งสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม ฯลฯ…ขึ้นชื่อว่าสัตว์ก็มีชีวิตเหมือนคน เราต้องค้นหาวิธีรักษากันต่อไป”
ด้าน ศ.น.สพ.อภินันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรม้าทั่วประเทศกว่า 20,000 ตัว ทั้งนี้ความสำเร็จในการรักษาม้าด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจในครั้งนี้ เป็นบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์และเจ้าของ ซึ่งสัตว์ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน อาจารย์ นิสิต และบุคลากร ก็ได้รับประโยชน์ในการต่อยอดงานวิจัย ขอยืนยันว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย
“หากคิดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดม้าครั้งนี้ ตกประมาณ 200,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความรักความผูกพันของเจ้าของ และเทียบกับการผ่าตัดม้าในประเทศอังกฤษหรือสกอตแลนด์ ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 ปอนด์ หรือราว 1 ล้านบาท” (คำตอบนี้ มาจากคำถามของสื่อมวลชน…และหากม้าของใคร ที่มีอาการซึมเศร้า สามารถติดต่อทีมสัตว์แพทย์ มก. ไปตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้)
สพ.ญ.สุนทรี ในฐานะผู้นำทีมผ่าตัด ให้รายละเอียดว่าม้าที่ผ่าตัดเป็นม้าแข่งเพศผู้ มีชื่อว่า “ไทเกอร์” อายุ 18 ปี น้ำหนักชั่งได้ 530 กิโลกรัม พบว่าม้ามีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง และไม่ร่าเริงเหมือนปกติ
“ได้ทำการตรวจวินิจฉัยพบว่า ม้ามีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าผิดปกติ และจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจห้องบนแบบกระจัดกระจาย มีจังหวะหยุดของหัวใจนานเกินกว่า 6 วินาที ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว”…
วิธีการรักษา “คณะแพทย์ได้ผ่าตัดด้วยวิธีการสอดสายสวนและติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรเพื่อช่วยกำหนดอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในภาวะปกติ …ใช้เวลาผ่าตัด 3 ชั่วโมง… ผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดีหลังการติดตามผลการผ่าตัด 30 วัน พบว่า ม้าฟื้นตัวดี และมีจังหวะการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ”
“หลังจากนี้จะทำการวางแผนการรักษาต่อเพื่อให้ม้าสามารถลงแข่งขันได้อีกครั้ง” นี่คือความหวังของทีมแพทย์ รวมทั้งเจ้าของม้า
ทางด้าน น.สพ.เมธา กล่าวว่า ความยากของการผ่าตัดอยู่ที่ต้องผ่าตัดม้าในท่ายืน ซึ่งในต่างประเทศผ่าตัดในขณะที่ม้านอนอยู่ แต่ทีมแพทย์ก็ได้ใช้ความพยายาม จนการผ่าตัดสำเร็จด้วยดี
ขณะที่เจ้าของม้า คุณพลอยไพลิน พัฒนกุล กล่าวด้วยความรู้สึกดีใจว่า ไทเกอร์เล่นได้มากขึ้น จากเดิมที่มีอาการซึม ไม่กินอาหาร “หลังการผ่าตัดแล้วไทเกอร์ดูมีความสุขมากขึ้น เจ้าของก็มีความสุขด้วย”
หลังจากแถลงข่าวจบลง ทาง มก. ได้นำคณะสื่อมวลชน รวมทั้งทีมสัตว์แพทย์ ไปเยี่ยมม้าไทเกอรที่สนามฝึกขี่ม้า “CHECKMATE” ย่านซอยวัชรพล ก็พบว่าไทเกอร์ มีอาการร่าเริง เหมือนม้าปกติทั่วไป