กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยกระดับสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ เสริมความแข็งแกร่งคุณภาพน้ำนมดิบและความปลอดภัยป้อนผู้บริโภค พร้อมลดต้นทุนสมาชิก เร่งขยายโคนมทดแทนฝูง ดึงบุตรหลานเกษตรกรสานต่ออาชีพพระราชทาน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยถึงแนวทางการพัฒนาสหกรณ์โคนมปี 2559 ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตน้ำนมโดยมุ่งเน้นที่คุณภาพความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง เริ่มจากการส่งเสริมและพัฒนาฟาร์มของสมาชิกเพื่อให้ได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) พร้อมปรับปรุงศูนย์รวบรวมน้ำนมโคของสหกรณ์ให้ได้การรับรองตามมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) ก่อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปของสหกรณ์ทั้ง 26 แห่ง ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP เป็นการการันตีว่าผ่านกระบวนการและกรรมวิธีที่ดีในการผลิตอาหาร โดยมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP แล้ว 116 ศูนย์
ปัจจุบันมีสหกรณ์โคนมทั้งสิ้น 102 สหกรณ์ มีสมาชิกกว่า 19,000 ราย มีปริมาณโค 387,693 ตัว ปริมาณน้ำนมโคเฉลี่ย 1,948.32 ตัน/วัน และป้อนเข้าสู่การผลิตเพื่อเป็นนมโรงเรียนปริมาณ 809.28 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 41.63
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดต้นทุนลง เนื่องจากฟาร์มโคนมสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าอาหารโคนมมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 และขณะนี้มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงเร่งสนับสนุนให้สหกรณ์โคนมจัดทำแปลงหญ้าซึ่งมีสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด, สหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด, ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด ฯลฯ โดยการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 2 เพื่อเป็นแหล่งอาหารหยาบเลี้ยงโคนมได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้แม่โคมีน้ำนมเพิ่มขึ้นจากการกินอาหารหยาบคุณภาพดี ทั้งยังสนับสนุนให้เกษตรกรสมาชิกใช้อาหารทีเอ็มอาร์ (TMR) เลี้ยงโคนมในฟาร์ม และมีแผนส่งเสริมให้สหกรณ์ตั้งศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) ซึ่งส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบ ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์คุณภาพดี และช่วยลดต้นทุนให้สมาชิกด้วย
นายวิณะโรจน์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เร่งปลูกฝังอาชีพการเลี้ยงโคนมให้กับบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ โดยได้ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จัดฝึกอบรมให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงโคนมที่ถูกต้อง อาทิ การจัดการฟาร์มโคนม การให้อาหารถูกหลักโภชนศาสตร์ การคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลรักษาสุขภาพโคเบื้องต้น และหลักสุขศาสตร์ในการรีดนม ที่ผ่านมาได้จัดอบรมไปแล้ว 4 รุ่น รวม 127 คน คาดว่าทายาทเกษตรกรที่ผ่านการอบรมแล้ว จะนำความรู้ที่ได้ไปสู่การปฏิบัติจริงในฟาร์ม และเป็นกำลังสำคัญที่จะสืบทอดอาชีพเลี้ยงโคนมจากรุ่นสู่รุ่น
“ขณะเดียวกันยังมีแผนเร่งต่อยอดพัฒนาการเลี้ยงโคนมทดแทนฝูงของสหกรณ์โคนม 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมผาตั้งจำกัด จังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์โคนมพิมายจำกัด จังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์โคนมพัทลุงจำกัด จังหวัดพัทลุง เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ได้โคนมทดแทนฝูงที่มีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิต และได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพปริมาณมากขึ้น โดยส่งเสริมให้สหกรณ์สร้างโรงเรือนเลี้ยงโค และให้สมาชิกนำลูกโคอายุ 3 เดือน น้ำหนักไม่น้อยกว่า 60 กิโลกรัม เข้าสู่โรงเลี้ยงของสหกรณ์ แล้วเลี้ยงลูกโคจนเติบโต ทำการผสมเทียมเป็นโคสาวท้องส่งคืนสู่สมาชิก ปัจจุบันได้ปรับรูปแบบดำเนินการในลักษณะธนาคารโคนมทดแทน เพื่อเป็นแกนนำในการกระจายแม่โคสมบูรณ์พันธุ์สู่ผู้เลี้ยงโคนมในชุมชน คาดว่า จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงโค ประมาณ 8,500 บาท/ตัว และทำให้สมาชิกมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4,300 บาท/ตัว หรือร้อยละ 15” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวในที่สุด
(ข่าวโดย : สุทธิพงศ์ ถิ่นเขาน้อย)