สัตวแพทย์ มก. ฟื้นฟูสุขภาพแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่ดอยลาง จ.เชียงใหม่
นกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย กำลังจะโบยบินสู่ธรรมชาติ หลังจากได้รับการฟื้นฟูจนมีสุขภาพดี

ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดและสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ได้ปล่อยแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ที่มีประวัติขาดอาหาร หมดแรง แล้วรับการฟื้นฟูจนสุขภาพแข็งแรง จำนวน 2 ตัว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ณ หุบอนาคิน ดอยลาง อ. แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนชายแดนไทย-เมียนมา ที่ระดับความสูง 2,000 เมตร โดยประมาณ เป็นจุดที่ตั้งอยู่บนเส้นทางอพยพของแร้งหิมาลัยในประเทศไทย และในเดือนเมษายน เป็นฤดูกาลอพยพของนกอพยพกลับถิ่นเกิด (spring migration) สำหรับแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่ปล่อย 2 ตัว ได้แก่

ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว
ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว แถลงเรื่องการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

KU301 ชื่อ สามพี่น้อง เป็นแร้งวัยเด็ก เพศเมีย อายุ 8 เดือน โดยประมาณ น้ำหนักตัว 6.64 กก. หมดแรง ชนเสาไฟฟ้าที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 บ้านโป่ง นำส่งตัวมารักษา วันที่ 17 ธันวาคม 2558

KU347 ชื่อ ลันตา เป็นแร้งวัยเด็ก เพศเมีย อายุ 8 เดือน โดยประมาณ น้ำหนักตัว 7.5 กก. หมดแรงร่วงบนเกาะลันตา จ.กระบี่ วันที่ 22 มกราคม 2559 แล้วสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง รับตัวมานำส่งฟื้นฟูสุขภาพ

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย-รหัส-KU
นกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย-ในกรงฝึกบิน

แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย ที่มีสถานภาพ “ใกล้ถูกคุกคามต่อการสูญพันธุ์  (near-threatened)”  เป็นนกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว ขนาดใหญ่ ปีกยาว 2.9 เมตร  มาจากถิ่นกำเนิดบนเทือกเขาหิมาลัย และภาคตะวันตกของประเทศจีน ร่อนมากับลมหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคม เข้าสู่ประเทศไทยในภาคเหนือ 10-30 ตัว ทุกปี แต่ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการซากปศุสัตว์ ที่เป็นอาหารหลักของแร้งที่จะกินซากสัตว์ตาย ไม่ล่าสัตว์มีขีวิต  ต่างจากเหยี่ยวหรือนกอินทรี ทำให้แร้งหิมาลัยอพยพเหล่านี้บางตัว ขาดอาหาร เพราะซากสัตว์ในธรรมชาติลดลง จึงหมดแรงร่วงลงดังกล่าว

นกแร้งหิมาลัย
นกแร้งหิมาลัย ชื่อสามพี่น้อง กำลังบินสู่ท้องฟ้าอย่างมั่นใจอีกครั้ง

โครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือรักษาฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อหรือนกนักล่า ประกอบด้วย เหยี่ยว นกอินทรี แร้ง นกเค้าและนกแสก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย แล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นอาศัยและฤดูกาลที่เหมาะสมต่อชนิดพันธุ์

หากประชาชนพบแร้ง หรือนกนักล่าสวมห่วงขาโลหะ ขอให้รายงานการพบนก หมายเลขห่วงขา วันที่และสถานที่พบนกที่สวมห่วงขามาที่ raptor@BirdsofThailand.org เพราะเป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามนก ว่านกเดินทางไกลแค่ไหน ใช้เส้นทางใด และมีอายุกี่ปีหลังจากปล่อยไปแล้ว และเพิ่มองค์ความรู้ด้านปักษีวิทาของนกชนิดนั้น ๆ  รายละเอียด http://birdsofthailand.org/node/138  หรือ www.facebook.com/KasetsartUniversityRaptorUnit

(ข่าวโดย : จุไร เกิดควน/ประชาสัมพันธ์ มก.)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated