เปิด 12 สถานีเกษตร องค์ความรู้ สู่ประชาชน...เทิดพระเกียรติทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ
รศ.ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ (เสื้อแดง) รองผู้อำนวยการ กองงาน หนึ่งใจ...ช่วยเหลือเกษตรกร และ พ.อ. กฤตพันธุ์ รักใคร่ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ขณะทำพิธีเปิด สถานีสถานีเกษตร องค์ความรู้ สู่ประชาชน...เมื่อเร็วๆนี้

รศ.ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รองผู้อำนวยการ “กองงาน หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” กล่าวว่า กองงาน หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี รู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ที่ทรงห่วงใยประชาชน ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยมีพระดำริให้มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่เกษตรกร เพื่อเกิดรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

องค์ความรู้สู่เกษตรกร
ส่วนหนึ่งขององค์ความรู้สู่เกษตรกร

“เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติ 5 เมษยายน 2559 ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเกษตรกรและประชาชน ได้แก่ สถานีเกษตร องค์ความรู้ สู่ประชาชน  ณ. หน่วย นพค. 34 เพื่อน้อมถวายเป็นพระกุศล และเทิดพระเกียรติ”

พ.อ. กฤตพันธุ์ รักใคร่ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า นพค. 34 ได้น้อมนำหลักพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายในหน่วยฯ เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง และจัดแสดงองค์ความรู้ที่น่าสนใจต่างๆ ทางด้านการเกษตร โดยเน้นองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งการสร้างรายได้เสริม และการลดรายจ่าย รวมไปถึงการทำเกษตรปลอดภัย ไร้สารเคมี โดยการจัดตั้ง ‘สถานีเกษตร’ ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานสำหรับทุกภาคส่วน มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมายได้แก่

1.‘สถานีก๊าซผักตบชวา’ เป็นการนำงานวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ มาถอดบทเรียนให้เป็นวิธีการทำง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถทำใช้ได้เอง และนำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดวัชพืช คือผักตบชวา เกิดผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพติดไฟ ที่สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน ส่วนกากผักตบชวาหลังการย่อยสลายแล้ว ยังคงมีเส้นใยผักตบและธาตุอาหารสำหรับพืชคงเหลืออยู่บ้าง จึงนำไปใช้ใส่โคนต้นไม้ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและกักเก็บความชื้นได้ ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ทำได้ง่ายโดย นำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ การผลิตก๊าซชีวภาพในถังหมักขนาด 200 ลิตรนั้น  หลังจากหมักไว้นาน 10-15 วัน จะได้ก๊าซชีวภาพสำหรับหุงต้มทุกวันๆ ละนานประมาณครึ่งชั่วโมง การหมักหนึ่งครั้งสามารถใช้ได้นานถึง 3-5 เดือน กากผักตบชวาหลังการหมัก ยังมีประโยชน์ โดยสามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้  เพื่อช่วยเพิ่มธาตุอาหาร และเป็นวัสดุช่วยกักเก็บความชื้นในดิน

2.‘สถานีไส้เดือน’ เป็นการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตปุ๋ยหมัก กำจัดขยะอินทรีย์ และเป็นอาหารสัตว์ โดยการเลี้ยงไส้เดือนให้ผลผลิตที่สำคัญ 3 อย่างคือ ตัวไส้เดือน ปุ๋ยหมักจากไส้เดือน (vermicompost) และน้ำหมักมูลไส้เดือน (Worm tea) สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริม และเลี้ยงเป็นงานอดิเรก เพื่อพัฒนาการใช้ผลผลิตจากการเลี้ยงไส้เดือนไปใช้ประโยชน์  เช่น การใช้ปุ๋ยหมักจากไส้เดือน และน้ำหมักมูลไส้เดือน ร่วมกับการเลี้ยงกุ้ง การเพาะเห็ด การปลูกมะนาววงบ่อด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือน การผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือน  ไส้เดือนที่จัดแสดง มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไส้เดือนยูโร (Eisenia hortensis), ไส้เดือนอาฟริกา (African Night Crawler) และไส้เดือนสีน้ำเงินจากเอเชีย (Blue worm) วิธีการเลี้ยงไส้เดือน ทำได้โดยการเตรียมมูลสัตว์ป่น 2 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำให้มีความชื้นประมาณ 85 % หมักไว้ 1 สัปดาห์ สามารถนำมาใช้เลี้ยงไส้เดือนได้  หลังการเลี้ยงไส้เดือนนาน 45 วัน จะได้ปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน และน้ำหมักมูลไส้เดือน

3.‘สถานีปุ๋ยน้ำชีวภาพ’ จัดแสดงวิธีการผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ โดยใช้เศษอาหาร หรือเศษพืชผัก ช่วยเสริมสร้างการโตและความแข็งแรงให้พืช ลดการใช้สารเคมี การผลิตน้ำหมักชีวภาพ สูตรเร่งโต และ สูตรต้านโรค ซึ่งเป็นสูตรที่มีผลงานวิจัยรับรอง ประชาชนสามารถนำสูตรไปผลิตที่บ้านสำหรับใช้เองได้ การขยายหัวเชื้ออย่างง่ายสไตล์ชาวบ้าน ที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป  ทำให้หัวเชื้อคุณภาพดีที่ได้รับมาจำนวนจำกัด มีปริมาณมากขึ้น

สถานีเกษตร องค์ความรู้ สู่เกษตรกร
สถานีเกษตร เปิดให้เรียนรู้กันอย่างเต็มที่

4.‘สถานีหมามุ่ยอินเดีย’ จัดแสดงการปลูกหมามุ่ยอินเดีย (Velvet bean) หรือ ถั่วเวลเวท ซึ่งปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ต้อวการการดูแลมาก สามารถเก็บผลผลิตได้ภายใน 4 เดือน มีตลาดส่งออกรองรับ เมล็ดหมามุ่ยอินเดียนั้น เมื่อนำมานึ่งหรือคั่วให้สุกเหลือง สามารถรับประทานได้ทั้งแบบเม็ด หรือบดเป็นผง ไม่แนะนำการรับประทานดิบ เป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ไม่เหนื่อยง่าย ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพิ่มความกระฉับกระเฉง ช่วยทำให้นอนหลับสบาย จิตใจเบิกบานแจ่มใส  มีสรรพคุณในการเพิ่มพลังทางเพศทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ช่วยในผู้มีบุตรยาก และรักษาโรคพาร์กินสันได้ ขนาดรับประทานไม่ควรเกินวันละ 3 เมล็ด หรือไม่เกินวันละ 5 กรัม ต่อวัน โดยสามารถผสมเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ โอวัลติน ได้ตามใจชอบ

5.‘สถานีกวาวเครือขาว’ สายพันธุ์ SARDI 190 เป็นกวาวเครือขาวที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์แล้ว หัวกวาวเครือขาว สามารถนำมาผ่านกระบวนการ สำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือทำน้ำหมักสำหรับรดพืช ทำให้พืชและสัตว์โตเร็ว เนื่องจากหัวกวาวเครือขาวมีสารกลุ่มไฟโทเอสโทรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่ได้จากพืช การใช้ในคน จะทำให้ดูหนุ่มสาวกว่าวัย ช่วยบำรุงทรวงอกและเส้นผม ช่วยให้ทานอาหารได้ นอนหลับดี ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และหงุดหงิดง่ายในสตรีวัยหมดประจำเดือน  ขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่กิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาผลิตเป็นแชมพู ครีมอาบน้ำ และสบู่ ช่วยบำรุงผิวได้

6.‘สถานีไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์’ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์หนึ่งที่เกือบจะศูนย์พันธุ์ไปแล้ว คือ ไก่พันธุ์ตะเภาทองกับไก่พื้นเมืองของจีน ชื่อว่าไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ใช้เวลาในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์กว่า 5 ปี จึงได้ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ที่มีลักษณะเด่น คือ มีรูปร่างสมส่วน มีความสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย ลักษณะหงอนหินประมาณ 85% และ 15% มีลักษณะหงอนจักร ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เนื้อนุ่มหวานกรอบอร่อยเป็นเอกลักษณ์ประจำสายพันธุ์ และที่สำคัญ เลี้ยงง่าย  แข็งแรง ทนโรคได้เป็นอย่างดี

7.‘สถานีไก่ดำเคยู พูพาน’ เป็นไก่เนื้อดำ หรือไก่กระดูกดำ (Black-bone chicken) ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์  ให้เป็นสายพันธ์ที่เลี้ยงง่าย โตไว แต่ยังคงคุณค่าทางอาหารของไก่ดำ คือช่วยบำรุงสุขภาพ และรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยนำพ่อแม่พันธุ์ตั้งต้น ที่ถูกรวบรวมมาจากแหล่งที่มีการเลี้ยงไก่กระดูกดำทั่วประเทศ  นำมาทำการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ลักษณะที่ตรงตามความต้องการของตลาดผู้เลี้ยงผู้บริโภคไก่กระดูกดำ อีกทั้งยังเหมาะสมกับการเลี้ยงในรูปแบบเชิงการค้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยไก่ดำเคยู-ภูพาน จะมีลักษณะความเป็นไก่กระดูกดำทุกประการยกเว้น ขนสีขาวที่สวยงาม ส่วนจุดเด่นด้านการผลิตคือ สามารถเลี้ยงเหมือนไก่บ้าน โตเร็ว ใช้เวลาในการเลี้ยงเพียง 3 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 กิโลกรัม ทนต่อสภาพอากาศร้อนและโรคได้ดี

8.‘สถานีไก่เคยู เบตง’ เกิดจากการนำไก่เบตงจากจังหวัดยะลา มาทำการวิจัย คัดเลือกเฉพาะไก่ที่มีลักษณะดี จากนั้น ได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีความโดดเด่น  มีคุณลักษณะพันธุ์ที่ดีขึ้น สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภาคกลาง และมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป ให้ไข่มากขึ้น  มีเนื้อหนา เหนียวนุ่มหอม เนื้อไม่แฉะ ไขมันใต้ผิวหนังน้อย  หนังบาง รสชาติดี เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ไขมันใต้ผิวหนังน้อย ปรุงอาหารได้หลากหลาย อาทิ ไก่สับ ไก่นึ่ง ไก่ต้มเครื่องยาจีน ข้าวมันไก่ ข้าวหน้าไก่ ฯลฯ

9.‘สถานีไก่เคยู เล็กฮอร์น’ เป็นพันธุ์ไก่ไข่ที่ผ่านการผสมภายในกลุ่มและคัดเลือกลักษณะเด่น เป็นพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก ขนสีขาว ให้ไข่เร็ว ให้ไข่ดก ไข่เปลือกสีขาว ไข่แดงมีปริมาณมากและอุดมด้วยแร่ธาตุ ทนต่ออากาศร้อนได้ดี  เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารค่อนข้างสูง เพราะมีขนาดเล็ก จึงนิยมเลี้ยงเพื่อผลิตไข่สำหรับคนรักสุขภาพ เช่น การผลิตไข่เสริมโฟเลท

10.‘สถานีสุกร’ จัดแสดงสุกรสายพันธุ์ต่างๆ ที่นิยม อาทิ หมูป่า หมูพื้นเมืองเชียงใหม่ หมูพันธุ์ปากช่อง 5 หมูพันธุ์ลาจไวท์ด่าง และหมูพันธุ์เหมยซาน พร้อมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมู หลักการผลิตหมูและการเลี้ยงหมูเพื่อเสริมรายได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและชาวบ้าน มีความรู้อย่างถูกต้อง

11.‘สถานีไข่มดแดง-ไข่แมงมัน’ เป็นการเลี้ยงมดแดง เพื่อเก็บไข่มดแดง เป็นอาชีพเสริม การเลี้ยงมดแดงใช้เวลาไม่มาก เพียงดูแลน้ำ อาหาร และสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์ สามารถเลี้ยงที่ต้นไม้บริเวณบ้านได้ เช่นต้นมะม่วง ชมพู่ นอกจากนี้มดแดงยังช่วยกำจัดศัตรูพืชได้ ส่วนแมงมัน เป็นมดชนิดหนึ่ง ซึ่งไข่แมงมันได้รับความนิยมสูง และราคาแพงกว่าไข่มดแดงถึง 3 เท่า แต่ยังมีผู้เลี้ยงไม่มาก ส่วนใหญ่มักเก็บไข่แมงมันจากธรรมชาติ ดังนั้นการเลี้ยงมดแดง และแมงมัน เพื่อเก็บไข่จึงเป็นอาชีพเสริมที่เกษตรกรและประชาชน สามารถทำได้โดยไม่ใช้เวลามาก แต่มีรายได้สูง

12.”สถานีนกกระทา’ นกกระทาเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ประสิทธิภาพในการผลิตค่อนข้างสูง โดยนกกระทาสามารถให้ไข่ได้ ประมาณ 20 ฟองต่อตัวต่อเดือน ให้ผลตอบแทนเร็ว เพราะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 42-45 วัน ระยะเวลาในการให้ผลผลิตไข่นานประมาณ 11 เดือน ไม่ต้องการพื้นที่มาก เนื่องจากสามารถเลี้ยงในลักษณะคอนโด พื้นที่ประมาณ 3 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงนกกระทาได้กว่า 500 ตัว ใช้เงินในการลงทุนไม่มากการดูแลง่าย โตเร็ว สามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ นอกจากผลิตไข่ เนื้อนกกระทาสามารถนำปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด และเนื้อมีรสอร่อย

องค์ความรู้สู่เกษตรกร จากกองงานหนึ่งใจ...
“สนใจอยากเรียนรู้ เชิญได้ค่ะ”

ผู้สนใจองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์ขวัญชัย นิ่มอนันต์  ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการ  กองงาน หนึ่งใจ… ช่วยเหลือเกษตรกร มูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ สำนักงานรองผู้อำนวยการคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140  โทรศัพท์ 095 054 8240 หรือ 083 559 8448  อีเมล์ mppf@ku.ac.th  หรือ molku@ku.ac.th ไลน์ ไอดี microku หรือ ajmaew ได้ในวันและเวลาราชการ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated