ผ่านศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร มาหลายครั้งแล้ว เพิ่งจะครั้งนี้เองที่ได้มีโอกาสแวะ …โชคดีจริงๆ ที่วันนี้มาถึงก็ได้พบกับคุณเกริกชัย ธนรักษ์ ผู้อำนวยการคนใหม่ที่เพิ่งย้ายมาจากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี
ทราบว่ามีงานวิจัยพืชสวนที่ให้การรับรองพันธุ์พร้อมแนะนำแก่เกษตรกร 4 ชนิดพืชด้วยกัน คือ กาแฟโรบัสต้า โกโก้ มะพร้าว ซึ่งมีทั้งมะพร้าวคั้นกะทิ มะพร้าวกะทิ และล่าสุดก็คือมะพร้าวน้ำหอม
เรื่องของมะพร้าวกำลังได้รับความสนใจ เพราะว่าปีนี้แล้งจัด ทำให้ผลผลิตมะพร้าวมีน้อย ฉุดให้ราคาพุ่งสูง จึงขอนำข้อมูลเรื่องมะพร้าวมาฉายซ้ำอีกครั้ง (เรื่องพันธุ์กาแฟ โกโก้ จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป…วันนี้ขอนำภาพมาให้ดูก่อน)
ผอ.เกริกชัย เล่าให้ฟังว่าที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ ได้รวบรวมพันธุ์มะพร้าวไว้เป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์มะพร้าวก็ว่าได้ มีทั้งพันธุ์ต้นสูงแบบดั้งเดิมที่เป็นมะพร้าวแกงหรือมะพร้าวคั้นกะทิ และโดยเฉพาะพันธุ์ต้นเตี้ย มีถึง 10 พันธุ์ เป็นพันธุ์พื้นเมือง 6 พันธุ์ และพันธุ์ต่างประเทศ 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์มะพร้าวนํ้าหอม ปะทิวสีเขียวต้นเตี้ย ทุ่งเคล็ดสีเขียวต้นเตี้ย นกคุ่มสีเขียวต้นเตี้ย ไทยสีเหลืองต้นเตี้ย ไทยสีแดงต้นเตี้ย มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย มลายูสีแดงต้นเตี้ย คาเมรูนสีแดงต้นเตี้ย และนิวกินีสีนํ้าตาลต้นเตี้ย
“การรวบรวมพันธุ์มะพร้าวเพื่อที่จะนำมาวิจัยพัฒนาให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาถือว่างานวิจัยของเราประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาเป็นพันธุ์แนะนำแก่เกษตรกรให้ปลูกเชิงเศรษฐกิจได้” ผอ.เกริกชัย กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
โดยที่ผ่านมาศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรได้ออกพันธุ์มะพร้าวที่เป็นพันธุ์รับรองจำนวน 3 พันธุ์ และมะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์แนะนำ จำนวน 2 พันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่น ดังนี้
มะพร้าวลูกผสมพันธุ์รับรอง
- พันธุ์สวีลูกผสม 1 เป็นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x เวสท์อัฟริกันต้นสูง (MYD x WAT) ลักษณะเด่นของมะพร้าวพันธุ์นี้คือมีอายุการตกผลเร็ว สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 5 ผลผลิตเฉลี่ย 2,781 ผล/ไร่/ปี หรือคิดเป็นน้ำหนักแห้ง 572 กก./ไร่/ปี จากจำนวนมะพร้าว 22 ต้น/ไร่ เนื้อมะพร้าวแห้งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นมะพร้าวที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวมาก
- พันธุ์ชุมพรลูกผสม 60-1 เป็นมะพร้าวลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง x ไทยต้นสูง สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 5 หลังจากปลูก ขนาดผลมีตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,557 ผล/ไร่/ปี หรือคิดเป็นน้ำหนักมะพร้าวแห้งสูงถึง 539 กก./ไร่/ปี เนื้อมะพร้าวแห้งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง 64-67 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขนาดผลของมะพร้าวพันธุ์นี้ค่อนข้างโตกว่าพันธุ์สวีลูกผสม 1 จึงสามารถจำหน่ายได้ทั้งผลสดและในรูปมะพร้าวแห้งส่งโรงงานสกัดน้ำมัน มะพร้าวลูกผสมทั้ง 2 พันธุ์ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเกือบ 2 เท่า กล่าวคือ พันธุ์ไทยให้ผลผลิตเพียง 1,084 ผลต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตเนื้อมะพร้าวแห้ง 374 กก./ไร่/ปี และมีปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 59-60 เปอร์เซ็นต์
3.พันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์ไทยต้นสูง ผลขนาดกลางถึงใหญ่ ทำให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งรูปผลสดและแปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำมัน ลักษณะเด่นคือ ให้ผลเร็ว เริ่มเก็บได้เมื่ออายุ 4 ปีครึ่ง ผลขนาดกลางถึงใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 66% ผลผลิตมะพร้าวแห้ง 500 กก./ไร่/ปี เนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 261 กรัม/ผล
มะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์แนะนำ
1.พันธุ์ 84-1 เกิดจากคู่ผสมระหว่างมะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกับกะทิพันธุ์แท้ ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก (ปลูก 25 ต้น/ไร่) เฉลี่ย 3,378 ผล ผลผลิตที่ได้เป็นกะทิ ไม่น้อยกว่า 18 % อายุเมื่อเริ่มออกจั่น 29 เดือน อายุเมื่อเริ่มออกจั่น 50% ใช้เวลา 37 เดือน
2.พันธุ์ 84-2 เกิดจากคู่ผสมระหว่างมะพร้าวน้ำหอมกับกะทิพันธุ์แท้ ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก (ปลูก 25 ต้น/ไร่) เฉลี่ย 1,917 ผล ผลผลิตที่ได้เป็นกะทิ ไม่น้อยกว่า 18 % อายุเมื่อเริ่มออกจั่น 31 เดือน อายุเมื่อเริ่มออกจั่น 50% ใช้เวลา 39 เดือน
จุดเด่นของมะพร้าวกะทิลูกผสมดังกล่าวนี้ คือมีต้นเตี้ยง่ายต่อการจัดการ แถมให้ผลผลิตเร็ว และมีกลิ่นหอมอีกด้วย
ในการมาเยือนของผู้เขียนครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้นัดหมาย แต่ทางเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ก็ให้การต้อนรับที่ดี บอกว่าถ้าไม่รีบกลับจะให้พูดคุยกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เสียดายมีเวลาจำกัด แต่ก็ได้ผู้ช่วยนักวิจัยพาไปตระเวนดูมะพร้าวที่ปลูกไว้และอธิบายข้อมูลเบื้องต้น ก็พอทำให้มองเห็นว่ามะพร้าวยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามองด้วยคุณประโยชน์ที่มากมายนั่นเอง
หมายเหตุ
- ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวงานวิจัยพันธุ์มะพร้าว ดูได้ที่ http://www.doa.go.th/hrc/chumphon/
- ติดต่อศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร อ.สวี จ.ชุมพร โทร. 077 556073 หรือ อีเมล์ : chump1@doa.in.th
- ส่วนข้อมูลเฉพาะเรื่องมะพร้าวน้ำหอมชุมพร อ่านที่ http://www.kasetkaoklai.com/home/เปิดตำราปลูกมะพร้าวน้ำ/ ส่วนผู้ที่สนใจต้องการเข้าสัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกร จริงหรือ?” จะจัดขึ้นวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ติอต่อ โทร. 081 3090599
- ขอบคุณผู้ที่พาไปเยี่ยมชมแปลงปลูก : คุณธีระยุทธ กฤษณา นักวิชาการเกษตร ผู้ช่วยนักวิจัย