แนะวิธีปราบโรคราดำและหนอนลองกอง มักระบาดช่วงออกดอกติดผล
ชาวสวนลองกองต้องระวังช่วงที่ออกดอกถึงผลอ่อนมักมีโรคและแมลงระบาด

กรมวิชาการเกษตร ออกโรงเตือนเกษตรกรชาวสวนลองกองเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช คือ โรคราดำ และหนอนกินใต้ผิวเปลือก จะพบในระยะที่ลองกองออกดอกถึงผลอ่อน ช่วงสภาพอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า

1.โรคราดำ

เกษตรกรควรหมั่นสังเกตโรคราดำ มักพบคราบราดำติดตามช่อดอก ช่อผล ทำให้ดอกผิดปกติ เหี่ยว และหลุดร่วง ไม่ติดผล ถ้าเป็นโรคในระยะผลอ่อน ผลจะเหี่ยวและหลุดร่วง มักพบในช่วงที่มีการระบาดของแมลงปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง

วิธีแก้…หากพบโรคให้เกษตรกรพ่นน้ำเปล่าล้างคราบราดำเพื่อลดปริมาณเชื้อ และพ่นบนช่อผลช่วงก่อนเก็บเกี่ยวทุก 14 วันด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 6-12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ถ้าพบเพลี้ยหอยให้พ่นสารกำจัดแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

หากพบเพลี้ยแป้งให้พ่นสารกำจัดแมลงไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อีกทั้งไม่ควรพ่นสารในช่วงที่ดอกลองกองบานหรือเริ่มติดผลอ่อน และควรหยุดพ่นอย่างน้อย 7 วันก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

DSC02467
ลองกองสวยๆ

2.หนอนกินใต้ผิวเปลือก

จะพบหนอนกัดกินอยู่ใต้ผิวเปลือกลึก 2-8 มิลลิเมตร ตามกิ่งและลำต้น ทำให้ต้นเป็นปุ่มปม พบระบาดมากกิ่งจะแห้งและตาย ถ้าหนอนกัดกินตาดอกผลผลิตจะลดลง

วิธีแก้…ให้เกษตรกรใช้ไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) อัตรา 50 ล้านตัว (1 กระป๋อง) ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน (1 ต้นใช้น้ำ 5 ลิตร)

ในกรณีที่มีอากาศแห้งแล้ง ควรพ่นน้ำเปล่าให้ความชุ่มชื้นก่อนพ่นไส้เดือนฝอย และใช้สารไซเพอร์เมทริน/โฟซาโลน 6.25%/2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้โชกบนลำต้นและกิ่งก้านที่มีรอยทำลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือก

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated