เป็นอีกวันที่ “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ตระเวนเก็บข้อมูลภาคสนาม เพื่อเตรียมจัดงานสัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกรไทยจริงหรือ?” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน (รายละเอียดการจองจะอยู่ตอนท้ายครับ)
วันนี้ ได้แวะไปที่สวนมะพร้าวน้ำหอม ย่านบางกรวย นนทบุรี …เป็นสวนรุ่นเก๋า “เก่าแต่ไม่แก่” ที่บอกอย่างนี้ก็เพราะว่าเจ้าของสวนคือ คุณชะออม น้อยปั่น ได้ปลูกมะพร้าวมานาน 40 ปีเข้าไปแล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ดี ต้นมะพร้าวที่ปลูกไว้ยังอยู่ยง ในขณะที่ชาวสวนรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้อำลาไปปลูกพืชอย่างอื่น แต่ส่วนใหญ่แล้วขายที่ดินให้กับหมู่บ้านจัดสรร เพราะราคาเย้ายวนใจไร่ละนับสิบล้าน
“ผมไม่ไปไหนจะอยู่กับสวนที่นี่กับภรรยา ส่วนลูก 2 คน เขาจะทำต่อหรือไม่ในอนาคตผมไม่รู้ รู้แต่ว่าตอนนี้ต้นไหนตายไปก็ปลูกแทนทันที ไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างเด็ดขาด”
บนผืนดิน 50 ไร่ จึงยังเป็นที่อยู่อย่างสบายใจ ของมะพร้าวน้ำหอม ประมาณ 1,500 ต้น แบ่งเป็นต้นเดิมๆที่ปลูกครั้งแรก มีประมาณ 60 % ที่เหลือเป็นมะพร้าวรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ทยอยปลูกเมื่อต้นพ่อแม่ตายจาก
“ปัญหาที่ตายส่วนใหญ่มาจาก แมลงศัตรู…ที่ร้ายที่สุดก็คือ ด้วงชนิดต่างๆ พวกด้วงไฟ ที่ตัวสีน้ำตาลแดง (ชื่อทางการ “ด้วงงวงมะพร้าว” หรือเรียก ด้วงสาคู ด้วงลาน) มักทำลายจากยอดมะพร้าว ซึ่งสังเกตได้ไม่ยากต้นไหนถูกทำลายจะมีใบเหี่ยวๆ สีน้ำตาล…..” พูดจบพาเดินไปที่ซากมะพร้าวต้นหนึ่ง ที่มีอายุสั้นแค่ 2 ปี
ผู้มาเยือนสำรวจดูมะพร้าววัยเยาว์ต้นนี้ ถูกไอ้ด้วงงวงกินทางมะพร้าวที่ติดกับคอจนมีร่องรอยรูพรุนเต็มไปหมด มันช่างโหดร้ายจริงๆ …
“เมื่อเกิดอย่างนี้จะแก้ไขอย่างไรละครับ”
“จุดไฟเผาให้มันตายตามไป เอาไว้ทำไมละ…รีบตัดวงจรของมัน…เรายอมตาย 1 ต้น ดีกว่าจะตายหลายต้น เพราะมันระบาดไวมาก” คือคำตอบที่ชัดเจน
“แล้วต้นที่สูงๆมันจะเผาอย่างไรละครับ” ถามต่อ
“ต้นที่สูงหน่อยก็ใช้ไม้ไผ่สอยมะพร้าวใช้ผ้าชุบน้ำมันโซล่าหรือน้ำมันเครื่องมาพันไว้ที่ปลายไม้ จุดไฟให้ลุกพรึบก็นำไปแหย่ที่ทางมะพร้าวแห้งๆ สักแป๊บเดียวก็จะไหม้ขึ้นไปทั้งต้น…ทิ้งไว้สัก 15-20 วัน ก็จุดไฟเผาซ้ำอีกที…ด้วงงวงตัวเล็กตัวน้อยก็จะตายยกรัง”
ฟังมาถึงตรงนี้ ผู้มาเยือนได้ชี้ไปที่ต้นมะพร้าวต้นหนึ่งที่สูงมากๆ ถามว่าจะจุดไฟเผาถึงหรือ ก็ได้รับคำตอบว่า
“ยังมีวิธีที่ 3 อีกนะ…ต้นที่สูงสุดจริงๆ ที่ไม้สอยไปไม่ถึง จะใช้วิธีขึ้นไปตัดทางมะพร้าวให้เกลี้ยงถึงคอมะพร้าว เพื่อตัดวงจรอาหารของมัน จากนั้นก็จะใช้ยาฆ่าแมลงปีกแข็งราดลงไปให้ทั่วคอมะพร้าว ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีเหมือนกัน แต่มีไม่มากที่ใช้วิธีนี้”
ฟังๆดูวิธีการจัดการกับแมลงร้าย ก็ต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญพอสมควร คนทั่วไปอาจฟังว่ายุ่งยาก แต่สำหรับชาวสวนมะพร้าวมืออาชีพอย่างคุณชะออมนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเรียนรู้วิธีรับมือ “ไม่ถือว่าหนักใจ เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ มีโรคมากกว่านี้ และสวนมะพร้าวหลายแห่งก็อยู่มาได้” ซึ่งปีที่หนักสุดคือช่วงปี 53 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ปีนั้นเจอไปประมาณ 10 % (ประมาณ 150 ต้น) ส่วนปีอื่นๆก็มีบ้าง แต่ประปราย
นอกจากด้วงงวง ยังมีด้วงแรด หนอนหัวดำ และแมลงดำหนาม ซึ่งก็จัดการไปตามอาการ (รายละเอียดแมลงศัตรูมะพร้าว อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://goo.gl/z0Jlsv และยังมีปัญหากระรอกเจาะผล แต่ก็ยังอยู่ในวิสัยที่จัดการได้
เปลี่ยนมาคุยเรื่อง “ปลูกมะพร้าวน้ำหอมดีอย่างไร จึงปลูกมานานถึง 40 ปี”
เรื่องนี้คุณชะออม บอกว่าตนเองคิดไม่ผิดที่มาปลูกมะพร้าวน้ำหอม เพราะว่าดูแลจัดการง่ายกว่าพืชใดๆที่เคยปลูกมา ซึ่งในอดีตสมัยหนุ่มๆ พื้นที่ตรงนี้ เคยปลูกสารพัดผัก ไม่ว่าจะเป็นผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาด ผักกุยช่ายฯ แต่มีปัญหาจะต้องล่องเรือไปขายถึงปากคลอง แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับว่าจะต้องฉีดยาป้องกันโรคแมลงต่างๆอยู่เป็นประจำ ทำให้มีความคิดว่ามันอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเลิกปลูกผักและมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม แต่ก็แซมพืชอื่นๆ เช่น กล้วยหลายพันธุ์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัว จำพวกตะไคร้ ใบเตย และสมุนไพรต่างๆ
แต่พืชที่สร้างรายได้หลักก็คือ มะพร้าวน้ำหอม “ครั้งแรกที่ปลูก มาจากการไปดูงานหลายๆที่ ดูมาหลายพืชหลายชนิด แต่สรุปสุดท้ายก็มาลงตัวที่การปลูกมะพร้าวน้ำหอม..จำได้ว่าไปดูงานที่อ.สามพราน จ.นครปฐม”
เมื่อพูดถึงการปลูกมะพร้าวน้ำหอม คุณชะออม ได้บอกกับมาผู้มาเยือนว่า คนที่จะลืมไม่ได้ที่แนะนำให้ตนเองหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมก็คือ “ผมต้องขอบคุณ ท่านกิตติศักดิ์ ภู่ประเสริฐ อดีตเกษตรอำเภอบางกรวย ที่พาผมไปดูงานปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่ อ.สามพราน และทำให้ผมมีวันนี้”
สรุปว่าปลูกมะพร้าวน้ำหอมดี ดังนี้
- ดูแลจัดการง่าย ทั้ง โรคแมลง การให้ปุ๋ย …ถือว่าแมลงมีน้อย ปุ๋ยก็ใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ
- ทนต่อความแห้งแล้ง น้ำท่วม ลมพายุ…อย่างเช่น ปี 54 ที่น้ำท่วมใหญ่ กระท้อน ทุเรียน หรือไม้ผลชนิดอื่นๆ ยืนต้นตายหมด เช่นเดียวกับสวนของคุณชะออมที่น้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตรเศษ นานร่วม 2 เดือน เหลือไว้แต่เพียงต้นมะพร้าวและได้ช่วยให้มีรายได้สามารถเก็บมะพร้าวไปขายหน้าสวนมีคนพายเรือมาซื้อวันละ 300 ลูก ถือว่าได้ช่วยตนเองและคนอื่นๆให้มีผลไม้กินประทังชีวิตในเวลานั้น
- มีผลมะพร้าวออกมาให้ขายได้ทั้งปี…ยกเว้นในช่วงหน้าร้อนของปีนี้ ที่ผลผลิตมีน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นกันทุกสวน และปีนี้ถือว่าราคาดีที่สุดตั้งแต่ปลูกมาได้ราคาลูกละ 25 บาท แต่ก็ไม่อยากได้ อยากได้ราคาลูกละ 10 บาท แต่ขอให้ผลผลิตออกมามาก(ดก)เท่านั้น
- ผลอ่อนนำไปรับประทานน้ำและเนื้อนำไปทำขนม และเมื่อผลแก่ก็นำไปทำกะทิแกงได้…โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวน้ำหอมมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก
- ส่วนของมะพร้าวนอกจากผล เช่น ใบอ่อน(ยอดมะพร้าว)นำไปทำอาหารได้อร่อย พอใบแก่ก็นำไปเย็บจากมุงหลังคา หรือเปลือกมะพร้าวก็นำไปสับเป็นวัสดุปลูกต้นไม้ หรือแม้แต่กะลามะพร้าวก็นำไปเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี
“ผมบอกได้เลยว่าปลูกมะพร้าวน้ำหอมดีกว่าปลูกพืชใดๆ คือมีความยั่งยืนมากกว่า…ใครที่เคยบอกว่าปลูกยางพาราดีกว่า ผมว่าไม่ใช่นะ มันกินไม่ได้ แต่นี่เราดื่มเรากินได้ทุกวัน และมันดีต่อสุขภาพ คนเขาก็เลยหันมานิยมกันมาก”
นั่นเป็นคำพูดของคุณชะออม ซึ่งบอกว่าไม่ได้เชียร์ให้ปลูก แต่พูดจากประสบการณ์ และเวลานี้ตนเองก็ไม่ได้ขายต้นพันธุ์…ตรงนี้พิสูจน์ได้อย่างดี เพราะระหว่างที่พูดคุยกันนั้น มีคนโทรศัพท์มาจะขอซื้อพันธุ์ แต่ก็บอกไปว่าไม่มีขาย เพราะปีนี้โดนภัยแล้งไม่สามารถคัดเลือกมะพร้าวไว้ทำพันธุ์ได้ และคิดว่านำมาเพาะเปอร์เซ็นต์งอกคงไม่ดี…ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันคุณชะออมเล่าให้ฟังว่ามีนักการเมืองระดับรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่โทร.มาจะมาขอซื้อพันธุ์ก็บอกไม่มี
ได้ฟังได้คุยกับคุณชะออม บอกได้เลยว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง …หากเป็นคนอื่นที่มีหัวธุรกิจก็อาจจะเปิดรับจองพันธุ์ไว้ก่อนหรือไม่ก็ไปหาจากสวนอื่นมาให้ ก็ต้นละ 50-60 บาท ราคาเย้ายวนใจเหลือเกิน แต่ก็ไม่ทำ สิ่งที่ทำก็คือเก็บผลมะพร้าวไปให้ภรรยาขายที่หน้าสวน สบายใจกว่ากันเยอะเลย
ยังมีเรื่องราวดีๆอีกมากมายที่จะยังประโยชน์กับเกษตรกรคนอื่นๆ เอาเป็นว่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะๆ….ขอบอกเลยว่าคุณชะออมเป็นคนที่พูดคุยกับมะพร้าวน้ำหอมได้รู้เรื่องมากที่สุดคนหนึ่ง (รู้เฟื่องเรื่องมะพร้าวน้ำหอม) ใครอยากมาพูดคุยก็แวะไปได้ครับ
หมายเหตุ : ท่านที่ต้องการเข้าร่วมสัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกร จริงหรือ?” พบกันวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
การสัมมนาจะเน้นเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องโอกาสทางการตลาด ว่าจะมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัย (ปลูกอย่างไรให้มะพร้าวติดผลตลอดปี มีน้ำหอมตลอดไป ทำอย่างไรผลไม่แตก รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ)
กรณีศึกษา การทำสวนมะพร้าวน้ำหอมสมัยใหม่ “จากแปลงนาข้าวสู่สวนมะพร้าวน้ำหอม” เริ่มต้นและทำอย่างไร
นอกจากนี้ จะมีนักธุรกิจ นักการตลาด ตัวแทนเกษตรกร ผู้รับซื้อและผู้แปรรูปเพื่อการค้าทั้งในประเทศและส่งออกจะมาให้ข้อมูลกันอย่างเต็มที่
ค่าลงทะเบียน 1,000 บาท (มีเอกสาร/อาหารครบ)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจอง โทร. 081 3090599, 089 7877373 …อย่าพลาดนะครับ