บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ คาดผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์ไทยจะพบกับปัจจัยความเสี่ยงหลายด้านในการขยายฟาร์มในอนาคตทั้งด้านเงินลงทุนสูง กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาด การต่อต้านจากชุมชนและแหล่งวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ โดยไทยจะต้องปรับตัวรองรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้อยู่รอดได้
นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในอนาคตผู้ประกอบการปศุสัตว์ไทยจะต้องลงทุนด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภายใต้กฎเกณฑ์ภาคบังคับเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ในวงเงินสูง เพื่อรองรับการขยายฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านอื่นที่สำคัญอีก เช่น ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชน การให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติการจัดสร้างฟาร์ม ปัญหาโรคระบาด การขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่มีเสถียรภาพและขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบ ระบบโลจิสติกส์ และการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จะทำให้การขยายฟาร์มปศุสัตว์ในอนาคตเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น
“ปัจจัยต่างๆจะเป็นข้อจำกัดในการขยายฟาร์มในอนาคต และเป็นต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น และจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตด้วย” นายสมควร กล่าว
นายสมควร ย้ำว่า การทำฟาร์มปศุสัตว์ในอนาคตลำดับแรกคือต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและต้องลงทุนในด้านมาตรฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามกระแส Green Policy อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการฟาร์มจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องเพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มด้วยการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลเพื่อให้ผ่านมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งกฎเกณฑ์นี้จะเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ประกอบการมาตรฐานเข้าสู่ระบบมากขึ้น
ขณะเดียวกันกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ก่อนการสร้างฟาร์ม เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบของชุมชนก่อนที่จะมีการขยายฟาร์ม ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของฟาร์มใหม่เช่นกัน เพราะชุมชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการขยายฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าไปใกล้ที่ดินเนื่องจากปัญหากลิ่นและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะตามมาก เพราะเกรงว่าจะทำให้ราคาในบริเวณที่มีการขยายฟาร์มเข้าไปมีราคาตกต่ำ ในทางกลับกันราคาที่ดินที่อยู่ในแหล่งการคมนาคมสะดวกก็มีราคาแพง
นายสมควร กล่าวอีกว่า ปัจจัยอื่น เช่น โรคระบาดใหม่ การขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงงานสูงขึ้น และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่มีเสถียรภาพ และการโอนอำนาจให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติการลงทุนของฟาร์ม จะกลายเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการปศุสัตว์ต้องแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และมีราคาสูงจะเป็นความเสี่ยงของภาคปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจ
“เราพิจารณาจากเหตุผลหลายด้านแล้ว โอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะขยายการลงทุนได้มีน้อยมาก แม้แต่รายใหญ่เองก็จะต้องประสบกับปัญหาหลายด้านเช่นกัน การขยายฟาร์มยากลำบาก ก็จะมีผลกระทบกับปริมาณสินค้าที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดโดยตรง” นายสมควร ย้ำ
นายสมควร เสนอแนะว่า การที่ภาคปศุสัตว์ไทยจะอยู่รอดได้นั้น จะต้องปรับตัวหลายหลายด้านด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างแรงงานสูง ส่วนปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และมีราคาสูงนั้น ผู้ประกอบการควรสร้างความร่วมมือการผลิตพืชวัตถุดิบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือขยายกิจการปศุสัตว์ไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังต้องพึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบประเภทกากถั่วเหลืองหรือข้าวโพด ส่วนพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะไก่นั้น ประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าพันธุ์ทั้งหมดซึ่งแน่นอนว่าการพึ่งพิงดังกล่าวก็คือต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ของไทย ส่วนสุกรถือว่าบ้านเราพัฒนามาได้ไกลพอควรแล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใด ความสำคัญจะอยู่ที่ตลาดรองรับเพียงพอหรือไม่
จากข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ จะส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการฟาร์มรายย่อยมีจำนวนน้อยลง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยก็ยังมีทางออกและสามารถอยู่รอดได้ โดยการรวมตัวเป็นกลุ่มตัวกันในรูปสหกรณ์ หรือ นิติบุคคล เพื่อให้เกิดความร่วมมือและเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดและเสริมสร้างความสามารถในการลงทุน
นายสมควร กล่าวว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการปล่อยราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกการตลาด วางแผนจัดสรรพื้นที่เพื่อการทำปศุสัตว์และพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ชัดเจน รวมถึงการให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยในเรื่องการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดและส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรจัดสรรงบประมาณไว้ช่วยเหลือผู้ผลิตรายย่อย ขณะเดียวกันต้องดำเนินการการเจรจาการค้ากับต่างประเทศแบบเชิงรุก เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้