การสัมมนามะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก มีการกระจายข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง…
เพื่อเป็นแนวทางให้กับที่สนใจที่จะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ได้ “คิดก่อนปลูก” จึงขอนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง ว่ากลุ่มผู้สนใจเป็นใคร “คิดอย่างไร” ต้องการรู้เรื่องอะไรกันบ้าง?
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่ก่อนแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปลูกในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี ฯลฯ กลุ่มนี้อยากรู้ว่าจะจัดการดูแลหรือทำอย่างไรให้มะพร้าวน้ำหอมมีผลผลิตดีและน้ำหอมสม่ำเสมอ
กลุ่มต่อมา เป็นกลุ่มผู้ปลูกมือใหม่ ซึ่งจะมาจากหลายจังหวัดและมีความสนใจที่หลากหลายมาก โดยเฉพาะถามว่าพื้นที่นั้นพื้นที่นี้เหมาะสมที่จะปลูกไหม ควรจะออกแบบวางผังสวนอย่างไร ปัญหาในการบริหารจัดการจะแก้ไขอย่างไร ระหว่างมะพร้าวไม่โตจะปลูกพืชอะไรแซมดี สิ่งสำคัญที่สุดกลุ่มนี้จะมุ่งไปที่พันธุ์มะพร้าว ว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน ที่เป็นพันธุ์แท้ ราคายุติธรรม วันงานมีพันธุ์ขายไหม ไปแล้วจะได้ซื้อมาทดลองปลูกเลย และไปไกลกว่านั้นหลายท่านบอกว่าให้ช่วยแนะนำได้ไหมว่าควรซื้อพันธุ์มะพร้าวจากเจ้าไหนดี
จากประเด็นของกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มมือใหม่นี้ ผู้เขียนขอนำมุมมองของ อาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการใหญ่วารสารเคหการเกษตร ในฐานะผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จำนวน 5 ไร่ และขณะนี้กำลังปรับปรุงพื้นที่ขุดร่องน้ำปลูกเพิ่มอีก 30 ไร่…มาเล่าสู่กันฟังดังนี้
“เรื่องแหล่งพันธุ์อย่าใจร้อน พื้นที่ปลูกต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการทั้งระบบต้องลงตัว”
พลิกนาข้าวเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม?
ผมตัดสินใจขุดคันล้อมแปลงที่นาเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมเมื่อปี 2553 หรือ 8 ปีมาแล้ว ช่วงนั้นราคามะพร้าวน้ำหอมถือว่าปกติธรรมดา ที่ตัดสินใจเพราะรู้ว่าระบบการจัดการห่วงโซ่ข้าวของเราไม่มีอนาคต จึงลงทุนแปลงนาเป็นสวน โดยมีเป้าหมายอยากลอง อยากให้เป็นสวนแบบผสมผสาน 5 ไร่มีทุกอย่างครบ ข้าว ผัก กล้วย มะละกอส้มตำ ฝรั่ง มะเขือยาว ฯลฯ แถมปล่อยเป็ด ปลา ลงไปด้วย
พอปลายปี 2554 น้ำท่วม 4 เดือน แต่ซีกสวนมะพร้าวไม่ท่วมเพราะอบต.ลาดหลุมแก้วและชาวบ้านช่วยกันทำคันกั้น ผลิตผล 5 ไร่โดยเฉพาะมะละกอดิบแม่ค้ามาแย่งกันซื้อ กก.ละ 20 บาท หลังน้ำท่วมแล้วก็มีกล้วยเกษตร 50 (กล้วยน้ำว้า ปากช่อง 50) ได้ขายบ้างเป็นระยะ จนเมื่อเข้าปีที่ 3 มะพร้าวเริ่มตกจั่นก็ตัดพืชอื่นๆออกเหลือแต่ข้าวไว้ให้คนสวนและตัวเองสีกิน ปีที่ 5 มีผลผลิตมะพร้าวมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ขายอย่างเป็นกอบกำ ปอกนำมาขายที่หน้าออฟฟิศย่านเมืองทองธานี ราคาผลละ 20 บาท ได้บ้างไม่มากนัก พอดีทีม ดร.กฤษณา กฤษณพุกต์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาขอใช้เป็นแปลงทดลองงานวิจัยของสกว.ในหลายๆ ด้านทำให้ได้ข้อมูลไปด้วยในตัว ขณะเดียวกันก็อยู่ในทีมรีวิวเวอร์โครงการวิจัยมะพร้าวน้ำหอมอยู่ด้วย แปลงมะพร้าวน้ำหอม 5 ไร่จึงเป็นแปลงวิจัยมาจนปัจจุบัน
คุณภาพของมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูก ดีไหม?
สวนขณะนี้เข้าปีที่ 6 ทราบว่าคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมที่นี่ใช้ได้ ทุกท่านที่มีโอกาสได้ชิมต่างก็บอกว่าผ่าน ทุกครั้งที่เข้าสวนมะพร้าวน้ำหอมทำให้รู้สึกว่ามันช่างเหมาะกับคนสูงวัยอย่างผม มันร่มรื่นไม่อยากไปไหน อยากผูกเปลนอนในสวนเลย ช่วงนี้ผลผลิตมะพร้าวที่เก็บได้ไม่มากเพราะเป็นช่วงแล้ง ส่วนใหญ่ไว้ดื่มน้ำเองและแจกเพื่อนฝูงและแขกที่มาเยือน 3 ปีมานี้ราคามะพร้าวน้ำหอมพุ่งแรงขึ้นมาตลอด หน้าแล้งปีนี้พุ่งขึ้นถึงเกือบ 30 บาทจากสวน แพงแบบไม่น่าเชื่อ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดีนักกับราคาที่สูงเกินไป
5 ปีได้บทเรียนอะไร และจะเดินหน้าอย่างไร?
ถึงวันนี้ 5 ไร่ 6 ปี ประกอบกับผมเป็นคนชนบทบ้านเดิมเป็นเกาะคือเกาะยอ จ.สงขลา ที่บ้านมีมะพร้าวแกงเคยปีนต้นมะพร้าวมาแต่เด็กๆ เคยโดนต้นมะพร้าวครูดอกเพราะชอบปีนเก็บผลอ่อนลงมากินเนื้ออ่อนๆที่มันอร่อยตามคุณสมบัติมะพร้าวริมทะเล ผมจึงรักในความเป็นสวนมะพร้าวและเก็บข้อมูลต่างๆไว้
จากข้อมูลภาคทฤษฎีและภาคปฏบัติถึงตลาดทำให้ทราบจุดอ่อนจุดแข็งของมะพร้าวน้ำหอมที่ดีพอสมควร โครงการมะพร้าวน้ำหอม 30 ไร่จึงเกิดขึ้นอีกแปลงในพื้นที่ตรงข้ามกับแปลง 5 ไร่เดิม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอยากจะเน้นว่า 1 )ต้องมีแหล่งพันธุ์และเนอร์สเซอรรี่ที่มาตรฐาน ขณะนี้เป็นปัญหา ทำให้ได้ต้นพันธุ์ปนเปสารพัด ที่สวนต้องตัดทิ้งมากกว่า 10% จากที่เป็นมะพร้าวกลายมะพร้าวกลางมะพร้าวแกง บางต้นติดโรคมาปลูกแล้วตายไปมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง 2)ปัญหาต่อมาคือด้วงแรด ด้วงสาคู ช่วงแรกๆคิดจะยอมแพ้ อยากจะโค่นทิ้ง แต่ทนใจแข็งจนพอเอาอยู่ในขณะนี้
“ประเด็นที่อยากจะฝากมือใหม่คิดปลูกมะพร้าวน้ำหอม คือเรื่องแหล่งพันธุ์อย่าใจร้อนต้องเลือกที่ดีที่สุดรู้ที่มาที่ไป รวมทั้งเรื่องพื้นที่ปลูกต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดปี ฝนไม่น้อยกว่า 1500 มม. และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการทั้งระบบต้องลงตัว ตั้งแต่แต่ระยะปลูก 6×6 หรือ 5×7 การขุดยกร่อง ฯลฯ ทุกอย่างต้องมีฐานความรู้เชิงวิชาการอย่าคิดเอาเองหรือใช้วิชานึกศาสตร์หรือเขาว่า เพราะท่านจะต้องใช้เวลาตั้ง 3-4 ปีจึงจะเห็นผลลัพธ์ดีหรือไม่ดี ข้อมูลลึกชัดต้องมาฟังสัมมนาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559” คุณเปรม กล่าวในที่สุด
พูดมาถึงตรงนี้ก็อยากเชิญชวนทุกท่านที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมหรือคิดจะปลูกใหม่ จะต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอ ซึ่งในการสัมมนาจะตอบโจทก์ ทั้งเรื่องการปลูกและการจัดการต่างๆ สนใจ โทร. 081 3090599,089 7877373 และ 088 3182277 หรือ อีเมล์ : lungpornku2@gmail.com…มาช่วยกันเติมความรู้ให้กับมะพร้าวน้ำหอมเพื่อความยั่งยืนในอาชีพนะครับ
(กำหนดการ /วิธีสมัคร /แผนที่สถานที่สัมมนา http://goo.gl/reGZay)