ม.เกษตรฯ - มูลนิธิข้าวไทยฯ สานต่อความร่วมมือพัฒนาศักยภาพข้าวและชาวนาไทย
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรฯ นำโดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม ร่วมลงนามพัฒนาข้าวไทย กับดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย และ ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา และการเรียนรู้เรื่องข้าว พัฒนาศักยภาพความเป็นอยู่ของชาวนาไทยและความยั่งยืนของการทำนา การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุกรรมข้าวไทย และการวิจัยพัฒนาข้าวไทยอย่างครบวงจร โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และ ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุม 9 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม

ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงานว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยเริ่มครั้งแรกตั้งแต่ปี 2550 และมีการลงนามต่อเนื่องในครั้งที่ 2 ปี 2553-2558 ดังนั้น เพื่อความต่อเนื่องในการร่วมมือกันดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ  จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ของการประสานความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน ใน 5 ด้าน ดังต่อไปนี้

  1. ร่วมจัดประชุมสัมมนาเพื่อศึกษาสถานการณ์ข้าวไทย แสวงหายุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริม งานวิจัยข้าวไทย เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันและพัฒนาความรู้เรื่องข้าวและชาวนาไทยอย่างครบวงจร
  2. ร่วมกันกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไทย เพิ่มมูลค่าของข้าวที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูง  เพื่อเป็นฐานของการพัฒนาชาวนาและประเทศแบบยั่งยืน
  3. ร่วมประสานกับหน่วยงานอื่นๆของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาช่องทางและโอกาสของการพัฒนา  และสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการและกิจกรรมร่วมต่างๆ
  4. ร่วมกันกระตุ้น ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ โครงการและกิจกรรมร่วมต่างๆ
  5. ทั้งสองฝ่ายจะจัดให้มีคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือ เพื่อกำหนดแผนงานกลยุทธ์ของโครงการและกิจกรรมต่อเนื่องที่ทั้งสองหน่วยงานสามารถร่วมกันดำเนินงานเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวเปิดในพิธีลงนามว่า จากเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ” ซึ่งสอดคล้องกับสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้เรื่องข้าว พัฒนาศักยภาพความเป็นอยู่ของชาวนาไทยและความยั่งยืนของการทำนา การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุกรรมข้าวไทย และการวิจัยพัฒนาข้าวไทยอย่างครบวงจร  โดยประสานเครือข่ายของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันด้านการพัฒนาข้าวไทยของประเทศให้เข้มแข็ง

ร่วมลงนาม พัฒนาข้าวไทย
คณะผู้บริหารของ 2 หน่วยงานถ่ายภาพร่วมกันเป็นการยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความสำคัญกับเรื่องของข้าวเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำการศึกษาวิจัยด้านข้าว อาทิ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขยายขอบเขตงานวิจัยที่ส่งผลทางบวกเชิงเศรษฐกิจ ช่วยแก้ปัญหาข้าวในระดับประเทศ เป็นผู้นำด้านจีโนมเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการค้นหายีนและปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งนวัตกรรมข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงงานวิจัยพันธุ์ “ต้นน้ำ” ไปสู่การแปรรูป “กลางน้ำ” และสู่รากหญ้า “ปลายน้ำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลเชิงบวกด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งระบบ นอกจากนี้ในคณะ สำนัก สถาบัน ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีการศึกษาพัฒนาผลงานวิจัย และนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าวอีกมากมาย และนี่คือพื้นฐานความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับงานวิจัยข้าว

“ความร่วมมือในครั้งที่สามนี้ จะขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการในเชิงรุกและมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยจะผลักดันเพื่อสร้างนักวิจัยของมก.รุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การแปรรูปข้าว รวมไปถึงงานวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์ข้าวที่มีความเข้มแข็ง ทนต่ออุณหภูมิความร้อนของประเทศไทย ข้าวพันธุ์ทนแล้ง ทนน้ำท่วม หรือ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า  จาก พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เมื่อ ปี พ.ศ. 2536 เกี่ยวกับข้าวและชาวนา  ความว่า “.. ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก..”  ดังนั้น เพื่ออนาคตของประเทศ เราต้องร่วมกันสร้างอนาคตของข้าวไทยให้ดีขึ้น เพื่อที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ ตัว สามารถเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ประชาชนทั่วไปก็ควรที่จะมีความรู้และให้ความสนใจในเรื่องข้าวมากขึ้น ทั้งในด้านบทบาทของข้าวต่อวิถีการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เนื่องจากงานพัฒนาอนาคตข้าวและชาวนามีขอบเขตกว้างขวาง องค์กรใดองค์กรหนึ่งย่อมไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การนานาชาติ อาศัยกลไกการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ มีเงินทุนสนับสนุนที่พอเพียงสำหรับงานวิจัยและงานฝึกอบรมต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2543 ต่อมาในปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ตั้งสำนักงานของมูลนิธิ ฯ ณ อาคารวิจัยและพัฒนา ชั้น 3 ห้อง 317- 320 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน

“ตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมานับเป็นความร่วมมือแบบไม่มีเงื่อนไข เติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งทางด้านกายภาพ องค์ความรู้ และบุคลากร ก่อให้เกิดผลงานที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาข้าวไทยและชาวนาไทย ผมมองว่า ปัญหาข้าวยังไม่จบ เพราะมีหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม และมิติทางด้านการเมือง ก้าวต่อไปของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คงต้องมีการทบทวนและปรึกษาหารือถึงการดำเนินงานต่อไป นอกเหนือไปจากการจัดประชุมเวทีข้าวไทยประจำปี การจัดประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ การสัมมนาเรื่องข้าว การตัดสินการประกวดนวัตกรรมข้าวไทยร่วมกันแล้ว ยังมีมิติอะไรอีกบ้างที่เราต้องการคำตอบเพื่อส่งต่อให้ประเทศชาติ และสังคมไทย เป็นเรื่องที่ต้องติดตามจากการทำงานร่วมกันระหว่าง มูลนิธิข้าว ในพระบรมราชูปถัมภ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวในที่สุด

(ข่าวโดย : ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated