เปิดใจ...เฮียกู้ แม่กลอง “เลี้ยงปลาทับทิม 300 กระชัง เลี้ยงมา 18 ปี ถีงวันนี้ก็จะเลี้ยงต่อไป”
คุณฐิติธัญ แสงวณิช ...บุตรชายเฮียกู้ แม่กลอง ภูมิใจกับความสำเร็จของการทำฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิมที่ทำให้มีวันนี้

เอ่ยชื่อ “เฮียกู้ แม่กลอง” แห่ง “กอกวงฮวดฟาร์ม” คนที่อยู่ในวงการเลี้ยงปลาทับทิมคงจะรู้จักกันดี เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังรายแรกของประเทศไทย จนถึงวันนี้เป็นเวลา 18 ปีเต็มๆที่ยังคงมุ่งมั่นกับอาชีพ แถมยังส่งต่อลูกชายสืบทอดและพัฒนาฟาร์มเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

เฮียกู้แม่กลอง เจ้าของฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิมเจ้าแรกประเทศไทย
เฮียกู้ แม่กลอง (เสื้อสีส้ม) กับคุณธัญ ลูกชาย และคุณอดิศร์ จากซีพีเอฟ ส่วนซ้ายสุดคือผู้มาเยือน…

เริ่มจาก 8 กระชัง สู่ 300 กระชัง

คุณวรชัย แสงวณิช หรือ “เฮียกู้ แม่กลอง” เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปลาทับทิม ว่าดั้งเดิมนั้นเลี้ยงปลาดุกและปลาช่อนในบ่อดินมาก่อน โดยเฉพาะปลาช่อนเลี้ยงมานานถึง 20 ปี แต่มีปัญหาเรื่องอาหารปลาที่ใช้วัตถุดิบหลักคือปลาเป็ดมีความไม่แน่นอน บางช่วงมีเยอะบางช่วงมีน้อย ต่อมาเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพงในกระชังตามการส่งเสริมของกรมประมง ระยะแรกมีปัญหาเรื่องพันธุ์ปลาน้ำเค็มที่ปรับสภาพกับน้ำจืดไม่ได้ ต่อมากรมประมงได้พัฒนาพันธุ์ปลาให้เลี้ยงได้ในน้ำจืด ซึ่งก็เลี้ยงมา 10 รุ่น คู่กับปลาทับทิม ตามคำแนะนำของซีพีเอฟในปี 2541 และต่อมาเลี้ยงเฉพาะปลาทับทิมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสามารถทำตลาดได้ดีกว่า

“ในขณะนั้นปลาทับทิมยังเป็นปลาที่ใหม่สำหรับตลาดของไทย คนยังไม่รู้จักมากนัก เริ่มต้นเลี้ยงปลา 8 กระชัง และร่วมกับซีพีเอฟขยายตลาดปลาทับทิมเข้าสู่ช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ เริ่มจากที่ไม่มีคนสนใจ จนปลาทับทิมได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้ไม่พอขาย สามารถขยายการเลี้ยงจนถึงปัจจุบันรวม 300 กระชัง”

ในจำนวน 300 กระชังที่ว่านั้น แบ่งเป็นสถานที่เลี้ยงของตนเอง จำนวน 100 กระชัง และอีก 200 กระชัง ได้ขยายไปเช่าพื้นที่เลี้ยงในบริเวณใกล้เคียงอีก 2 แห่ง คือนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังรายแรกแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เลี้ยงปลาทับทับทิมที่มีจำนวนกระชังมากที่สุดก็ว่าได้

ทัศนียภาพอันสวยงามของกอกวงฮวดฟาร์ม
ทัศนียภาพอันสวยงามของกอกวงฮวดฟาร์ม

เปิด 4 หัวใจแห่งความสำเร็จ

  1. ต้องรู้ว่า “หัวใจความสำเร็จอยู่ตรงไหน”

เฮียกู้ เล่าว่ากระบวนการผลิตปลาทับทิมที่ประสบความสำเร็จ ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพลูกพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพสูง และมาตรฐานการเลี้ยง ใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ดีมาใช้ วิธีการเลี้ยงของฟาร์มเริ่มจากนำลูกพันธุ์ปลามาอนุบาลในบ่อปูน (บ่อที่เคยเลี้ยงปลาช่อน) ใช้เวลาอนุบาล 2 เดือน จึงย้ายมาเลี้ยงต่อในกระชังอีก 4 เดือน  และการให้อาหารปลาถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกเหนือจากคุณภาพน้ำ คือจะให้อาหารสำเร็จรูปทุกขั้นตอนการเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นช่วงการเลี้ยงอนุบาล และเลี้ยงปลาใหญ่ ซึ่งจะเป็นไปตามสูตรมาตรฐานของซีพีเอฟ  และจะเสริมด้วยจุลินทรีย์  “โปรไบโอติก” เพื่อช่วยปรับสมดุลและเสริมภูมิต้านทานให้ปลาแข็งแรง ช่วยลดการเป็นโรคได้ดี

  1. ต้องเข้าใจธรรมชาติและ “รู้ใจปลา”

เฮียกู้ แนะนำต่อว่า สำหรับการเลี้ยงปลาทับทิมในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-เม.ย.) ทำให้อุณหภูมิน้ำในแม่น้ำร้อนมาก (จากปกติ 27-28 องศา เป็น 30 องศา) เกษตรกรควรลดจำนวนการปล่อยปลาเลี้ยงในกระชังลงประมาณ 20-30% ในช่วงปกติปล่อยปลาเลี้ยงในกระชัง 40 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร พอถึงฤดูร้อนจะปล่อยปลาในกระชังลดลง 25-30 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร และปล่อยให้กระชังว่าง เลี้ยงเพียง 80% ของกระชัง เพื่อเพิ่มพื้นที่ไหลผ่านของน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ปลาอยู่ได้สบาย ไม่อึดอัด ไม่เครียด กินอาหารได้ปกติ เติบโตได้คุณภาพ ลดอัตราการสูญเสียของผลผลิตที่เกิดจากอากาศร้อนได้ดี

ผู้เลี้ยงปลาทับทิมต้องใส่ใจการเลี้ยงตามมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี ทำให้ปลาที่เลี้ยงออกมามีมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเคมีโดยไม่จำเป็นทั้งในการเลี้ยงและระหว่างการขนส่ง เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตแล้ว ตลาดเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตปลาทับทิม ดังนั้น ผู้เลี้ยงปลาทับทิมจึงควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานและความปลอดภัยของปลาอย่างต่อเนื่อง เฮียกู้กล่าว ในฐานะนักเลี้ยงปลาทับทิมรุ่นบุกเบิก

บ่ออนุบาลปลาทับทิม
บ่อเลี้ยงปลาทับทิมอนุบาล จะต้องมีการคลุมตาข่ายไว้มิดชิด เพราะมักจะมีศัตรูทางอากาศโจมตีอยู่เสมอ
การให้อาหารปลาทับทิม
การให้อาหารปลาทับทิม คนเลี้ยงจะต้องรู้ใจและเข้าใจปลา และให้สังเกตกระชังที่เป็นตาข่ายสีฟ้าจะป้องกันไม่ให้อาหารลอยไปที่อื่น
  1. ต้องจัดการให้เป็นและ ตลาดต้องอยู่ในมือ

ในการบริหารจัดฟาร์มเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เฮียกู้เล่าว่า จะต้องออกแบบฟาร์มให้มีมาตรฐานตั้งแต่เริ่มต้น เช่น จะเลี้ยงกี่กระชัง ต้องวางผังอย่างไร จึงจะสะดวกในการจัดการ ทางขึ้นลงระหว่างฝั่งกับกระชังปลาจะอยู่มุมไหน ตรงไหนจะเป็นท่าขึ้นปลา และตรงไหนจะเป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งรถที่จะวิ่งเข้ามารับปลา จะต้องสะดวกคล่องตัว  หรือแม้แต่จุดที่จะให้คนที่มาเที่ยวถ่ายรูปหรือนั่งพักก็ต้องคิดและทำไว้

เรื่องต่อมาคือแรงงาน จะใช้ 3 คน ต่อ 100 กระชัง รวมทั้งหมด 10 คน จะต้องมีขอบเขตงานให้ทำอย่างชัดเจนและเข้าใจระบบงาน เช่น ให้อาหารวันละ 3 ครั้ง จะต้องให้พอดี ไม่ให้เหลือ (ให้อาหาร 2-3 ถ้วยต่อกระชัง โดยใช้หลักการสังเกตว่าปลาอิ่มหรือยัง) อาหารสำเร็จรูปที่ให้จะต้องมีขนาดเม็ดที่เหมาะสมกับน้ำหนักของปลา และก่อนจับขาย 1-2 สัปดาห์จะเปลี่ยนเป็นอาหารกบ ซึ่งมีโปรตีนสูงกว่า และทำให้ปลาตัวสวยด้วย

อีกเรื่องกระชังเลี้ยงปลา จะต้องหมั่นทำความสะอาด เมื่อเลี้ยงจบไปรุ่นหนึ่งก็นำมาล้าง ตากแดด และโดยเฉพาะกระชังที่เป็นตาข่ายสีเขียวด้านในที่เห็น คือภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง จะออกแบบไม่ให้มีก้น คือทำขึ้นมาเพื่อเวลาให้อาหารจะได้ไม่ลอยไปที่อื่น และปลาก็จะมุดมากินอาหารของมันเอง ตาข่ายนี้จะต้องทำความสะอาดประมาณ 7 วันครั้ง ด้วยการนำขึ้นมาฉีดน้ำให้คราบดำๆหลุดออกไป

ในเรื่องของการตลาดเฮียกู้ เล่าว่าตั้งแต่เลี้ยงมาไม่ค่อยมีปัญหา มีบ้างที่บางช่วงราคาปลาตกต่ำคือช่วงที่ปลาจากธรรมชาติออกมาเยอะ ราวเดือน พ.ย.-ธ.ค.-ม.ค. ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่เราก็ต้องวางแผนไม่ให้ปลาออกมาเยอะในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ปัญหาดังกล่าวเริ่มน้อยลง เพราะปลาในธรรมชาติมีน้อย และคนหันมานิยมอาหารจากปลามากขึ้น ราคาปลาเลี้ยงจึงอยู่ในเกณฑ์ดี ปัจจุบันราคาจากฟาร์มกิโลกรัมละ 100 บาท ขนาดปลาที่ตลาดต้องการ 7-9 ขีดต่อตัว โดยจะมีตลาดอยู่ 2 ส่วน คือส่งให้บริษัทที่รับซื้อส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นตลาดที่สร้างขึ้นเอง ซึ่งทุกวันนี้จะต้องจับปลาไปส่งให้กับห้างแม็คแวลูทุกวัน  เพราะฉะนั้นจึงต้องบริหารให้สามารถจับปลาได้ทุกวัน โดยจะต้องปล่อยเลี้ยงรุ่นละ 10 กระชัง และใน 10 กระชังนี้จะสามารถจับปลาได้นาน 1 เดือน

บ้านปลาทับทิมรีสอร์ท
“บ้านปลาทับทิมรีสอร์ท” เป็นการต่อยอดรายได้จากฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิม
  1. ต้องต่อยอดและ “สืบทอด” สู่คนรุ่นหลัง

ปัจจุบัน “กอกวงฮวดฟาร์ม” ยังได้พัฒนาฟาร์มเลี้ยงปลาเป็นรีสอร์ทที่พักให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาพักผ่อนหรือรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการทำธุรกิจต่อยอดจากฟาร์มปลาทับทิมที่ถือว่าสร้างรายได้อันมั่นคงให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการนำรายได้ส่วนหนึ่งมาสร้าง “บ้านปลาทับทิมรีสอร์ท” จากเดิมมีเพียง 6 ห้อง ได้ขยายมาเป็น 32 ห้อง

สิ่งสำคัญที่สุด เฮียกู้ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกชายที่ชื่อ “คุณธัญ”  ซึ่งลูกชายคนนี้จบทางด้านการบริหาร จึงมาสืบทอดได้อย่างลงตัว  และยังให้บริการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับผู้ที่สนใจศึกษาวิธีการเลี้ยงปลาทับทิมที่ปลอดภัยอีกด้วย

ท่องเที่ยวฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิม
ป้ายที่บอกว่าฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิมแห่งนี้ ยินดีต้อนรับทุกท่าน

“เฮียกู้” คือโมเดลความสำเร็จ

ด้าน คุณอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟได้ปรับปรุงพันธุ์ปลาทับทิมให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงในประเทศไทยและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และได้ส่งเสริมเป็นอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมให้แก่เกษตรกร เริ่มจากส่งเสริมเฮียกู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ซึ่งได้ผลผลิตที่ดี ปลาเนื้อแน่น และไม่มีกลิ่นโคลน ต่อมาบริษัทฯ ได้ยึดรูปแบบนี้ส่งเสริมให้เกษตรกรรายอื่นได้มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน เนื่องจากมีผู้นิยมนำปลาทับทิมมาทำเป็นอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี ส่งผลให้ปลาทับทิมกลายเป็นปลาเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน

“ซีพีเอฟสนับสนุนเกษตรกรในการพัฒนาแหล่งเลี้ยงที่เหมาะสม ได้มาตรฐานฟาร์มปลา GAP (Good Agriculture Practices) ของกรมประมง พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมระบบการเลี้ยง “โปรไบโอติก” เป็นระบบที่ใช้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อปลา ให้สามารถปรับความสมดุลและภูมิต้านทานโรคได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน ยา หรือสารเคมีใดๆ” คุณอดิศร์กล่าว

เกษตรกรหรือผู้สนใจที่จะเลี้ยงปลาทับทิม และต้องการไปเยี่ยมชมกอกวงฮวดฟาร์ม ของเฮียกู้ ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลอง เลขที่ 54 หมู่ 2 ต.บางนกแขวก อ. บางคนที จ.สมุทรสงคราม ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 089 0874949 (คุณธัญ) หรือ http://www.banplatabtimresort.com/ …ยินดีแบ่งปันความรู้ครับ

หมายเหตุ : “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” จะนำเสนอเรื่องการออกแบบกระชังเลี้ยงปลาทับทิมในอีกตอนหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางกับผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยง…โปรดติดตามกันต่อไป

(ขอบคุณ : ฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF โทร : (662) 625-7343-5, 625-7384-85 อีเมล์ : pr@cpf.co.th)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated