ไกลแค่ไหนก็จะไปให้ถึง …วันนี้ ฟอร์ด เรนเจอร์ 3.2 พาลุยสวนพลับ ที่ “สวนสองแสน” สถานีวิจัยดอยปุย จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ได้พบกับอาจารย์นิภา เขื่อนควบ หัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุย และ อาจารย์บัวบาง ยะอูป หัวหน้าโครงการวิจัยพลับ ซึ่งให้การต้อนรับคณะของเราอย่างเป็นกันเอง
ฟอร์ด เรนเจอร์ 3.2 พาเราขึ้นอุทยานดอยสุเทพ-ปุย ได้อย่างคล่องตัว ถึงจุดหมายปลายทางสวนพลับที่ใหญ่ที่สุด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างปลอดภัย แม้บางช่วงต้องตะลุยกับเส้นทางอันตราย ขึ้นเขา ลงดอย ลุยน้ำ ลุยโคลน แต่ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ
อาจารย์นิภา เขื่อนควบ เล่าว่า พลับ เป็นไม้ผลเมืองหนาวประเภทยืนต้นขนาดใหญ่มีการเจริญเติบโตดี ลำต้นมีผิวหยาบกร้าน ขรุขระ สีน้ำตาลแก่ ใบสีเขียวเป็นมัน รูปหัวใจ ดอกคล้ายระฆังสีเหลืองอ่อน มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ส่วนดอกกะเทยนั้นพบน้อยมาก ลักษณะผลมีหลายแบบ เช่น กลม กลมแบน กลมยาวคล้ายรูปกรวย ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อผลจะแข็งเมื่อสุกเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม เมล็ดสีน้ำตาลแก่ พลับบางชนิดก็มีรสฝาด บางชนิดก็มีรสหวาน เป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็น ดินที่เหมาะก็คือดินร่วนปนทรายควรเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตดี
ช่วงนี้นิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ที่ไปฝึกงานบนสถานีวิจัยดอยปุย กำลังช่วยกันห่อลูกพลับ เนื่องจากเดือนนี้ผลพลับเริ่มมีสีนวลขึ้น พร้อมที่จะรับการห่อผล เพื่อป้องกันแมลงศัตรูเข้าทำลาย เช่น การกัดกินของตัวต่อป่า การจิกกินของนก การโฉบกินของค้างคาว หรือแม้แต่การแทะกินของกระรอก กระแต การดูแลรักษาช่วงนี้จึงถือว่าสำคัญมาก เพื่อจะให้ผลผลิต ออกมาสวยงามมีคุณภาพตามที่ต้องการ ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ พลับก็จะเริ่มสุก สามารถเก็บมารับประทานได้แล้ว
หัวหน้าสถานีดอยปุย กล่าวต่อไปว่า สำหรับแปลงพลับที่สวนสองแสน สถานีวิจัยดอยปุย จ.เชียงใหม่ เป็นพลับที่ชนะการประกวด 2 ปีซ้อน ในงานประกวดพันธุ์พลับของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นการประกวดพลับทั้งหมดของประเทศ ได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทพลับหวาน พันธุ์ Fuyu ประจำปี 2539 และได้รับรางวัลที่ 1 รางวัลที่ 2 และรางวัลที่ 3 ประเภทพลับหวานพันธุ์ Fuyu ประจำปีการศึกษา 2540
พลับ สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ สำหรับพลับหวานพื้นที่ปลูกจะต้องมีความหนาวเย็นอย่างเพียงพอ โดยพื้นที่จะต้องมีความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ในพื้นที่แห้งแล้งก็สามารถปลูกพลับได้ แต่ต้องมีเส้นทางคมนาคมขนส่งดี เนื่องจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวพลับเป็นฤดูฝน และควรเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดงดีเพราะจำทำให้ผลมีสีสวย คุณภาพดี
สำหรับสถานีวิจัยดอยปุย เป็นสถานีวิจัยทางการเกษตรที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2506 ตั้งอยู่บริเวณดอยสุเทพ-ปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วยแปลงทดลอง 3 แปลง คือ สวนบวกห้า สวนสองแสน และสวนบุญรอด มีภารกิจในการสนับสนุนงานของมูลนิธิโครงการหลวง
พ.ศ. 2506 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำบนภูเขาขึ้น โดยเริ่มจากงานที่ ห้วยคอกม้า ดอยปุย จ.เชียงใหม่ พ.ศ. 2507 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำขึ้น และคณะกรรมการได้แต่งตั้งให้ ศ.เทียม คมกฤส เป็นประธานคณะอนุกรรมการ โดยเลือกพื้นที่ดำเนินการบริหารลุ่มน้ำห้วยแม่ไนเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างการ ดำเนินงานจัดการลุ่มน้ำ
พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มอบหมายให้รศ.อรรถ บุญนิธี และ ศ.ปวิณ ปุณศรี คณาจารย์คณะเกษตร ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านพืชเน้นเกี่ยวกับไม้ผลยืนต้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพืชที่มีคุณสมบัติทดแทนไม้ป่าในแง่ของการอนุรักษ์ ต้นน้ำลำธารได้ โดยใช้ชื่อโครงการว่า โครงการศึกษาไม้ผล ในโครงการจัดการลุ่มน้ำห้วยแม่ไน จ.เชียงใหม่ ทำการทดลองปลูกพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาว เพื่อประโยชน์ในการหาทางส่งเสริมให้ชาวเขาได้ปลูกเป็นอาชีพ
พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช เสด็จฯ ไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขาและได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท ซื้อสวนผลไม้และใช้ชื่อว่า สวนสองแสน สืบมา จนปัจจุบันมีพื้นที่แปลงทดลอง 3 แปลง ดังนี้ คือ
1.สวนบวกห้า ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 มีพื้นที่ทั้งหมด 39 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานสถานีชื่อ อาคารเทียม คมกฤส สโมสร บ้านรับรอง บ้านพักเจ้าหน้าที่และคนงาน ในส่วนของบริเวณแปลงทดลองทดลองซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่จะประกอบไปด้วยอาคารห้องปฏิบัติการห้องเก็บพัสดุ โรงเรือนต่างๆ แปลงทดลองพืชล้มลุกและแปลงไม้ผลยืนต้น
2.สวนสองแสน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 119 ไร่ 2 งาน 2.5 ตารางวา โดยเป็นพื้นที่ซึ่งใช้เป็นแปลงทดลอง 74 ไร่ 1 งาน97.5 ตารางวา สวนนี้นับเป็นสวนประวัติศาสตร์ของการเกษตรบนที่สูงคือเป็นสวนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน “200,000 บาท (สองแสนบาท) ” เมื่อปี พ.ศ. 2512 เพื่อทรงสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาบนที่สูง เพื่อการ จัดหาพื้นที่เพิ่มเติมให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยจัดซื้อสวนผลไม้ของชาวบ้านเพื่อใช้พัฒนาเป็นพื้นที่ในการวิจัย ณ สถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งต่อมาเรียกชื่อพื้นที่ดังกล่าวนี้ว่า สวนสองแสน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งถือเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกและแห่งเดียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพื้นที่ให้สนองพระราชดำริการดำเนินงานของ มูลนิธิโครงการหลวง ปัจจุบันแปลงทดลองส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาทดลองการผลิตพลับและลิ้นจี่เป็นส่วนใหญ่นอกจากนี้ยังจัดให้มีบ้านพักรับรอง บ้านพักคนงาน โรงเรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับกระถาง
3.สวนบุญรอด ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 สวนนี้มีพื้นที่ 25 ไร่อยู่ติดกับหมู่บ้านม้ง ดอยปุย โดยได้รับการบริจาคจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เดิมมีการปลูกไม้ผลยืนต้นต่างๆ เช่น บ๊วย ลิ้นจี่ และสาลี ปัจจุบันวางแผนผังแปลงใหม่เพื่อปลูกพลับสำหรับงานวิจัยและงานหารายได้ของสถานี
สถานีวิจัยดอยปุย ตั้งอยู่ ถนนศรีวิชัย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสนใจพักค้างแรมได้ ที่เบอร์โทร 0 53-21 1-142 ต่อ 13
(เรื่อง/ภาพ : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา ขอบคุณ : ฟอร์ด เจนเจอร์ 3.2 ที่พาเราไปถึงจุดหมายปลายทาง)