ระวังโรคเน่าเละในกะหล่ำปลี...มันมากับฝน
โรคเน่าเละในกะหล่ำปลี...มักเกิดในช่วงฝนตกติดต่อกัน

ในช่วงฝนตกติดต่อกัน อุณหภูมิจะลดลง และมีความชื้นในอากาศสูง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกะหล่ำปลีเฝ้าระวังการระบาดของโรคเน่าเละ มักพบโรคในช่วงระยะที่ต้นกะหล่ำปลีห่อหัว สำหรับโรคเน่าเละจะแสดงอาการเริ่มแรกมีแผลลักษณะฉ่ำน้ำ ต่อมาจะขยายลุกลามเป็นแผลสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลไหม้ ส่วนเนื้อเยื่อบริเวณแผลจะยุบตัวลง และจะมีเมือกกลิ่นเหม็นฉุนเยิ้มออกมาภายนอก

ช่วงหน้าฝนให้ระวังโรคเน่าเละในกะหล่ำปลี
ช่วงหน้าฝนให้ระวังโรคเน่าเละในกะหล่ำปลี

แนวทางป้องกันและแก้ไข

สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไข หากเริ่มพบอาการของโรคเน่าเละในแปลงปลูกกะหล่ำปลี ให้เกษตรกรรีบขุดต้นกะหล่ำปลีที่เป็นโรค และเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที หลีกเลี่ยงการทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชเกิดแผล ซึ่งแผลจะเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายพืชได้ง่าย อีกทั้งเกษตรกรควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ ให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอ เมื่อได้นำไปใช้กับต้นที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตกะหล่ำปลีเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรไถกลบเศษพืชผักและพลิกหน้าดินให้ลึกทันที ให้ดินได้ตากแดดหลายๆ วัน และไถกลบพลิกหน้าดินอีกครั้ง เพื่อทำลายเชื้อสาเหตุของโรคที่ติดอยู่กับเศษซากพืชและป้องกันการสะสมของเชื้อสาเหตุของโรคในดิน จากนั้นก่อนการปลูกกะหล่ำปลีในฤดูถัดไป ให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เป็นต้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated