วันนี้ (3 ส.ค. 59) ที่ตลาดไท จ.ปทุมธานี คึกคักกันตั้งแต่เช้า เพราะว่าเขามีการจัดงานกล้วยหอมจังหวัดปทุมธานี ครั้งที่ 7 ภายในงานมีกิจกรรมกรรมหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ การประกวดกล้วยหอมจ.ปทุมธานี ที่เริ่มตั้งแต่เช้าและภาคบ่ายก็รับรางวัลกัน…งานดีๆ มีสีสันอย่างนี้ “เกษตรก้าวไกล” จึงไม่พลาด…
ไปถึงก็เห็นกล้วยแขวนเป็นหวีๆเรียงราย…ติดเบอร์ไว้พร้อมสรรพ นับได้ 57 หวี ทราบจากผู้จัดงาน (ตลาดไท ร่วมกับเครือข่ายธุรกิจ Biz Club ปทุมธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี) ว่าวันนี้มีส่งเข้าประกวดจำนวน 5 ราย จากผู้ค้าในตลาดไท ซึ่งน้อยกว่าทุกครั้ง และปกติประกวดกันยกเครือ และเป็นกล้วยที่สุก แต่ครั้งนี้เป็นแบบดิบๆ
“ที่ผ่านมาทุกปีจะประกวดกล้วยเป็นเครือๆ แต่ปีนี้กล้วยมีน้อย จึงเปลี่ยนมาประกวดเป็นหวี เพราะกล้วยแพง…เห็นใจเกษตรกร เอาไว้ขายดีกว่า”
ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย คุณสมเดช คงกะพันธุ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี คุณชัยโรจน์ สุเอียนทรเมธี สำนักงานการค้าภายในจังหวัดปทุมธานี รศ. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณพุทธศิษย์ พุทธสถิตย์กุล บริษัท เอ-เบสท์ จำกัด และ คุณเปรม ณ สงขลา แห่งวารสารเคหการเกษตร
ได้เวลากล้วยพร้อม กรรมการพร้อม กองเชียร์พร้อม…ก็เริ่มกันเลย
รอบแรกนั้น คณะกรรมการจะคัดกล้วยที่มองว่าไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ออก…คือกล้วยที่เข้าประกวดตามเกณฑ์การตัดสิน จะมี 5 ด้าน ครั้งนี้
- ขนาด หมายถึง ขนาดของหวีและผลใหญ่สม่ำเสมอ
- รูปร่างลักษณะ หมายถึง รูปทรงและลักษณะหวีและผลกล้วยที่มีลักษณะดีนั้นจะต้องมีผลในหวีเรียงตัวเป็นระเบียบ …ไม่แตกแถวว่างั้นเถอะ
- สีผิว หมายถึง สีของผลเป็นสีเขียวอ่อน ผิวเรียบสวยงามไม่มีริ้วรอย
- ความดก หมายถึง จำนวนผลในหวีต้องพอดี (จากการกระซิบถามเกษตรจังหวัดบอกว่าต้องไม่น้อยกว่า 13 ผล)
- ความสมบูรณ์ภายนอก หมายถึง สภาพทั่วไปของหวีและผล ซึ่งจะต้องสะอาดปราศจากโรคแมลง และตำหนิที่ผิดปกติ ซึ่งจะต้องไม่มีการตกแต่งใดๆ
คณะกรรมใช้เวลาเดินวนไปมาอยู่หลายรอบ… “รักพี่เสียดายน้อง” …คัดกล้วยให้เหลือน้อยที่สุด…ไม้เด็ดสุดท้าย(ไม่มีในเกณฑ์ตัดสินที่กำหนดไว้) ตัดสินกันที่ “ความแก่” และ “เปลือก” เพราะว่าดูภายนอกก็ใกล้เคียงกันหมด เหลือดูภายใน ต้องดูกันให้หมดจดจริงๆ…ตรงนี้นั้นทางเกษตรจังหวัดที่พกมีดมาด้วย ทำหน้าที่ตัดผลกล้วยออกมาพิสูจน์กันเลย…ดูว่าแก่ได้ที่หรือไม่ และเปลือกบางหรือไม่
สุดท้ายผลก็ออกมา ดังนี้
“รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 คุณเกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง คุณเสาวนีย์ วิเลปะนะ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง คุณรัตนา พรหมเจริญ รางวัลชมเชย 2 รางวัล คุณภารดร เทพพาณิชย์ และคุณสุลิตา กล้าการขาย”
เมื่อประกวดเสร็จภาคบ่ายได้มีการมอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดกล้วยหอม โดยท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร) …
ผู้ได้รับรางวัลรู้สึกอย่างไรบ้าง….คุณเสาวนีย์ วิเลปะนะ เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมรายใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี และทำธุรกิจขายส่งกล้วยหอมในนาม “คิงฟรุทส์” บอกว่า “ดีใจค่ะน้องๆ ทีมสวนตั้งใจทุกปีกับงานประกวดกล้วยหอมปทุมธานี ปีนี้ได้รางวัลก็ดีใจ ปีไหนไม่ได้ก็กลับไปตั้งใจเอาใหม่ ปีหน้าต้องทำให้ดีกว่าเดิม…ปีที่แล้วได้รางวัลที่ 3 ค่ะ ปีนี้กลับมาแก้ตัว (ได้ทั้งชนะเลิศและรองชนะเลิศ) เป็นความสุขของคนปลูกกล้วยค่ะ”
ทางด้านเกษตรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ในจังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมประมาณ 20,000 ไร่ มีผลผลิตกว่า 58,040 ตัน/ปี นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัด มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 145 ล้านบาท และนับเป็นความโชคดีที่ปทุมธานีมีตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาดใหญ่คือตลาดไท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ
เรื่องที่น่ายินดีของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมเวลานี้ คือ ราคากล้วยหอมทะยานสูงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลข้อฝ่ายปชส.ตลาดไทและพ่อค้าบอกตรงกันว่า เวลานี้กล้วยหอมขายส่งหวีละ 100-120 บาท เข่งหนึ่งมี 7 หวี ก็ตก 700 บาท เป็นราคาที่หอมหวลจริงๆ
เหตุที่ราคากล้วยหอมถีบตัวสูงขึ้น ได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจากฝ่ายตลาดของคิงฟรุทส์ว่า เพราะช่วงที่ผ่านมาเกิดภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง ลมพายุ โดยเฉพาะลมพายุนั้นทำให้ต้นกล้วยในพื้นที่ล้มเสียหาย ส่วนภัยแล้งในปทุมธานีจะปลูกกล้วยแบบร่องน้ำ อาจพอประคองอยู่ได้ แต่กับกล้วยในพื้นที่อื่นๆ อาจแห้งแล้งผลผลิตก็เลยอาจน้อยลงบ้าง
“ช่วงนี้ราคากล้วยหอมดีมาก แต่หลังจากนี้อาจลดลงบ้าง แต่คิดว่าลดลงก็ไม่ต่ำมาก เพราะช่วงสารทจีนความต้องการกล้วยหอมก็เพิ่มขึ้นหลายเท่า ปริมาณกล้วยหอมหลังสารทจีนจึงยังน้อยอยู่ ราคาก็ยังดีอยู่ และยังมีเทศกาลตรุษจีน รออยู่ข้างหน้า คิดว่าราคากล้วยดีไปจนถึงตรุษจีนค่ะ…จะเยอะล้นตลาดก็เดือน มี.ค. ค่ะ”
จากการคาดการณ์ดังกล่าว จำทำให้เห็นว่ากล้วยหอม ยังเป็นโอกาสทองของเกษตรกรอยู่ไม่น้อย(จริงอยู่ที่ว่าราคารับซื้อจากเกษตรกรอาจไม่สูงเท่าแต่ก็เป็นแนวโน้มที่ดี)…ซึ่งเกษตรจังหวัดได้ย้ำสุดท้ายว่า “กล้วยหอมปทุมธานี รสชาติดี…และตลาดมีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเขาเชื่อถือในรสชาติกล้วยหอมของเราว่าดีกว่าประเทศใดๆ”
เกษตรกรกรกล้วยหอม จึงขอเฮ ดังๆ ด้วยประการฉะนี้