ไปดูถึงต้น...มะพร้าวน้ำหอมชนะเลิศเกษตรแฟร์ 59 (พร้อมเคล็ดลับดูแลสวน)
มะพร้าวน้ำหอม 2 ต้นนี้ได้รับรางวัลที่ 1 และที่ 2 งานเกษตรแฟร์ 59...ช่างบังเอิญจริงๆที่มาอยู่คู่กัน

เมื่อคราวงานเกษตรแฟร์ปี 59 “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ได้นำรูปมะพร้าวน้ำหอมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาลงประกอบข่าว ก็ได้มีการถามไถ่กันว่าเป็นมะพร้าวจากสวนของเกษตรกรท่านใด…จากคำถามนี้จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปที่สวนของคุณบวร  ศาลาสวัสดิ์ เกษตรกรคนเก่งเจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมแห่ง ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

มะพร้าวน้ำหอมต้นที่ได้รางวัลชนะเลิศเกษตรแฟร์ 59
คุณบวร กับมะพร้าวน้ำหอมต้นที่ได้รับรางวัลที่ 2 และต้นข้างหลังที่ติดกันคือต้นที่ได้รางวัลที่ 1 (ชนะเลิศ) งานเกษตรแฟร 59

คุณบวรนั้นไม่เพียงคว้ารางวัลชนะเลิศในงานเกษตรแฟร์ครั้งที่ผ่านมา แต่ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยไปครองอีกด้วย เรียกว่าเขากำหนดให้ส่งได้เจ้าละไม่เกิน 3 ทะลาย ก็กวาดไปเกือบทั้งหมด จึงไม่ธรรมดาจริงๆ รวมทั้งรางวัลชนะเลิศงานต่างๆ โดยเฉพาะที่ภาคภูมิใจสูงสุดคือได้รับรางวัลชนะเลิศงานมหัศจรรย์มะพร้าวเฉลิมพระเกียรติ และได้รับโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ประวัติของคุณบวร เป็นคนดำเนินสะดวกโดยกำเนิด เคยเลี้ยงวัวนมและปลูกหญ้าเนเปียร์เมื่อปี 30 พอปี 40 ก็เปลี่ยนอาชีพมาปลูกผักต่างๆขาย แต่ทำไปทำมาร่างกายชักไม่ไหว เพราะปลูกผักต้องใช้สารเคมีต่างๆมาก จึงหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมในปี 48

บนพื้นที่ปลูกจำนวน 10 ไร่ ได้ออกแบบสวนให้เป็นการปลูกระบบร่องน้ำ ตามแบบฉบับของสวนในราบลุ่มน้ำภาคกลาง คือขุดร่องน้ำขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ลึก 3 จากปากร่องน้ำจะขุดเป็นรูปตัววีผสมตัวยูคือที่ก้นร่องน้ำจะเป็นพื้นเสมอขนาดกว้าง 1 เมตร เหตุที่ขุดแบบนี้ เพราะจะป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งช่วยได้พอสมควร

พันธุ์มะพร้าวที่ปลูกซื้อมาจากอ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร…สมัยนั้นก็มีหลายสวนที่ขายพันธุ์ แต่เทคนิคการเลือกของคุณบวร คือจะดูแปลงที่เพาะพันธุ์ว่าแม่พันธุ์ถูกต้องหรือไม่ ลูกดกหรือไม่ดก แม่พันธุ์อายุได้ไหม (ต้องอายุ 10 ปีขึ้นไป) และต้องถามด้วยว่าพันธุ์น้ำหอมแท้ไหม (คนเพาะพันธุ์ขายมักจะไม่โกหก เขาต้องรักษาคุณภาพของเขา…คุณบวรว่า)

ต้นมะพร้าวน้ำหอมสวยงามระดับเดียวกัน
ต้นมะพร้าวน้ำหอมสวยงามระดับเดียวกัน

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 40 ต้น โดยใช้ระยะปลูก 6X7 เมตร (เป็นระยะปลูกที่เหมาะสมที่สุดคุณบวรว่า แต่ถ้าเป็นระบบสวนที่ไม่ร่องน้ำให้ใช้ระยะปลูก 6X6 เมตร ซึ่งจะได้ประมาณ 50 ต้น)

ในการปลูกระยะแรกๆ อาจจะมีปัญหาเรื่องแมลงบ้าง เช่น ด้วงมะพร้าว แมงดำหนาม ฯลฯ ซึ่งช่วงที่ต้นยังเล็กๆ แต่ไม่รุนแรงนัก ราวปีที่ 3 มะพร้าวก็เริ่มทยอยให้ผลผลิตแต่ไม่มาก จะมากก็ประมาณปีที่  7 เป็นต้นไป (ปัจจุบันมะพร้าว 11ปีแล้ว)

จุดเด่นของสวนมะพร้าวคุณบวร คือการดูแลจัดการให้สวนสะอาดอยู่เสมอ ไม่เป็นที่หมักหมมของโรคแมลง รวมทั้งวัชพืชต่างๆ ต้นมะพร้าวทุกต้นเขียวเข้ม(คุณบวรใช้คำว่าใบดำ) แสดงถึงต้นที่มีความสมบูรณ์ ขนาดต้นสม่ำเสมอกันทุกต้น แทบจะไม่เห็นต้นที่เล็กกว่า อาจมีปลูกแซมต้นที่ตายบ้าง แต่มีน้อยมาก เพราะว่าการดูแลดีนั่นเอง

ต้นนี้อยู่ทางเข้าสวนได้รับรางวัลชนะเลิศงานองุ่มดำเนินสะดวกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ต้นนี้อยู่ทางเข้าสวนได้รับรางวัลชนะเลิศงานองุ่นดำเนินสะดวกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เคล็ดลับดูแลจัดการ…2 เรื่องหลัก

  1. ระบบปุ๋ย จะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 จำนวน 4 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) จำนวน 1 กิโลกรัม นำไปโรยรอบต้นๆละ ½ กิโลกรัม โดยจะใส่ปุ๋ยทุก 3 เดือนต่อครั้ง (สูตรปุ๋ยนี้ได้รับคำแนะนำจาก อ.ประทีป กุณาศล นักวิชาเกษตรอิสระ)

ปุ๋ยอีกตัวหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ ขี้ไก่ (ขี้ไก่ที่ผสมมากับแกลบ) จะใส่ปีละ 1 ครั้งๆละ 1 กระสอบต่อต้น (20 กิโลกรัม) วิธีการใส่นั้นจะใส่ระหว่างต้นข้างละ ½ กระสอบ โดยการเทเป็นกองๆ ถ้าเทใส่ทั้งกระสอบจะทำให้แกลบลุก(ร้อนจัด) เป็นขี้แกลบขาว จะไม่ได้คุณค่าทางอาหารพืช ส่วนถ้าใช้วิธีโรยรอบๆต้นก็จะทำเกิดชะล้างเวลาฝนตก ก็จะไม่คุ้มประโยชน์

นอกจากนี้ ปุ๋ยที่สำคัญคือ ทางมะพร้าวที่ร่วงลงมาจากต้น คุณบวรจะนำมาปูไว้บนร่องสวนระว่างต้นมะพร้าว และตรงริมร่องน้ำเพื่อป้องกันน้ำฝนเซาะตลิ่ง นอกจากจะเปื่อยเป็นปุ๋ยชั้นดี ยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับดินอีกด้วย

ทางมะพร้าวที่ร่วงหล่นจากต้นจะนำมาวางบนคันร่องเพื่อแปรสภาพเป็นปุ๋ยต่อไป
ทางมะพร้าวที่ร่วงหล่นจากต้นจะนำมาวางบนคันร่องเพื่อแปรสภาพเป็นปุ๋ยต่อไป
  1. ระบบน้ำ จะใช้เรือเครื่องรดน้ำวิ่งไปตามร่องน้ำ โดยจะให้ติดกัน 2 วัน เว้น 3 วัน รดน้ำเฉลี่ย 8 ลิตรต่อต้น กรณีหน้าฝนจะดูผิวดินว่าแห้งหรือชุ่มชื้นอย่างไร ถ้าฝนหยุดตกติดต่อกัน 3-4 วัน ก็ต้องรดน้ำเสริมบ้าง

เรื่องระบบน้ำนี้คุณบวรบอกว่าสำคัญมาก ปลูกมะพร้าวจำเป็นต้องมีน้ำใช้ตลอดปี โชคดีที่สวนของตนเองมีคลองน้ำตามธรรมชาติ จะทำเป็นประตูระบายน้ำไว้ แห้งเมื่อไรก็ทดน้ำเข้า และน้ำมากเมื่อไรก็สูบน้ำออก

การดูแลจัดการทั้ง 2 เรื่องนี้ ถือว่าสำคัญมากๆจะต้องดูแลให้สม่ำเสมอทั้งปี ทั้งเรื่องธาตุอาหาร(ใส่ปุ๋ย) และโดยเฉพาะในเรื่องระบบน้ำเป็นหัวใจ จะต้องรักษาระดับน้ำในร่องไม่ให้พร่องน้ำจนเกินไปคือวัดจากหลังร่องถึงผิวน้ำ ประมาณ 1 ½  เมตร โดยเฉพาะในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ช่วงนั้นแล้งจัด

“น้ำขาดเมื่อไรมะพร้าวลูกเล็กๆ อาจจะร่วงเกือบหมดเลย เราจะต้องรักษาระดับน้ำในร่องน้ำให้ได้ระดับอยู่เสมอ ไม่ว่าหน้าแล้งหรือหน้าฝน” คุณบวร ย้ำ และบอกว่าหากระดับน้ำสม่ำเสมอระบบรากของมะพร้าวจะสามารถหากินเองได้ด้วย

ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ในสวนมะพร้าวน้ำหอม
การทดลองทำระบบน้ำแบบสปริงเกอร์

ในเรื่องระบบน้ำนี้ ที่สวนคุณบวร ยังได้ทดลองการทำระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ โดยทางอาจารย์พงษ์นาถ นาถวรานันต์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ได้เข้ามาศึกษา เพื่อแก้ไขเรื่องการให้น้ำมะพร้าว ซึ่งภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศร้อนในช่วงที่ผ่านมามีผลกระทบมาก

สำหรับเรื่องโรคแมลง รวมทั้งกระรอกกระแต ไม่ถือว่าเป็นปัญหา อาจมีบ้างแต่ไม่มาก อาจจะเป็นเพราะที่สวนของคุณบวรมีการดูแลจัดการดี ไม่มีวัชพืชหรือต้นไม้อื่นๆเจือปนที่จะทำให้เป็นแหล่งหลบซ่อนของโรคแมลงต่างๆ

(การดูแลจัดการอื่นๆ ยังมีการลอกขี้เลนในร่องน้ำ จะทำการลอกด้วยรถแมคโคร ประมาณ 4-5ปีต่อครั้ง ขี้เลนที่ลอกจะเกลี่ยไว้บนร่องและส่วนหนึ่งจะนำมาตบแต่งคันร่องที่บางจุดดินอาจพังทลาย เพราะน้ำเซาะ)

ตัดขายทุก 20 วัน….ครั้งละ 3,000 ลูก

ผลจากการดูแลจัดการดี ทำให้สวนมะพร้าวน้ำหอมของคุณบวร มีผลผลิตคุณภาพสม่ำเสมอ ทั้งในแง่ของปริมาณหรือจำนวน โดยจะตัดขายทุก 20 วัน เฉลี่ยจะได้ครั้งละประมาณ 3,000 ลูก (ครั้งล่าสุดที่ตัดขายคือ 29 สิงหาคม 59 ได้จำนวน 3,400 ลูก) ซึ่งเป็นปริมาณที่มีความแน่นอนพอสมควร โดยเฉพาะในรอบปี 58-59 หน้าแล้งก็แทบไม่มีผลกระทบ นั่นหมายถึงแต่ละต้นยังรักษาระดับความดกไว้ได้ ทั้งนี้คุณบวรบอกว่าน่าจะเป็นเพราะการจัดการเรื่องน้ำนั่นเอง

คุณภาพในอีกแง่หนึ่ง คือขนาดลูกของมะพร้าวน้ำหอมจะต้องสม่ำเสมอ ไม่ใช่ลูกเล็กจนต้องนับ 2 ลูก ต่อ 1 ลูก และอีกเรื่องหนึ่งคือรสชาติความหวานและหอม คุณบวรบอกว่ามะพร้าวที่สวนจะมีความหวานประมาณ 7 Brix ไม่ว่าหน้าแล้งหรือหน้าฝนจะหวานเหมือนกัน เพราะตนเองส่งมะพร้าวประกวดแทบทุกหน้า และจะไม่มีการปรุงแต่งหรือดูแลมะพร้าวต้นใดต้นหนึ่งเป็นพิเศษ เพื่อส่งมะพร้าวเข้าประกวด

มะพร้าวน้ำหอมแปลงต้นแบบของกรมส่งเสริมการเกษตร
แปลงต้นแบบของกรมส่งเสริมการเกษตร

ณ วันนี้สวนมะพร้าวน้ำหอมของคุณบวรได้กลายเป็นแปลงต้นแบบของกรมส่งเสริมการเกษตร และมีผลงานในเรื่องการส่งมะพร้าวเข้าประกวดตามงานต่างๆมากมาย ชนิดที่ว่าส่งครั้งใดก็ได้รางวัลไม่เคยพลาด ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

อย่างเช่นเมื่อต้นปี 59 ได้ส่งมะพร้าวน้ำหอม จำนวน 3 ทะลาย เข้าประกวดในงานเกษตรแฟร์เป็นครั้งแรก ผลปรากฎว่ามะพร้าวน้ำหอมจากสวนคุณบวร คว้ามาได้ทั้ง 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ  รางวัลรองชนะเลิศ  และรางวัลชมเชย

ส่วนหนึ่งของรางวัลที่ได้รับในการประกวดมะพร้าวน้ำหอม
ส่วนหนึ่งของรางวัลที่ได้รับ และที่ถืออยู่ในมือนั้นคือโล่ชนะเลิศที่รับจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

“เหตุผลที่ทำให้ได้รับรางวัลในการประกวดต่างๆ ผมคิดว่าเป็นเพราะเราดูแลจัดการสวนดี ซึ่งมันจะคุมให้ผลผลิตของเราได้คุณภาพตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง ไม่ใช่ว่าจะดูแลช่วงใดช่วงหนึ่ง มันต้องดูแลกันทั้งปี” คุณบวร กล่าว

เกี่ยวกับการดูแลสวนมะพร้าวน้ำหอม คุณบวรบอกว่าเป็นงานที่ไม่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับอาชีพการเกษตรตัวอื่นๆที่เคยทำ ทั้งแรงงานก็ใช้เฉพาะในครอบครัว อาจจมีบางช่วงที่ต้องใส่ปุ๋ยก็อาจจะจ้างเป็นการเฉพาะครั้ง ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะมีพ่อค้าที่มารับซื้อจะเป็นผู้จัดการทั้งหมด

นอกจากสวนที่ “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ไปเยี่ยมชมแล้ว คุณบวรยังมีอีกสวนหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกันนัก จำนวน 60 ไร่ ซึ่งก็ปลูกมานานไล่เลี่ยกัน และได้ผลผลิตคุณภาพเช่นกัน

“ผมคิดว่าอาชีพทำสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่ได้อย่างยั่งยืน หากไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสร่าย อาจมีบางช่วงที่ราคาตกต่ำเช่นเมื่อปีที่แล้วเคยมีราคาต่ำสุดลูกละ 6 บาท และต่ำที่สุด 2 บาทที่เคยเจอ แต่มาปีนี้ ได้ราคาดีที่สุดเมื่อช่วงต้นปีลูกละ 30 บาท และพอช่วงเดือนกรกฎาคมที่มีผลผลิตออกเยอะก็ตกมาที่ลูกละ 12 บาท แต่ขายครั้งล่าสุดนี้ ราคาขยับขึ้นมาที่ลูกละ 15 บาท ซึ่งราคาปีนี้และอนาคตคิดว่าไม่น่าวิตกนัก เพราะในพื้นที่มีโรงงานรับซื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก”

ทั้งหมดนี้ คือคุณบวร ศาลาสวัสดิ์ เกษตรกรคนเก่ง ที่ทุ่มเทให้กับอาชีพจนประสบความสำเร็จ และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ ซึ่งในช่วงปลายปี 59 ทางเกษตรก้าวไกลดอทคอมมีโครงการความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจถึงในสวนจริง…เชิญติดตามได้

หมายเหตุ : ต้องการติดต่อคุณบวร โทร.087 3715777 หรือต้องการเรียนรู้การจัดการสวนมะพร้าวน้ำหอมในสไตล์คุณบวรอย่างจริงจัง…สอบถามรายละเอียด โทร. 081 3090599

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated