ภาครัฐ-เอกชน ร่วมคืนผืนป่า “เขาหัวโล้น” สู่การพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย อ.พร้าว เดินหน้าปลูกป่าประชาอาสาเฉลิมพระเกียรติฯ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย อ.พร้าว เดินหน้าปลูกป่าประชาอาสาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ฯ เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(เขาหัวโล้น) พร้อมเร่งวางแผนร่วมประชารัฐกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาอาชีพให้ชุมชนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

"เขาหัวโล้น" คือพื้นที่เป้าหมายคืนผืนป่าในครั้งนี้
“เขาหัวโล้น” คือพื้นที่เป้าหมายคืนผืนป่าในครั้งนี้

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมบนพื้นที่สูงชันไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านไร่ภายในระยะเวลา  20 ปี ตลอดจนเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรป่าไม้ และพระราชทานแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ โดยการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กรมอุทยานฯ โดยอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ได้ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องใน อ.พร้าว และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดินหน้าจัด “กิจกรรมปลูกป่าประชาอาสาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559” พื้นที่ 100 ไร่ บริเวณป่าต้นน้ำแม่แวน (บ้านสามลี่ หย่อมบ้านห้วยกันใจ- แม่ทรายขาว) หมู่ 11 ต.แม่แวน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

ภาคเอกชน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมคืนผืนป่า
ภาคเอกชน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมคืนผืนป่า

นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าว ยังได้มีดำเนินกิจกรรมสำคัญๆ ได้แก่ กิจกรรมการปักหลักรักษ์ป่าเพื่อแยกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ออกจากพื้นที่ที่อนุโลมให้ราษฎร์ทำกินกิจกรรมปลูกป่าแนวกันชน, กิจกรรมนาแลกป่า, การสร้างฝายชะลอน้ำ และกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินกิจกรรมดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ  ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่,  สำรวจ,  ลาดตะเวน, ทำแนวกันไฟ  เพาะชำกล้าไม้ การปลูกป่าฟื้นสภาพป่าพร้อมดูแล รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกของชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ และสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ ซึ่งราษฎรสมัครใจคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กับอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ภายหลังจากตัวแทนจากราษฎรและเจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าเป็นพื้นที่เปิดใหม่ที่รุกล้ำเข้าสู่เขตป่าอนุรักษ์

“ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับราษฎรในพื้นที่   และนำไปสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการของทุกภาคส่วนในแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าต้นเพื่อ แก้ปัญหาเขาหัวโล้น ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขตามยุทธศาสตร์การบูรณาการบริหารจัดการเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 7 ด้านหลักๆคือ  1. การสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน 2.จัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษาป่า 4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ  5.พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.  สร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้  และ 7. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพราะปัจจุบันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้อยู่ในขั้นวิกฤติ และเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาภัยแล้ง ภัยธรรมชาติต่างๆที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการปกป้องและอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ถือเป็นภาระกิจสำคัญที่ต้องช่วยกัน จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วน และภาคเอกชนต่างๆ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกผืนป่าต้นน้ำ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม และการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำของภาคเหนือและในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยก็จะสามารถสำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่รัฐบาลวางไว้” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว

ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในชุมชนมาร่วมคืนผืนป่าด้วย
ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในชุมชนมาร่วมคืนผืนป่าด้วย

ด้านนายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ของหย่อมบ้านห้วยกันใจ ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 B หรือป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) และแหล่งกำเนิดลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แต่จากปัญหาการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนเข้ามาในเขตพื้นที่อุทยาน จึงเป็นที่มาของเกิดปัญหาน้ำแห้งขอดในช่วงฤดูแล้งทำให้เกษตรกรในพื้นที่ราบไม่สามารถเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ยังเป็นที่มาของปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มที่รุนแรงในช่วงฤดูฝนอีกด้วย

“ในช่วงแรกของการแก้ไขปัญหาต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งกับราษฎร ซึ่งไม่เข้าใจและไม่ยอมให้ความร่วมมือ ทางอุทยานฯจึงได้ปรับแนวทางการดำเนินโดยเน้นการสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น พร้อมทั้งนำอุปกรณ์เครื่องอ่านค่าพิกัดดาวเทียม หรือ GPS ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์มาใช้เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และภาพถ่ายทางอากาศในปีปัจจุบัน เพื่อกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของราษฎรให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยทำควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การบูรณาการบริหารจัดการเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 7 ด้าน ซึ่งทุกขั้นตอนจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯกับตัวแทนของชุมชน พบว่าชุมชนยอมรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นำไปสู่ความสมัครใจในการคืนผืนป่าแล้วกว่า 1,300 ไร่ นอกจากนี้ชุมชนยังเกิดความตื่นตัวและร่วมกันกำหนดกติกาชุมชนเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกป่าอย่างจริงจังด้วย” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการขอคืนผืนป่าต้นน้ำจากพื้นที่ของหย่อมบ้านห้วยกันใจ-แม่ทรายขาว และความร่วมมือในการดูแลผืนป่าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 เกิดจากการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนตามยุทธศาสตร์การบูรณาการบริหารจัดการเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 7 ด้านของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสนับสนุนกิจกรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จากภาคเอกชนต่างๆ เช่น โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิอิออนประเทศไทย จำกัด, สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย,  ผู้ประกอบการแพ และผู้ประกอบการกิจกรรมพืชผลทางการเกษตร (SME)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated