หมายเหตุ-เกษตรก้าวไกล : เวลานี้มีโฆษณาเรื่องพันธุ์อินทผาลัมกันมาก และเกษตรกรหรือคนดังหลายคนหันมาให้ความสนใจ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มีคำถามตามมาว่า อนาคตจะยั่งยืนแค่ไหน…”เกษตรก้าวไกล” จึงขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และต่อไปนี้คือมุมมองและข้อคิดเห็นจาก คุณเปรม ณ สงขลา ผู้คลุกคลีกอยู่ในวงการเกษตรในฐานะบรรณาธิการใหญ่วารสารเคหการเกษตร (สำหรับท่านที่ต้องการแสดงความคิดเห็นส่งมาได้ที่ lungpornku2@gmail.com หรือ id line 0813090599)
การผลิตพืชตอบสนองผู้บริโภคยุคโลกกว้างทางแคบในปัจจุบันและอนาคตมีโจทย์ท้าทายมากๆ มีประเด็นฝากให้คิดสำคัญ 3 เรื่องคือ พันธุ์ พื้นที่ที่เหมาะสม และการจัดการ
1-2. เริ่มจากพันธุ์และพื้นที่…อินทผาลัมเป็นพืชเขตุแห้งความชื้นต่ำแบบทะเลทราย นึกภาพทะเลทรายอาหรับ ร้อนแต่คนต้องโพกหัวห่มผ้าเพราะร้อนแห้งผิวคนทนไม่ไหว เคยไปดูแหล่งผลิตอินทผาลัมเมดจูล พันธุ์ดีที่สุดอร่อยที่สุดที่เมืองอลิสสปริง ออสเตรเลีย ที่นั่นร้อนและแห้งแบบทะเลทรายมองไปทางไหนมีแต่ทราย แต่สวยงามอีกแบบ อุดหนุนชนิดแห้งมา 1 กล่อง ขอบอกว่าเนื้อหนาอร่อยจริงๆ นี่คือบ้านของอินทผาลัม
อิสราเอล ผลิตอินทผาลัมส่งออกต้องเขตุเข้ามาลึกด้านใน ส่วนเขตุติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนชื้นเกินไปไม่ดี ทั้งๆที่ห่างกันไม่ไกล
ดังนั้น เมื่อมองประเด็นเรื่องพันธุ์ สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศที่เหมาะสม ก็จะทราบว่าอินทผาลัมไม่ใช่พืชสำหรับบ้านเราในแง่การปลูกเพื่อการค้า
3. การจัดการการผลิต…อินทผาลัมเป็นพืชแยกต้นตัวผู้ตัวเมีย ต้องมีการผสมเกสร งานผสมเกสรเป็นงานที่ยากมากๆ โดยเฉพาะเมิ่อต้นโตขึ้นสูงขึ้น การผสมต้องชัดเจนว่าเกสรนั่นมาจากต้นที่ผ่านการคัดเลือกแล้วจึงมาทำการผสมต้นแม่ ผลจึงจะออกมาได้คุณภาพตามต้องการ ไม่หวานบ้างฝาดบ้าง พวกสกุลปาล์มจะมีเรื่องทีเรียก xenia effect หรือเดชบิดา คืออิทธิพลเกสรตัวผู้ส่งผลให้ผลิตคุณภาพเพี้ยนในฤดูนั้นเลยไม่ต้องรอนำมาปลูกให้ออกผล อินทผลัมจะออกผลเก็บเกี่ยวช่วงรามาดรของพี่น้องมุสลิมตรงกับช่วงฝนชุกแม้จะห่อผลช่วยก็ได้ระดับหนึ่งเพราะการห่อไม่สามารถแก้ความชื้นในอากาศได้ อินทผาลัมเป็นผลไม้นอนไคลเมติก ต้องสุกบนต้นจึงจะอร่อย เก็บมาแล้วจะไม่สุกต่อ แนวทางบ้านเราคือการพยายามขายเป็นผลสดซึ่งมีอายุการวางตลาดระยะหนึ่ง เมื่อผลเริ่มเหี่ยวก็หมดความอร่อยเทียบกับผลสดนำเข้าจาก ตูนีเซีย (จริงๆเป็นผลไม้ห้ามนำเข้าแต่มีการลักลอบผ่านแดน) อร่อยต่างกันมาก การขายเป็นผลสุกที่จะต้องเก็บสุกคาต้นซึ่งทำไม่ได้เพราะความชื้นสูงผลจะเน่าก่อนที่จะสุก การเก็บเกี่ยวก่อนต้องมานึ่งให้สุกหรือต้มน้ำตาลกลายเป็นอินทผาลัมเชื่อมน้ำตาล ความอร่อยที่แท้จริงก็หมดไป ตลาดอินทผาลัมของเราเองปัจจุบันจึงต้องขายตลาดล่างมูลค่าลดลงหรือไม่ได้ราคา หวานมากคนก็กลัวโรคเบาหวาน นอกจากนี้ประเด็นด้วงทำลายทั้งด้วงแรด ด้วงงวงในบ้านเรานี้ดุมากๆ อินทผาลัมด้วงงวงชนิดนี้ชอบมากๆ
อนาคตมีข้อจำกัดมาก แต่ก็อยากให้กำลังใจ…
กล่าวโดยสรุปอินทผาลัมพืชต่างถิ่นที่จะมาปลูกในเขตุร้อนแบบไทยของเรานั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งการผลิตและการตลาด เนื่องจากโลกกว้างทางแคบ โลกกว้างคือของดีจากต่างถิ่นนำเข้ามาดีกว่า ถูกกว่าอร่อยกว่า แล้วเราจะเดินไปอย่างไรในภาพรวมของประเทศ ส่วนในระดับบุคคลอาจจะมีช่องทางคือจำหน่ายต้นพันธุ์สำหรับผู้อยากลอง ซึ่งคนไทยชอบลองเสมอไม่คิดมาก หรือทำเป็นสวนท่องเที่ยวดึงนักท่องเที่ยวเพราะความสวยงาม ความดก มันดึงนักท่องเที่ยวได้ ส่วนตลาดเสรีทั่วไปทางมันแคบมากๆ คล้ายๆกับองุ่นซึ่งเป็นเมดิเตอร์เรเนียนมาปลูกบ้านเราในขณะนี้เหลือรอดแต่สวนเขตุท่องเที่ยวเพื่อผลิตไวน์ ซึ่งเหมาะสำหรับเศรษฐีที่มีความพร้อมมากกว่า องุ่นสวยๆราคาถูกจากถิ่นเดิมอร่อยราคาถูกเข้ามาเต็มตลาด แล้วเราจะสู้ไหวไหม อย่าลืมว่าประเทศไทยพยายามพัฒนาอินทผาลัมมายาวนาน นับแต่สมัยสถานีพืชสวนขอนแก่นมีการรวบรวมอิทผาลัมจากอเมริกามาทดลอง บริษัท บางกอกฟลาวเวอร์ฯ อ.ประมนต์ ธรรมศักดิ์ (นายไปรษณีย์อุดร-น้องอดีตนายกสัญญา ธรรมศักดิ์ สมัย 14 ตุลาคม 16) ก็ผลักดันโครงการอินทผาลัมร่วมกับสวนนงนุช ล้วนต้องล้มเลิกไปทั้งหมด (ติดตามร่องรอยได้)
ในความเห็นผมสำหรับพืชอินทผาลัมพืชต่างถิ่นชนิดนี้ช่องทางสำหรับบ้านเรามันมีช่องเดินที่แคบมากๆสำหรับคนปลูก แต่อยากให้กำลังใจสำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาพันธุ์จากพื้นแห้งแล้งเมดิเตอร์เรเนียนให้เป็นพืชร้อนชื้นแบบไทย ไม่ต่างจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวจ้าวจาก C3 เป็น C4 ทนแล้งแบบข้าวโพดข้าวฟ่างซึ่งต้องใช้งบหลายพันล้านบาท