เร่งเดินหน้าเกษตรอินทรีย์...ยึด “ยโสธรโมเดล” เป็นต้นแบบ หวังเพิ่มพื้นที่ทั่วประเทศ
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) นำทีมแถลงข่าว

นโยบายพัฒนาเกษตรอินทรีย์ คืบหน้า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ยโสธร Model สามารถขยายพื้นที่ผลิตข้าวอินทรีย์ กลุ่มเดิม มีสมาชิกเพิ่ม 450 ราย รวม 4,500 ไร่ ตามเป้า และ กลุ่มใหม่ มีพื้นที่เข้าร่วมตามแผน 20,000 ไร่ ด้านเกษตรอินทรีย์พื้นที่ทั่วไป มีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนละ 6.52 ไร่ เร่ง เดินหน้าใช้ผลสำเร็จของจังหวัดยโสธร สู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอื่นต่อไป

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในปีงบประมาณ 2559 เพื่อเพิ่มพื้นที่ปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลิตผล ผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรอินทรีย์ ให้สินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเป้าหมาย แบ่งเป็น ยโสธร Model มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 20,000 ไร่ และเป้าหมายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั่วไป เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่ง สศก. ได้ลงพื้นที่ 18 จังหวัด ติดตามผล พบว่า

ยโสธร Model สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างในจังหวัดยโสธร จำนวน 64 ราย ได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับจังหวัดยโสธร เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ 62 ราย ตามเป้าหมาย อบรมเกษตรกร 1,200 ราย (ร้อยละ 80 ของเป้าหมาย 1,505 ราย) เกษตรกรร้อยละ 83 มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เห็นว่าเกษตรอินทรีย์ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพิ่มคุณภาพผลผลิต ราคาผลผลิตสูงขึ้น ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี/สารเคมี โดยเกษตรกรร้อยละ 93 นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติ ได้แก่ การผลิตข้าว/พืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ย/สารอินทรีย์ชีวภาพ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด เป็นต้น

ด้านการขยายพื้นที่ กลุ่มเดิมต้นแบบ 10 กลุ่ม สามารถขยายพื้นที่ผลิตข้าวอินทรีย์โดยรับสมาชิกรายใหม่ 450 ราย พื้นที่ 4,500 ไร่ โดยได้เริ่มเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ในฤดูกาลผลิตนี้แล้ว และกลุ่มใหม่ มีพื้นที่เข้าร่วมตามแผน 20,000 ไร่  ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 56 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ร้อยละ 32 ระดับปานกลาง เนื่องจากการส่งเสริมแปรรูป ยังค่อนข้างน้อย อีกทั้งเกษตรกรเห็นว่า ภาครัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์และโทษของการใช้สารเคมี รวมทั้งผู้บริโภคยังสับสนระหว่างโครงการเกษตรอินทรีย์ กับการผลิตแบบ GAP เป็นต้น

เกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั่วไป สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างใน 17 จังหวัด จำนวน 411 ราย มีการดำเนินการอบรม สัมมนาความรู้ให้เจ้าหน้าที่ 829 ราย หรือร้อยละ 101 ของเป้าหมาย 820 ราย อบรม สัมมนาความรู้ ให้เกษตรกร/องค์กรเกษตรกร  ได้ 5,607 ราย หรือร้อยละ 67 ของเป้าหมาย 8,385 ราย ดำเนินการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ โดยจัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 2 ครั้ง 227 ราย ตามเป้าหมาย

เกษตรกรร้อยละ 87 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 97 ได้นำความรู้การผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมงอินทรีย์ที่ได้รับจากการอบรมไปปฏิบัติ  นอกจากนี้ พบว่า พื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนละ 6.52 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) พื้นที่ GAP เพิ่มขึ้นเป็น 2.07 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) พื้นที่เกษตรทั่วไปลดลงเหลือ 6.27 ไร่ (ลดลงร้อยละ 22)

ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 63 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ร้อยละ 31 ระดับปานกลาง เนื่องจากเห็นว่าการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตอินทรีย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดยังน้อย บางพื้นที่ราคาในระยะปรับเปลี่ยนเท่ากับราคาเกษตรทั่วไป ขาดการประชาสัมพันธ์ และตลาดยังไม่กว้าง ดังนั้น ควรเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ กำหนดแนวทางการขยายตลาดให้ชัดเจน โดยดึงผลสำเร็จในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องของจังหวัดยโสธร มาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดอื่น อีกทั้ง รัฐบาลควรช่วยเหลือหรือมีมาตรการจูงใจให้ความมั่นใจกับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนการผลิต

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated