กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนฝรั่ง พึงระวังอากาศร้อนชื้นและฝนตกหนักในระยะนี้ อาจจะเกิดโรคราดำจากเชื้อรา มักพบได้ในระยะที่ฝรั่งเริ่มติดผล เริ่มแรกจะพบคราบราดำเหนียวติดตามส่วนต่างๆ ของต้นฝรั่ง เช่น ใบ ยอด ช่อดอก หรือผล ทำให้บดบังการรับแสง หากพบแสดงอาการที่ช่อดอก จะส่งผลต่อการผสมเกสรทำให้ไม่ติดผล ดอกออกน้อย ดอกบานช้า ดอกบานผิดปกติ ดอกเหี่ยว และหลุดร่วงลงได้ กรณีพบแสดงอาการที่ผล อาจทำให้ผลสุกช้า สีผลไม่สม่ำเสมอ ผลเหี่ยว และหลุดร่วง
วิธีแก้ไขโรคราดำในฝรั่ง
สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคราดำ มักพบเชื้อราเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูดขับถ่ายไว้ใน ช่วงที่มีการระบาด โดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง หากพบโรคให้เกษตรกรพ่นด้วยน้ำเปล่า ล้างคราบราดำที่ติดตามส่วนต่างๆ ของต้นฝรั่งในระยะแทงช่อดอกออก เพื่อลดปริมาณเชื้อ จากนั้นควรพ่นตามด้วยสารกำจัดแมลง หากพบเพลี้ยจักจั่น พ่นด้วยสารกำจัดแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนของเพลี้ยหอย พ่นด้วยสารกำจัดแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และเพลี้ยแป้ง ให้พ่นด้วยสารกำจัดแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรพ่นสารในช่วงที่ดอกฝรั่งบานหรือเริ่มติดผลอ่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแมลงช่วยผสมเกสร และควรหยุดพ่นอย่างน้อย 7 วันก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต