เดินทางไปพังงาเที่ยวนี้ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมแปลงปลูกเมล่อน ของ กลุ่มเกษตรกรบ้านนากลางประชารัฐ สมาร์ทฟาร์ม ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนที่บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้อย่างลงตัว โดยมีนายสมบัติ ยกเชื้อ หรือ “ผู้ใหญ่หม้อ” เจ้าของรางวัลผู้ใหญ่ยอดเยี่ยมปี 55 เป็นแกนนำ
แปลงปลูกแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 24/2 หมู่ที่ 9 บ้านนากลาง ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง นอกจากจะมีเมล่อนเป็นพระเอกแล้ว ยังปลูกพืชผักชนิดอื่นๆ เช่น มะเขือเทศ ผักสลัด แตงกวาญี่ปุ่น ผักชี ฯลฯ
แม้ว่าแปลงปลูกเมล่อนจะไม่ใหญ่นัก รวมทั้งแปลงปลูกพืชผักชนิดอื่นๆก็ย่อมๆ แต่ได้ปลูกในโรงเรือนที่ทันสมัย ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ควบคุมการให้น้ำ และปุ๋ยแบบอัตโนมัติในระบบน้ำหยด และระยะเวลาการให้น้ำตามความต้องการของพืช และสภาพภูมิอากาศ
นี่จึงเป็นความน่าสนใจ ที่ทำให้มาเยี่ยมชมในวันนี้
เปิดแนวคิด ทำการเกษตรสมัยใหม่
สำหรับแนวคิดในการหันมาปลูกผัก ผลไม้ ในโรงเรือนระบบปิด เนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติ ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม วาตภัย ซึ่งเป็นภัยที่ควบคุมไม่ได้ จึงได้มีความคิดที่จะปลูกพืชระบบปิด ซึ่งสามารถควบคุมการผลิตได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
“ผมคิดว่าการทำเกษตรสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องทำในปริมาณหรือบนพื้นที่ที่มากนัก แต่จะต้องทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ ระบบโรงเรือนปิดและมีเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยเหลือจึงมีความเป็น ใช้คนน้อย ไม่ต้องใช้จอบใช้เสียมแบบแต่เก่า แต่จอบเวลานี้คือปากกา และเป็นเกษตรที่สะอาด ไม่สกปรก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…เราเริ่มจากแค่นี้จากเล็กๆก่อน ค่อยๆเรียนรู้ ที่สำคัญการปลูกในระบบนี้ สามารถกำหนดให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาด และกำหนดราคาจำหน่ายเองได้” ผู้ใหญ่หม้อ บอกถึงเหตุผลที่มาทำการเกษตรแบบนี้
เกี่ยวกับการลงทุนทำโรงเรือนเมล่อนและโรงเรือนปลูกผักต่างๆ ได้รับคำตอบว่า “ใช้เงินลงทุนครั้งแรกมาก หลายคนบอกว่าแพง แต่ด้วยเป้าหมาย และประสบการาณ์และมองถึงผลได้ที่คุ้มค่า และการสรัางอาชีพอย่างอื่นที่จะตามมา มั่นใจว่าเมื่อถึงจุดหมาย ทุกคนจะเข้าใจ”
และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง สมาชิกบางคนที่ไม่เห็นด้วยก็เริ่มเข้าใจ “ตอนนี้ ทุกอย่าง สำเร็จ 80% ทุกคนรับได้ และบอกว่า ผู้ใหญ่มองการณ์ไกล” ผู้ใหญ่หม้อ เล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจ
ขั้นตอนการปลูกและการจัดการ
การปลูก ปลูกในโรงเรือนระบบปิด ขนาด 6×24 เมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด …..สายพันธุ์ พันธุ์เจพีออแรนจ์ และฮามี่กั๋ว จำนวน 500 ต้น ปลูกแบบขึ้นค้างทำราว 2 ชั้น ราวห่างจากพื้นดิน 80-100 เซนติเมตร และชั้นสองห่างจากพื้นดิน 150-180 เซนติเมตร ราวชั้นแรกทำเพื่อแขวนผล ส่วนราวชั้นที่สองทำเพื่อพยุงส่วนยอด เมื่อเถายาวประมาณ 40 เซนติเมตร จัดเถาให้เลื้อยขึ้นค้าง โดยใช้เชือก เรียกวิธีการนี้ว่า การผูกยอด
การเตรียมดิน ใช้ขุยมะพร้าวละเอียด ขุยมะพร้าวสับ และดินเล็กน้อย อัตราส่วน 3:2:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอตะกั่วทุ่ง ได้ถ่ายทอดวิธีการขยายเชื้อ ทำให้ขณะนี้สามารถทำไว้ใช้เองได้ ซึ่งนอกจากเป็นการป้องกันกำจัดโรคพืชแล้ว เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย
การให้ปุ๋ยและน้ำ จะให้ปุ๋ยในรูปของสารละลายในน้ำ ให้พร้อมกับให้น้ำซึ่งใช้ระบบให้น้ำแบบน้ำหยด โดยใช้พลังงานจากแผ่นโซลาร์เซลล์ ที่สำคัญต้องหมั่นตรวจสอบระบบหัวน้ำหยดอย่าให้อุดตัน ควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ ระยะเวลาการให้น้ำตามความต้องการของพืชและสภาพภูมิอากาศ
การผูกยอดและการเด็ดยอด เมื่อเมล่อนเริ่มทอดยอด ควรใช้เชือกผูกหลวมๆ บริเวณใต้ข้อปล้องที่ 2-3 จากยอดยึดติดกับค้าง โดยผูกทุกๆ 3 ปล้อง ปกติค้างจะสูงประมาณ 150-180 เซนติเมตร ควรเด็ดยอดทิ้งเมื่อเมล่อนสูงประมาณ 140 เซนติเมตร
การตัดแขนงและไว้ผล เริ่มไว้ผลตั้งแต่ ข้อที่ 9-12 หรือสูงจากพื้นดิน ประมาณ 50 เซนติเมตร เด็ดแขนงที่แตกจากข้อที่ 1-8 ออกให้หมด ผลที่ไว้ให้เหลือใบไว้กับผล 2 ใบ และควรเก็บใบไว้เหนือผล 12-15 ใบ เพื่อไว้เลี้ยงผล เมื่อผลโตเท่าไข่ไก่ ให้เลือกผลที่ดีที่สุดไว้เพียง 1 ผล ที่เหลือเด็ดทิ้งหมด และเด็ดแขนงที่ออกจากข้อออกให้หมด
การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ไม่มีโรค แมลงรบกวน เนื่องจากปลูกในโรงเรือนระบบปิด และมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา
การเก็บเกี่ยว เมล่อนมีอายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 70-80 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ และฤดูปลูก
การตลาด ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ต่อรุ่น อยู่ที่ประมาณ 500 ผล ผลละประมาณ 0.8-1.7 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 150-190 บาท แล้วแต่เกรด สามารถทำรายได้ ประมาณ 75,000-100,000 บาท ต่อรอบการผลิต ได้เปิดให้ลูกค้าสั่งจองทางสื่อออนไลน์ และจำหน่ายที่ร้านค้าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจสั่งจองเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย อีกทั้งรสชาติหวาน หอม อร่อย
ส่วนพืชผักต่างๆ จะไม่ขายเป็น กิโล แต่จะขายเป็นถุง (จัดบู๊ท) และแปรรูปขายเป็นสลัดที่ร้านค้าของกลุ่ม
หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตร
นอกจากจำหน่ายผลผลิตแล้ว ที่แปลงปลูกจะมีการจัดทำมุมถ่ายภาพไว้ให้นักท่องเที่ยว มีร้านขายกาแฟสด และเครื่องดื่ม รวมทั้งสลัดผักที่เก็บผักจากแปลงปลูกไว้บริการอีกด้วย
“ผมตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยววันละ 30 คน และใช้จ่ายเงินคนละ 500 บาทก็พอ” นี่คือความหวังของผู้ใหญ่หม้อ หวังว่าจะทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนที่สมบูรณ์แบบทั้งด้านเกษตรอินทรีย์และการท่องเที่ยว
สำหรับ การขยายแปลงปลูกของกลุ่ม ขณะนี้ได้ขยายไปอีกจุดหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกัน โดยทำเป็นโครงการเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะปลูกฝักสลัดต่างๆ ยังปลูกข้าวโพด และเลี้ยงไก่ไข่ ไก่ดำ อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลจากความสำเร็จของการปลูกเมล่อนโครงการแรก ทำให้เกิดกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนในพื้นที่อีก 4กลุ่ม มีการรวมซื้อ รวมขาย และแปรรูปเพิ่มมูลค่า
นี่คือ ผู้ใหญ่หม้อ-สมบัติ ยกเชื้อ ผู้ริเริ่มปลูกเมล่อนแบบโรงเรือนในจังหวัดพังงา และแน่นอนว่ากิจกรรมการทำเกษตรสมัยใหม่จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง…หมู่บ้านไหนใครอยากทำตาม หรือต้องการจะไปศึกษาดูงาน ติดต่อได้โดยตรง โทร. (086) 279-5380…ผู้ใหญ่หม้อและคณะยินดีต้อนรับทุกท่านครับ
(ขอบคุณ : ดีเจ เบ้-ทวีศักดิ์ ดีเจ นิต-นิตยา Hero FM 95.25 พังงา และคุณหมู โง้วเม้งเฮง….ที่ช่วยนำทางครั้งนี้)