จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่มีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวในระยะยาวให้กับชาวนาทั้งประเทศ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้ขับเคลื่อนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าวของชาวนา เน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว ซึ่งใช้วิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต การบริหารจัดการผลิตและการตลาดไปพร้อมๆ กัน รวมถึงสนับสนุนการวางแผนการผลิตและปัจจัยที่จำเป็น ส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการกันเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐคอยแนะนำและให้คำปรึกษาเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตข้าว และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ประกาศในปี 2559
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมากรมการข้าวได้มีวางแผนส่งเสริมให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่และชุมชน พร้อมกับขยายผลเทคโนโลยีการผลิตข้าวแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพการผลิตปี 2559 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายให้กรมการข้าว ดำเนินการโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ขับเคลื่อนนโยบายในรูปแบบ “นาแปลงใหญ่” ด้วยการกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวในแต่ละชนิดพันธุ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต ส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการผลิตและการตลาดอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 อนุมัติเงินกู้จาก ธ.ก.ส. สำหรับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่วงเงินกลุ่มละ 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี (2560-2562) สำหรับเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินงานและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต
ตัวอย่างการดำเนินการพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้แก่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ มีจุดเด่นเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงและแหล่งข้าวเหนียวคุณภาพดี มีพื้นที่ปลูกครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ แต่ผลผลิตข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ อันมีสาเหตุมาจากการทำนาของพื้นที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และอีกประการคือการปลูกข้าวไม่ประณีต ทำนาหว่านรอฝน มีการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราสูง และขาดการปรับปรุงบำรุงดิน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวให้เหมาะสมและใช้วิธีการที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน
โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีการส่งเสริมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนและกระตุ้นความสนใจ ขยายผลการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพการผลิตข้าวสู่เกษตรกรและชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยเน้นไปที่การลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิต ด้วยการผลิตใช้เองและถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตมากขึ้น ภายใต้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพการผลิตปี 2559 โดยได้เผยแพร่องค์ความรู้และกระตุ้นให้ชาวนาหันมาทำการผลิตข้าวในรูปแบบนาแปลงใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการจัดงานวันรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว