“ไม้ยางนาในประเทศไทย ได้ถูกตัดฟันใช้สอยและทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่า หากมิได้บำรุงส่งเสริมและดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณไม้ยางนาอาจจะลดน้อยลงไปทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ” (พระราชปรารภพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2504)
ไม้ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb.) เป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่เคยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไม้สัก ทั้งในแง่ปริมาณที่ผลิตออกจากป่าและมูลค่าที่ส่งเป็นสินค้าออก ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยมากกว่าไม้สักเสียอีก ยางนามีพบกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจรดภาคเหนือ ดังปรากฏชื่อ อำเภอ ตำบล วัด ที่เกี่ยวข้องกับยางนาทั่วประเทศ เช่น อำเภอยางชุมน้อย (ศรีสะเกษ) ยางตลาด (กาฬสินธุ์) ท่ายาง (เพชรบุรี) ท่าสองยาง (ตาก) เป็นต้น ไม้ยางและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางมีประโยชน์แก่คนไทยมากมาย เช่น เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือน เป็นวัสดุที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและให้แสงสว่าง (ไต้) เป็นวัสดุที่ใช้ในการต่อเรือ และกันน้ำ (ผสมชันยาเรือและภาชนะใส่น้ำ) เป็นอาหารและแหล่งของอาหาร (เห็ดเผาะ เห็ดยาง และน้ำผึ้ง) และใช้เป็นสมุนไพรและประโยชน์อื่นอีกมาก แต่ประโยชน์ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ป่าไม้ยางนาเป็นป่าที่ให้ความร่มรื่น รักษาความชุ่มชื้น ร่มเงา และเพิ่มความสวยงามและความสมดุลแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่แพ้ป่าไม้ชนิดอื่น
นับตั้งแต่เสด็จฯ กลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ในช่วงฤดูร้อนเกือบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกจะเสด็จฯ ทางรถไฟ ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางถนนสายใต้ให้ดีและปลอดภัยขึ้น ได้เสด็จฯ โดยทางรถยนต์ โดยใช้เส้นทางผ่านนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี และเมื่อผ่านอำเภอท่ายาง (ปัจจุบัน ประมาณระหว่างกิโลเมตรที่ 178-179) จังหวัดเพชรบุรี สองข้างทางจะมีต้นยางนาขึ้นอยู่จำนวนมาก เป็นระยะทางกว่า 2-3 กิโลเมตร จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่ายางนานี้ไว้เป็นสวนสาธารณะ และอนุรักษ์ป่ายางนาธรรมชาติ แต่ทางราชการไม่สามารถดำเนินการจัดถวายตามพระราชประสงค์ได้ เพราะมีราษฎรมาจับจองทำสวน ทำไร่ ในบริเวณนั้นจำนวนมาก จะต้องใช้จ่ายค่าทดแทนในการโยกย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดหางบประมาณขณะนั้นได้
พระองค์จึงได้ทรงทดลองปลูกยางนาด้วยพระองค์เอง โดยรับสั่งให้มหาดเล็กไปเก็บเมล็ดยางนาบริเวณนั้น แล้วทรงเพาะยางนาส่วนหนึ่งในกระถาง ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้นำเมล็ดยางนาจำนวนหนึ่งมาเพาะที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน บริเวณใต้ต้นแคบ้านบ้าง ในแปลงเพาะชำบ้าง เมื่อเมล็ดงอกแล้วจึงได้ย้ายลงปลูกในกระถาง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสถานที่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยและทดลองปลูกยางนา โดยมี ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส คณบดีคณะวนศาสตร์ ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะผู้สนองโครงการพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ยังแปลงทดลองเพื่อทอดพระเนตรนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมแปลงปลูกยางนา
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงช่วยเตรียมแปลงทดลองพร้อมพระสหายร่วมชั้น โรงเรียนจิตรลดา อย่างแข็งขันและสนพระทัย
ต่อมา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 ซึ่งเป็นคล้ายวันประสูติ ปีที่ 9 ของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ได้ทรงปลูกกล้ายางนาที่เพาะไว้เป็นปฐมฤกษ์ในแปลงทดลอง พร้อมกับคณาจารย์และนิสิตคณะวนศาสตร์ ขณะนั้นกล้ายางนามีอายุ ประมาณ 4 เดือน และมีจำนวนที่ปลูกทั้งหมด 1,096 ต้น โดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น และระหว่างแถวห่างกัน 2.50×2.50 เมตร เป็นพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน แต่ใช้เพื่อการศึกษาและเก็บข้อมูลเพียง 432 ต้น เท่านั้น
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณาจารย์และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาวัดขนาดต้นยางนาและปลูกต้นไม้ประจำปีในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทุกปี และบางปีพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและคำแนะนำด้วย
ผลการวิจัยโครงการต่างๆ เบื้องต้นพอสรุปได้ว่า กล้าไม้ยางนาเมื่อยังเล็กอยู่เป็นไม้ชอบร่มปานกลาง และจัดว่าเป็นไม้ที่เติบโตเร็วพอสมควร เมื่ออายุได้ 2 ปี 4 เดือน ปรากฏว่ามีความสูงเฉลี่ย 1.40 เมตร และมีอัตราการรอดตาย 93.50 เปอร์เซ็นต์
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาและในแปลงทดลองปลูกยางนา ในลักษณะป่าไม้สาธิต กับได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิต เมื่อ พ.ศ. 2508 และสร้างสำนักสงฆ์ด้วยไม้มะค่าทั้งหลัง ที่บริเวณสวนป่ายางนา เมื่อ พ.ศ. 2524
สำหรับต้นยางนา เมื่อมีอายุระหว่าง 5-10 ปี ได้มีการขุดย้ายออกไปปลูกบริเวณอื่นๆ เพื่อขยายระยะระหว่างแถวและระหว่างต้นกับได้พระราชทานแก่ผู้ที่ขอมา เพื่อนำไปปลูกในสถานที่ต่างๆ เช่น วัดและโรงเรียน เป็นต้น
ปัจจุบัน แปลงทดลองยางนาแปลงนี้ได้กลายเป็นป่ายางนาที่ใหญ่ และมีเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ผ่านไปตามถนนพระรามที่ 5 หรือถนนศรีอยุธยา จะสังเกตเห็นป่ายางนาแปลงนี้ทางด้านมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ระหว่างสนามม้าราชตฤณมัย วัดเบญจมบพิตร และกองบัญชาการทหารสูงสุด) แต่ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจจากการวัด 3 ครั้ง ดังนี้
- เดือนตุลาคม 2526 อายุ 22 ปี ความสูงเฉลี่ย 11.98 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางวัดความสูงเพียงอกเฉลี่ย 18.00 เซนติเมตร
- 17 ธันวาคม 2530 อายุ 26 ปี ความสูงเฉลี่ย 13.30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางวัดความสูงเพียงอกเฉลี่ย 13.30 เซนติเมตร
- 4 สิงหาคม 2533 อายุ 29 ปี ความสูงเฉลี่ย 13.07 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางวัดความสูงเพียงอกเฉลี่ย 16.02 เมตร
ซึ่งปรากฏว่า ค่าเส้นผ่านศูนย์กลางวัดความสูงเพียงอกเฉลี่ยจะลดลง และค่าความสูงเฉลี่ยไม่สูงเท่าที่ควรและเพิ่มไม่มากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากการแก่งแย่งแข่งขันตามธรรมชาติ รวมทั้งต้นยางนาขนาดใหญ่บางต้นถูกลมพัดล้มลง จึงต้องตัดออก แล้วนำยางนาและต้นไม้อื่นที่มีขนาดเล็กมาปลูกแทน
นอกจากนี้ อาจจะเป็นการแสดงว่า การปลูกยางนาในบริเวณกรุงเทพมหานคร ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง (ประมาณ 1.00-1.50 เมตร จากผิวดิน) ไม่เหมาะกับการปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากนัก เพราะระบบรากไม่สามารถชอนไชลงลึกและขยายตัวได้เหมือนการปลูกในที่ดอน (ระดับน้ำใต้ดินต่ำ) ทำให้ระบบรากไม่แข็งแรงและไม่ทนทานต่อลมพายุ และระบบเรือนยอดไม่สามารถเติบโตพัฒนาได้อย่างเต็มที่เหมือนในถิ่นกำเนิดเดิม
แปลงทดลองปลูกไม้ยางนาในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแปลงนี้ ปัจจุบัน (17 พฤศจิกายน 2542) มีอายุย่างเข้าปีที่ 39 แล้ว นอกจากจะเป็นแปลงวิจัยและทดสอบทางวนวัฒนวิทยา ตามพระราชดำริและสนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังได้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาไม้ป่า เช่น คณะวนศาสตร์ กรมป่าไม้ และศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ได้เกิดแรงดลใจให้ริเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับยางนาและพืชต่างๆ ในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocapceae) อีกมากตามมา เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความเจริญเติบโตของกล้ายางนาในธรรมชาติ ที่ป่าภูหลวง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา การศึกษาสรีรวิทยาของไม้ยางนาในป่าธรรมชาติที่สถานีวนกรรมพุแค สระบุรี การรวบรวมและเปรียบเทียบสายพันธุ์ยางนาที่หาดวนกร ประจวบคีรีขันธ์ การวิจัยวิธีการเพาะกล้า การเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกล้ายางนา การศึกษาวิธีการปลูกยางนาร่วมกับไม้ชนิดต่างๆ ได้แก่ ไม้สัก แดง ตะเคียนทอง หรือร่วมกับไม้ยูคาลิปตัส สะเดาเทียม สะเดา หรือร่วมกับพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ กระถินณรงค์ กระถินเทพา แคบ้าน และกระถินยักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีงานอนุรักษ์ไม้ยางนาทั้งในสภาพธรรมชาติ (In situ) และสภาพนอกถิ่น (Ex situ) ของกรมป่าไม้ และของเอกชนอีกเป็นจำนวนมากในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผลงานเหล่านี้ค่อยทยอยเกิดผลต่อการอนุรักษ์และรณรงค์ให้มีการปลูกยางนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ได้ทรงมีพระเนตรอันกว้างไกล พระราชทานพระราชปรารภและพระราชดำริให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สนองเบื้องพระยุคลบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ซึ่งยังประโยชน์ให้เกิดแก่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และปวงประชาชนชาวไทยทั่วประเทศตามมาเหลือคณานับ