“แกร่ง…เพื่อทุกสวน” คือกิจกรรมของ “ฟอร์ดเรนเจอร์” ที่ได้จัดขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนและเกษตรกร ได้ไปสัมผัสสวนเกษตรต่างๆ…วันนี้เป็นคิวของการลุยสวนมะละกอ ที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
เจ้าของสวนมีนามว่า “สมชาย แซ่ตัน” อายุ 49 ปี เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชผสมสาน จำนวน 40 ไร่ เช่น มะนาว มะละกอ เงาะ ทุเรียน กล้วย มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ แต่ที่จะหยิบมาพูดคุยในวันนี้ ก็คือ การปลูกมะละกอที่มีการปลูกกล้วยแซม…
เหตุที่ให้ความสำคัญกับมะละกอ ซึ่งปลูกจำนวน 18 ไร่ เพราะสวนแห่งนี้ เขามีเทคนิคในการปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตสูง โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี รวมถึงการทำตลาดให้ประสบความสำเร็จ
คุณสมชาย เล่าว่า ตัวเขาเองนั้นเป็นคนในพื้นที่ ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค เกิดและโตที่นั่น เรียนจบ ปวช. ทางด้านไฟฟ้ากำลัง ทำงานบริษัทมา 13 ปี ก่อนที่จะออกมารับทอดอาชีพเกษตรกรจากพ่อแม่
“ผมออกมารับช่วงทำสวนมะม่วงนอกฤดู จากที่ทำน้อยๆ ก็เพิ่มเป็น 5 ไร่ 10 ไร่ และออกไปเช่าที่ของคนอื่นปลูกด้วย ช่วงที่สำเร็จก็สามารถทำส่งออกได้ แต่ทำไปทำมามีปัญหาเรื่องสารบางตัวต้องห้ามก็ทำให้ได้รับผลกระทบและฝนฟ้าก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาลจึงเลิกทำและขาดทุนจำนวนหนึ่ง”
จากมะม่วงที่ขาดทุนก็มาปลูกมะนาว แต่คุณสมชายถือว่าได้กำไร เพราะได้ใช้วิชาความรู้จากการทำมะม่วงนอกฤดู มาทำมะนาวนอกฤดู จนวันนี้ก็ยังทำอยู่และไปได้ดี…
ในระหว่างที่ปลูกมะนาวก็ปลูกมะละกอฮอลแลนด์และมะละกอส้มตำแซมไปด้วย
“เริ่มปลูกมะละกอฮอลแลนด์ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ใช้พื้นที่ 5ไร่ ปลูกไร่ละ170 ต้น มีแม่ค้านำเมล็ดพันธุ์มาให้ปลูก ราคาเมล็ดตอนนั้นแพงมากกิโลกรัมละ 2 หมื่นบาท แต่แม่ค้าก็มารับซื้อผลผลิตประกันราคา สมัยนั้นเกรดเอ ราคากิโลกรัมละ 7บาท เกรดบี 2บาท ส่งแม่ค้า 1ปีก็ประสบปัญหาโรคไวรัสวงแหวน เลยเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง”
แม้จะบาดเจ็บจากโรคไวรัสวงแหวน ซึ่งเป็นโรคร้ายของมะละกอ แต่คุณสมชายก็ไม่ยอมแพ้ ได้พยายามหาทางป้องกันทั้งหลักวิชาการ และภูมิปัญญาชาวบ้าน…
สุดท้ายมาค้นพบว่า การปลูกกล้วยแซมมะละกอ น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดโรคไวรัสวงแหวนได้
“ที่มาที่ไปกับการปลูกกล้วยแซมคือเริ่มแรกได้ปลูกทดแทนมะละกอที่เป็นโรคหวังคุมดินปรากฎว่าหลังจากปลูกไปได้ระยะหนึ่งกล้วยกับมะละกอจะเกื้อกูลกันทำให้มะละกอเป็นโรคน้อยลงหรือแทบจะไม่เป็นโรคเลยและทำให้ผลผลิตดีขึ้นทั้งกล้วยกับมะละกอลดปัญหาเรื่องแมลงเข้ามาทำลายพื้นดิน และเก็บความชื้นได้นานขึ้น แถมวัชพืชก็น้อยลง”
ตรงประเด็นที่ว่าปลูกกล้วยแซมจะช่วยลดโรคไวรัสวงแหวนได้จริงหรือ ในทางวิชาการอาจจะไม่ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ แต่นี่คือภูมิปัญญาที่เกิดจากการสังเกตของคุณสมชาย และเชื่อมั่นว่าสามารถป้องกันโรคได้จริงๆ
หลักการปลูกกล้วยแซมมะละกอ จะใช้ระยะปลูก 3×3 เมตร โดยจะปลูก 1 ต้น แซมแถวเดียวกับมะละกอ จะไม่ปลูกระหว่างร่อง เพราะจะทำให้ยากต่อการเข้าไปบริหารจัดการ
แต่จะปลูกกล้วยได้ก็ต่อเมื่อปลูกมะละกอไปแล้ว 5 เดือน หากปลูกพร้อมกันจะทำให้ต้นกล้วยโตเร็ว จะทำให้ใบกล้วยไปบังแสงต้นมะละกอที่โตช้ากว่าได้
อีกเรื่องหนึ่งพันธุ์กล้วยที่ปลูกควรใช้กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยเล็บมือนาง ไม่ควรใช้กล้วยน้ำว้า เพราะกอใหญ่จะบังร่มเงาของมะละกอ ทำให้มะละกอเสียหายเจริญเติบโตได้ไม่ดี
สำหรับการดูแลจัดการก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องดูแลอะไรมากแต่ต้องหมั่นแต่งใบกล้วยและหน่อกล้วยเหลือกอละไม่เกิน 2ต้น แต่ละต้นเหลือใบไม่เกิน 7ใบ วิธีการจัดการแบบนี้จะทำให้การรดน้ำสปริงเกอร์ลดลงจาก 3วันครั้ง เป็น 5วันครั้งในช่วงแล้ง
ส่วนเรื่องการใส่ปุ๋ยมะละกอ จะใช้ปุ๋ยเคมี สลับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมียี่ห้อ yara grow how สูตรเสมอ 16-16-16 + ปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตราส่วน ปริมาณปุ๋ยเคมี 1-1 ½ กำมือต่อต้น (ขึ้นอยู่กับขนาดต้นและอายุต้น) ปุ๋ยอินทรีย์จะเพิ่มมากว่าเคมี 1 เท่าตัว จะใส่สลับกันทุก 10 วัน และปุ๋ยคอก คือขี้ไก่จะใส่ทุก 3-4 เดือนต่อครั้งละ 1กระป๋องปูนต่อ 5 ต้น จะโรยรอบๆต้น มีข้อแม้ทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยจะต้องรดน้ำทันที
มาคุยกันเรื่องผลผลิตบ้าง
“ผลผลิตต่างๆ จะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน โดยเฉพาะมะละกอในช่วงที่ผ่ามมาราคาดีมาก สูงสุดที่หน้าสวนกิโลกรัมละ 48 บาท (ล่าสุด 10/10/59 ราคาลดลงเหลือ 35 บาท) ส่วนกล้วยหอม ราคาหวีละ 80 บาท และกล้วยไข่ กิโลกรัมละ 20-25 บาท จะขายให้กับแม่ค้าขายปลีกในตลาดภายในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะได้ราคามากกว่าขายส่ง”
นอกจากนี้ยังเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมอีกด้วย ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาชมสวนจำนวนมาก จึงนำผลผลิตมาขายในสวน เป็นรายได้เสริมอีกทาง
ข้อคิดเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรชาวสวน คุณสมชาย บอกว่า
“อยากให้เกษตรมือใหม่เริ่มทำจากน้อยๆ และศึกษาหาข้อมูลที่แท้จริง และค่อยๆขยายตามกำลังสติปัญญาที่ตนเองมี จะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อย และจะประสบความสำเร็จ โดยเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอิงธรรมะ อย่าโลภ รู้จักแบ่งปัน โดยเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วให้นำองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตัวเองทั้งข้อดีและข้อเสียนำมาแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดให้กันละกันเพื่อเป็นวิทยาทาน”
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ สามารถไปศึกษาดูงานหรือท่องเที่ยวได้ที่สวนเลขที่ 296 หมู่ที่ 4 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
“ใครที่สนใจจริงๆ ขอให้มาที่สวน ถ้าโทร.ถาม ไม่ค่อยสะดวก เพราะไม่ค่อยมีเวลา…ผมพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้เป็นวิทยาทาน ถือว่าทำกุศลได้บุญ สอบถามได้ทุกเรื่อง”เจ้าของสวนผู้ใจดีกล่าวในที่สุด
หมายเหตุ : เบอร์โทร.ในการนัดหมายไปดูงานสวน โทร. 081 9817355…ขอย้ำว่าให้เป็นเรื่องของการไปศึกษาดูงานเท่านั้น