ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาถือได้ว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยม มีการปลูกกันทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคใต้ของประเทศไทย มีเกษตรกรปลูกอยู่หลายราย หนึ่งในนั้นก็คือ คุณฐิติวัชร์ สิทธิศิรินนท์ โดยแปลงปลูกตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งเตาใหม่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี
ปกติแล้วคุณฐิติวัชร์ ทำงานเป็นด่านป่าไม้ ประจำอยู่ที่ท่าน้ำพระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่อีกอาชีพหนึ่งก็คือการเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว เดิมนั้นปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกยางพารา ซึ่งตอนนี้ก็ยังปลูกอยู่ แต่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 10 ไร่ มาปลูกมะพร้าวน้ำหอม จำนวนประมาณ 500 ต้น
“หลังโค่นยางพาราที่หมดอายุ ดูสภาพพื้นที่ดินเป็นดินร่วนปนทรายระดับใต้ดินไม่ลึกเป็นที่ลุ่มฤดูฝนน้ำซับหน้าดิน เลยคิดจะปลูกพืชที่มีระบบรากไม่ลึกมาก ตอนแรกจะปลูกปาล์น้ำมัน แต่มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชอาหารให้ผลผลิตทั้งปี น่าสนใจ เลยตัดสินใจปลูกมะพร้าวน้ำหอมครับ” คือเหตุผลที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม
ในระหว่างที่รอให้มะพร้าวน้ำหอมเติบโตและให้ผลผลิต คุณฐิติวัชร์ ก็มองหาปลูกพืชแซม เพราะต้องการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จึงตัดสินใจปลูกมันขี้หนู เป็นมันหัวเล็กๆสีดำๆ ต้มกินอร่อย คนเกาะสมุยชอบมาก และปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้ โดยปลูกระหว่างแถวมะพร้าว ที่มีระยะปลูก 6×6 เมตร
“เพราะผมชอบรับประทานมะละกอ และได้ชิมมะละกอเรดเลดี้แล้วชอบมาก เพราะรสชาติดีมาก” นี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงเลือกปลูกมะละกอพันธุ์นี้
อีกเหตุผลที่ตัดสินใจปลูกมะละกอ เพราะคุณฐิติวัชร์ ทำงานประจำรับราชการไม่มีเวลามากนัก ก็เลยเลือกปลูกสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการจัดการน้อยที่สุดและให้ผลผลิตเร็วที่สุด
ในการปลูกมะละกอนั้น คุณฐิติวัชร์ บอกว่าไม่ได้มีความรู้ เรียกว่าไม่เคยปลูกมาก่อนเลย และฟังมาว่าปัญหาของมะละกอคือการจัดการเรื่องโรคต่างๆ จึงคิดว่าจะต้องหาพันธุ์ที่มีคุณภาพต้านทานโรคได้ดี
“ผมเลยซื้อพันธุ์มะละกอแบบเพาะเนื้อเยื่อมา 270ต้น ต้นละ 75บาท โดยเพื่อนเป็นผู้นำมาขายให้ คิดว่าเป็นพันธุ์ที่แพงกว่าเขาหน่อย แต่อยากได้คุณภาพและความมั่นใจว่าปลูกแล้วไม่มีปัญหาเรื่องโรคให้ต้องดูแลมากนัก”
อย่างที่บอกแล้วว่า ปลูกมะละกอครั้งแรกไม่ความรู้เรื่องมาก่อนเลย จึงหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต และจากเพื่อนๆที่ปลูก แนะนำกันมาอีกที
นอกจากสายพันธุ์ที่ดีแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย ฯลฯ
“การปลูกผมใช้ปุ๋ยหมักที่ทำรองก้นหลุม และใส่รอบต้น เพราะดินร่วนทรายที่ใช้ปลูกยางพารามาเกือบ 30ปีจะขาดอินทรีย์วัตถุ จึงเน้นเพิ่มปุ๋ยหมัก เสริมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในช่วงเดือนแรก และปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ในเดือนที่สอง และในเดือนที่สาม จะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 โดยใส่ครั้งละนิดหน่อย”
ในเรื่องระบบน้ำก็สำคัญเช่นกัน จะมีสระเก็บน้ำที่ขุดไว้ และต่อท่อน้ำเข้ามาทำเป็นระบบน้ำหยด
“ตอนเดือนที่สาม รดน้ำวันละสองครั้ง เช้า เย็น ด้วยระบบการรดน้ำตั้งเวลาอัตโนมัติ ไม่ต้องยุ่งยาก ไม่ต้องต้องเฝ้ารดทุกวัน” คุณฐิติวัชร์ อธิบายวิธีการจัดการ
เวลาผ่านไป 7 เดือน มะละกอที่ปลูกก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยเก็บวันเว้นสองวันบ้าง เว้นสามวันบ้าง
“พอได้ผลผลิตก็ตื่นเต้นพอสมควร เพราะเราไม่เคยปลูกมะละกอมาก่อน เคยเห็นแต่มะละกอพื้นบ้านที่ต้นสูงๆ จะเก็บผลผลิตทีก็ต้องใช้ไม้สอย แต่นี่ลูกมะละกอรุ่นแรกอยู่เกือบติดดินเลย”
ผลผลิตส่วนใหญ่จะขายด้วยตนเอง และส่วนหนึ่งส่งแม่ค้าบ้างเล็กน้อย ราคาผลผลิตขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่ก็ถือว่าที่ผ่านมาได้ราคาดีทีเดียว
“ราคามะละกอ ขายส่ง 20-35บาทต่อ กิโลกรัม ขายปลีกกิโลกรัมละ 50-80 บาท ถ้าแพ็กกล่องได้ราคาเพิ่มอีกครับ”
ได้ถามคุณฐิติวัชร์ ว่ามีความพอใจหรือไม่ต่อผลผลิตที่ได้ ก็ได้รับคำตอบว่า
“ตอนนี้มะละกอออกรุ่นที่สามแล้ว เฉลี่ยผลผลิตสามรุ่นประมาณ 100 ก.ก.ต่อต้น ผมว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนนะ ยิ่งผมรับราชการอยู่ด้วย มีเวลาก็จำกัด กับผลผลิตที่ได้ รายได้ที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่น่าพอใจครับ”
เกี่ยวกับปัญหาการปลูกมะละกอ คุณฐิติวัชร์ บอกว่าเท่าที่ปลูกมาคิดว่ามีปัญหาน้อย เรื่องโรคและแมลง ที่เคยกลัวก็ยังไม่เจอแรงๆ
“ผมเน้นการป้องกันเป็นหลัก คือทำให้ต้นไม้แข็งแรงต้านทานโรค แมลงที่เจอมีเพลี้ยแป้งนิดหน่อย ใช้สารเคมีบ้างเล็กน้อย…ผมคิดว่ามะละกอจัดการง่าย ถ้าปลูกไม่มาก ผมคิดเองนะ แต่ต้องทำความเข้าใจบ้าง” คุณฐิติวัชร์ บอกกันตรงๆ
นอกจากมันขี้หนู มะละกอ ยังปลูกเผือกเป็นพืชแซม และล่าสุดยังปลูกข้าวโพด แซม 2,000 ต้น และอนาคตจะปลูกมะขามป้อมเพิ่มอีก
“ผมใช้หลักความพอเพียง ปลูกของกินได้ คิดว่าจะปลูกสักสิบอย่าง ผสมผสานกัน…คือทำการเกษตรแบบในหลวงแนะนำครับ”
สรุปว่า ใครอยากปลูกมะละกอ ปลูกมันขี้หนู ปลูกข้าวโพดเป็นพืชแซม ก็ลองปรึกษาหารือกันได้ แม้จะเป็นมือใหม่ แต่ก็มีหัวใจพอเพียงที่จะแบ่งปันความรู้ โทร. 095 1959353 ครับ