วีเอ็นยูฯ ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งเอเชีย ครั้งที่ 5 หรืองาน “ฮอร์ติ เอเชีย 2017” ร่วมกับ วารสารเคหการเกษตร และจังหวัดกาญจนบุรี เดินหน้าโครงการเกษตรสัญจร เปิดเสวนา “โอกาสทางการเกษตรของเกษตรกรไทย และ โมเดลเทคโนโลยีไต้หวัน สู่การปรับตัวของเกษตรกรไทย” เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุมแควใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก “ผู้ว่าหัวใจเกษตร” นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนายมนตรี เชื้อใจ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี, อาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการ วารสารเคหการเกษตร และคุณชินกฤต วิภาวกิจ ผู้จัดการโครงการอาวุโส ฮอร์ติ เอเชีย 2017 ร่วมแบ่งปันความรู้และชี้แนะแนวทางการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการเกษตรของไทย ปิดท้ายด้วยคุณประเมศร์ สมพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงพาณิชย์ บริษัท เนต้าฟิม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำระบบน้ำทางการเกษตรของโลกจากประเทศอิสราเอล มาให้ความรู้เรื่องระบบน้ำ ซึ่งได้มีเกษตรกรและสื่อมวลชนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม
สานพลัง…พัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้
นายมนตรี เชื้อใจ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงานพร้อมเผยว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยกลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นการสานพลัง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม นับจากนี้ไป ทุกภาคส่วน ของประเทศจะร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุน และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน โดยใช้ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน คือ 1.ยึดหลักธรรมาภิบาล 2.ใช้นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ยกระดับทุนมนุษย์ 4.การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง ดังนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะที่มีบทบาทความรับผิดชอบดำเนินการส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ความสำคัญของเทคโนโลยีและโอกาสทางการเกษตรของเกษตรกรไทย’’ และ “โมเดลเทคโนโลยีไต้หวัน สู่การปรับตัวทางการเกษตรของไทย’’ โดยได้เชิญวิทยากรผู้รู้และมากด้วยประสบการณ์มาร่วมเป็นวิทยากร มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ และสามารถนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้าใจพัฒนาศักยภาพผลผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรแนวใหม่และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และพัฒนาความรู้ความสามารถของเกษตรกรทั้งยังเป็นการพบปะของเกษตรกรกับผู้ประกอบการปัจจัยการผลิต
พัฒนาเกษตร 4 ด้าน “การตลาดนำการผลิต”
นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ โดยเริ่มต้นด้วยการน้อมแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของเกษตรกรไทยทั่วแผ่นดิน พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดความ “พออยู่ พอกิน” พระองค์ทรงใช้พระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ พระราชทานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุข แก่ทุกชีวิตในประเทศไทยตลอดมา โครงการพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ จึงก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ มากมายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ชาวเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรีกำลังริเริ่มและพัฒนาโครงการคือ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งต่อยอดมาจากหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์
เป้าหมายหลักในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของจังหวัดกาญจนบุรี มี 4 ประการ คือ 1.ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน โดยผลักดันให้มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง และมีความหลากหลายในการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ตนมีอยู่ 2.ขยายผลโครงการผลูกป่าพลาผล นำพืชไม้ผลไปปลูกในพื้นที่ป่าของจังหวัดเพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งทางเกษตรจังหวัดมีโครงการเตรียมแจกกิ่งตอนของไม้ผลหลายชนิด ทั้งเงาะ ลำไย ทุเรียน มะม่วง ขนุน ส้มโอ เป็นต้น โดยมีข้อแม้ว่าเกษตรกรต้องมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง 3. ทำการตลาดและส่งเสริมการปลูกผักผลไม้ปลอดสารเคมี 4. พัฒนาภาคเกษตรโดยใช้การตลาดนำร่อง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่วางแผนจะปลูกพืชมาปรึกษาเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดก่อนลงมือปลูกจริง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
“จากปัญหาทางด้านการเกษตรของประเทศไทย อันได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ สินค้าเกษตรไม่มีคุณภาพ ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เกษตรกรขาดการรวมกลุ่มกัน ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง และขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตพืชและการตลาด จึงหวังว่าการจัดเสวนาในวันนี้ จะช่วยให้มีการพัฒนาที่ถูกทิศทาง เพื่อเป็นทางเลือกทางรอดของพี่น้องเกษตรกร เพราะว่าสินค้าเกษตรในอนาคตต้องต่อสู้กันด้วยเรื่องของต้นทุนการผลิต โดยมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าว
เทคโนโลยีไต้หวันคือตัวอย่างความสำเร็จ
ในช่วงเสวนา อาจารย์เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการ วารสารเคหการเกษตร ได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับโมเดลเทคโนโลยีจากประเทศไต้หวัน พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรไทย เพื่อพัฒนาภาคเกษตรให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยให้ข้อคิดว่า ไต้หวันเป็นประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาดประชากร 23 ล้านคน โดยแยกตัวมาจากจีนแผ่นดินใหญ่มาที่เกาะฟอร์โมซาหรือเกาะไต้หวันในปัจจุบัน เศรษฐกิจพื้นฐานเดิมของไต้หวันคือเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ได้พัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมและบริการในปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้วางแผนเริ่มจากการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รัฐซื้อคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินเดิมด้วยเงินสดส่วนหนึ่งและหุ้นในภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนหนึ่ง การพัฒนาสมาคมการเกษตรในระดับต่างๆเพื่อประสานเชื่อมโยงระบบการส่งเสริม การผลิต เชื่อมโยงกับการตลาดให้เกิดความสมดุล ช่วงแรก GDP ภาคเกษตรของไต้หวันเพิ่มขึ้นมากแต่ต่อมาได้ลดลงเมื่ออุตสาหกรรมและภาคบริการได้ก้าวหน้าขึ้น ช่วงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือช่วงของการเกิดเงินเฟ้อที่รุนแรง รัฐบาลได้ปรับนโยบายให้มีการเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ ปัจจุบันนอกจากคุณภาพแล้วได้เข้าสู่เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เป็นสำคัญทั้งนี้เพื่อเน้นการเพิ่มมูลค่า
“เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเกษตรไต้หวันก็คือการความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร องค์การวิจัย การเชื่อมโยงของบทบาทสมาคมเกษตรกรที่เข้มแข็ง โดยมีการวางแผนการผลิตสินค้าให้เกิดความสมดุลกับตลาด”
นอกจากนี้ความสำเร็จที่สามารถสลัดความลำบากยากจนกลายเป็นประเทศพัฒนาใหม่ก็คือ กฎหมายที่เป็นธรรม องค์กรความยุติธรรมที่เข้มแข็งมีความเป็นอิสระจากการเมือง ระบบภาษีที่เป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพคนหรือระบบการศึกษาอย่างจริงจัง
“ท่านที่มีโอกาสเดินทางไปดูงานเกษตรไต้หวันจะได้เห็นจุดเด่นที่ชัดเจนเช่น พันธุ์พืชใหม่ๆที่พัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ระบบการผลิตเพื่อปกป้องปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นโรงเรือน การพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ระบบสหกรณ์และการการตลาด เป็นต้น” อาจารย์เปรม กล่าว
เทคโนโลยีจะพัฒนาภาคเกษตรไทย
คุณชินกฤต วิภาวกิจ ผู้จัดการโครงการอาวุโส จากบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เปิดเผยว่า “ ทางวีเอ็นยูฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งในปี 2559-2560 ทางวีเอ็นยูฯ มุ่งเน้นที่จะพัฒนาธุรกิจและกระตุ้นตลาดภาคเกษตรและปศุสัตว์ในประเทศ จึงสร้างแคมเปญเกษตรสัญจรขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในการประกอบอาชีพของตนเองและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดมีความคิด รู้จักการวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดระดับเอเชีย โดยใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆที่ทางวิทยากรมาบรรยาย เลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาเรื่องของแรงงาน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรในต่างจังหวัด ผลักดันสู่การเปิดธุรกิจรายย่อยในอนาคตอย่างสมบูรณ์ โดยมีการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาผลัดเปลี่ยนกันให้ความรู้ตามโอกาสที่เราจัดงานสัมมนา
“ภายในงานครั้งนี้จะนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรพืชสวนทุกประเภท มีผู้ประกอบการชั้นนำมาจัดแสดงสินค้าพร้อมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการเลือกลงทุนเครื่องมือทางการเกษตรที่เหมาะกับขนาดธุรกิจ พบผู้ผลิตพืชสวนจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนสามารถปรึกษาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาแนวทางในการพัฒนาธุรกิจต่อไป” คุณชินกฤต กล่าว
เทคโนโลยีระบบน้ำช่วยเพิ่มผลผลิต
ปิดท้ายด้วยคุณประเมศร์ สมพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงพาณิชย์ บริษัท เนต้าฟิม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำระบบน้ำทางการเกษตรของโลกจากประเทศอิสราเอล แนะแนวทางแก้ปัญหาการชลประทานระดับจุลภาคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเผยว่า “บริษัท เนต้าฟิม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มธุรกิจระบบชลประทานน้ำหยด จากคาดการณ์ประชากรโลกในปี 2593 คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มสูงถึง 9 พันล้านคน นำมาซึ่งความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ภายใต้ภาวะความกดดันและจำกัด การจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้มากขึ้นกว่าเดิม เนต้าฟิมสามารถช่วยลูกค้าผลิตผลผลิตให้ได้มากขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้นโดยการใช้น้ำ ที่ดิน และพลังงานให้น้อยลง เนต้าฟิม จึงเป็นผู้นำทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ ไม่ยุ่งยาก และราคาที่เป็นเจ้าของได้ สามารถช่วยให้เกษตรกรไทยประสบความสำเร็จ และผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อไป”
ข้อมูลทั่วไปของการจัดงาน
งานฮอร์ติ เอเชีย 2017 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2560 ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 5 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีกว่า 200 บริษัท จาก 20 ประเทศ ร่วมจัดแสดง โดยครอบคลุมทุกห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ก่อนการปลูก, การเตรียมการ, การเก็บเกี่ยวผลผลิต, การเพาะพันธุ์, เทคโนโลยีปุ๋ย, การปรับปรุงสภาพดิน, เทคโนโลยีการเพาะปลูกเก็บเกี่ยว การควบคุมอุณหภูมิ การระบายอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีโรงเรือน ที่ทางยุโรป เตรียมนำเทคโนโลยีล่าสุดมาจัดแสดงภายในงาน และในปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี เพราะจัดพร้อมกับงาน อะกริเทคนิก้า เอเชีย งานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและเครื่องมือการเกษตร และ งาน วิฟ เอเชีย งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านปศุสัตว์ครบวงจร โดยทั้ง 3 งานจะครอบคลุมทั้งพืชสวน พืชไร่ เทคโนโลยีเกษตร และปศุสัตว์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งจากในประเทศและนานาชาติกว่า 60,000 คนตลอดการจัดงาน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานฮอร์ติ เอเชีย 2017 ติดตามได้ที่ www.horti-asia.com หรือต้องการ สำรองพื้นที่จัดแสดงสินค้า ติดต่อ คุณชินกฤต วิภาวกิจ อีเมล chinakit.vip@vnuexhibitionsap.com โทร. 02-670-0900 ต่อ 105