กษัตริย์-เกษตร…เกษตรคือประเทศไทย
ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร จนได้รับพระฉายาว่าทรงเป็นเกษตราธิราช หรือ “กษัตริย์เกษตร” ของปวงชนชาวไทย

ตลอดระยะเวลาเจ็ดสิบปีแห่งการครองราชย์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “ในหลวง” ของประชาชนชาวไทย ทรงอุทิศพระวรกายด้วยพระวิริยะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น …

พระราชกรณียกิจเหล่านี้ มิได้แต่เพียงแสดงถึงความห่วงใย และความเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น  หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาบ้านเมือง ดังเช่นโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ทั้งในด้านการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ

พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร จนได้รับพระฉายาว่าทรงเป็นเกษตราธิราช หรือ “กษัตริย์เกษตร” ของปวงชนชาวไทย “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” จึงขอน้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในด้านการเกษตรในวาระโอกาสต่างๆบางส่วนมาเผยแพร่ …ดังนี้

ในหลวง ทรงสนพระทัยเป็นที่ยิ่งในงานด้านเกษตรกรรม
ปี 2504 ในหลวง ทรงสนพระทัยเป็นที่ยิ่งในงานด้านเกษตรกรรม เพราะทรงเห็นว่าเป็นอาชีพหลักของราษฎรทั้งประเทศ จึงได้ริเริ่มการเกษตรแผนใหม่ขึ้นภายในพระตำหนักจิตรลดาก่อน แล้วจึงขยายผลเป็นโครงการพัฒนาต่างๆ ในภายหลัง

“…กสิกรรมและเกษตรกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก ท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันค้นคว้าหาความรู้และความชำนาญให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเสมอ และพยายามส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ที่ได้ศึกษามาแก่พี่น้องกสิกร และเกษตรกร ให้ได้ทราบถึงวิธีปฏิบัติอันถูกต้องตามหลักวิชาอีกด้วย จึงจะเกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านนี้ และเป็นผลดีแก่ประเทศชาติสืบไป…”

(คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕)

“…เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ…”

(คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๗)

“…การพัฒนาที่เหมาะกับประเทศไทยเรา ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้าเพื่อยกระดับฐานะของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศมีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้นด้วย…”

(คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑)

“...เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ"
“…เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ”

“…เมืองไทยนี้ต้องพึ่งเกษตรกรเป็นสำคัญ เพราะว่าเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและต้องยึดอาชีพนี้มาและไม่ใช่เพราะเหตุนั่นเท่านั้นเอง แต่ว่าประเทศหนึ่งประเทศใดจะอยู่ได้ก็เพราะว่ามีกสิกรรม การประกอบอาชีพ ในด้านผลิตผลที่ได้จากธรรมชาติ ทั้งในด้านที่จะเป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ปลูกผลไม้ หรือทำมาหากินในด้านปศุสัตว์หรือประมง…”

“…การกสิกรรมและอาชีพในด้านเกษตรทุกทุกอย่างย่อมต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายด้าน ด้านหนึ่งก็คือหลักวิชาของการเพาะปลูก เป็นต้น และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยให้เพิ่มหลักวิชาเหล่านั้น และเมื่อได้ปฏิบัตแล้วได้ผลิตผลแล้วก็จะต้องสามารถดัดแปลงและขายจำหน่ายผลิตผลที่ตนได้ทำ ฉะนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ความขยันหมั่นเพียรในการผลิต ความรู้ในวิชาการผลิตและความรู้ในการเป็นอยู่ ทั้งความรู้ในด้านจำหน่าย ล้วนเป็นความรู้ที่จะต้องประสานกันหมด…”

(พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๐)

ในหลวงทรงเกี่ยวข้าว
“…ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย…”

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก หนังสือ “พระบิดาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ..ที่จัดพิมพ์ขึ้นในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๐ มีพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม ซึ่งได้คัดมาบางส่วน ดังนี้

“…ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป…”

“…การทำการเกษตรกรรมนั้นจะต้องมีวิชาการ วิชาการแผนใหม่ สมัยใหม่ ที่ก้าวหน้า เช่น ใช้ปุ๋ย วิธีใช้ปุ๋ย วิธีใช้ยาต่างๆ วิธีใช้เครื่องกลต่างๆ อันนี้ทุกคนก็ปรารถนาที่จะก้าวหน้าเป็นคนสมัยใหม่ เป็นคนที่ใช้วิชาการวิทยาการแผนใหม่ คือ หมายความว่าอะไร เครื่องจักรกลทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ค้นคว้ามาก็ได้ใช้ ในข้อนี้ต้องคิดดีๆ บางคนมุ่งที่จะเป็นคนสมัยใหม่ มุ่งจะเป็นคนก้าวหน้า ใช้วิชาการ ใช้วิทยาการ ใช้ที่เรียกว่าเทคโนโลยี คำนี้ก็คงจะเข้าใจ เทคโนโลยีก็หมายความถึงเครื่องกลต่างๆ ที่เขาค้นคว้ามา เขาเอามาขายเราในราคาแพง แล้วก็เวลาปฏิบัติก็ต้องมีความรู้ช่างกล มีความรู้ในทางวิชาการมากขึ้น ข้อนี้เป็นข้อดีเหมือนกันที่จะก้าวหน้า แต่หมายความว่าทุกคน สมาชิกทุกคนต้องเรียนรู้วิชาการให้ใช้วิทยาการต่างๆ นี้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสียหายได้…”

“…เกษตรมีความสำคัญจริง ถ้าไม่มีการเกษตรก็เกือบจะพูดได้ว่าเราจะต้องตายกันหมด เพราะจะไปอาศัยอาหารวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่าลำบากอยู่และกินไม่อิ่ม แต่ว่าทำไมคนถึงนึกว่าการเกษตรนี่เป็นสิ่งที่ต่ำต้อยที่ไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่ความจริงเราต้องอาศัยการเกษตรเพื่อชีวิตของเรา ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอาหารเท่านั้น สำหรับสิ่งอื่นทั้งหลายด้วยที่เราต้องอาศัยการเกษตร อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาด ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดเหมือนกัน คือได้พบว่า การเกษตรนั้นะไม่ใช่เฉพาะการเอาเมล็ดผักไปหยอดในร่อง แล้วมันจะขึ้นมาเป็นผลผลิตที่เหมาะสมได้ หากแต่ต้องอาศัยวิชาการอย่างอื่นทุกด้าน ตั้งแต่การหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง จนกระทั่งให้ฝักหรือสิ่งนั้นงอกขึ้นมาเป็นประโยชน์ได้ ต้องอาศัยทุกอย่างในชีวิตของคน คือทุกสาขาของความรู้ที่ต้องผ่านมา…”

จากพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานข้างต้น ทำให้ประจักษ์ชัดว่า “ในหลวง” ของเราทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาเพื่อพัฒนาการเกษตรและอาชีพแก่พสกนิกรชาวไทยตลอดมา

พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์-เกษตร” และ “เกษตรก็คือประเทศไทย” นั่นเอง

ขอบคุณ  : ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “น้อมนำตามคำพ่อ” ประมวลพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิมพ์โดย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรกฎาคม ๒๕๕๔ 

: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated