แค่ชื่อโครงการ “ชั่งหัวมัน” ก็ทำให้ผมเกิดความสนใจที่อยากจะไปเยี่ยมชมโครงการนี้ ซึ่งตั้งใจมานานว่าจะไปสักครั้งหนึ่ง และแล้วฝันก็เป็นจริงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา …
แต่ก่อนที่จะไปดูว่าภายในโครงการพระราชดำริแห่งนี้มีอะไรให้เยี่ยมชมบ้าง ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโครงการและประวัติความเป็นมากันก่อน
ที่มาของโครงการนี้…ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ได้นำมันเทศที่ชาวบ้านถวาย วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อเสด็จมายังพระราชวังไกลกังวลอีกครั้ง ก็พบว่ามันเทศที่วางบนตัวชั่ง มีใบงอกออกมา จึงมีพระราชดำริว่า “มันอยู่ที่ไหนก็งอกได้” และรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ประมาณ ๑๒๐ ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา
ในอดีตผืนดินแห่งนี้แห้งแล้งมาก จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ พระองค์ท่านได้ทรงทำเพื่อพิสูจน์ให้เป็นแม่บท สำหรับการเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ และแน่นอนว่าได้นำหัวมันเทศที่ทรงปลูกไว้ที่พระราชวังไกลกังวลมาปลูกในผืนดินแห่งนี้ด้วย
ในการมาเยี่ยมชมครั้งนี้ ผมได้ยึดตามโปรแกรมที่โครงการกำหนดไว้ คือเริ่มต้นจากชมดูวิดีทัศน์เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการให้พอเข้าใจภาพรวม จากนั้นก็นั่งรถนำเที่ยวเยี่ยมชมตามจุดต่างๆ ซึ่งถ้าใครไม่นั่งรถหรือไม่ไปตามโปรแกรมทางโครงการจะมีรถจักรยานไว้บริการนับร้อยๆคัน แต่ถ้ามาเป็นหมู่คณะแนะนำว่าควรนั่งรถจะสะดวกกว่า เพราะบนรถยังมีเจ้าหน้าที่ขับรถทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ในแต่ละจุดที่เยี่ยมชมไปด้วย
รถจะนำเราไปตามเส้นทางรอบๆ ผ่านแปลงปลูกพืชผลต่างๆ ซึ่งจะไม่ได้เรียงตามกลุ่มหรือชนิดของพืชผล ผมจึงขอสรุปให้คร่าวๆ ดังนี้
ขอเริ่มที่กลุ่มพืชผักที่ปลูก ตั้งแต่พืชสวนครัว เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริกขี้หนู กะเพรา โหระพา ผักชี ผักบุ้ง มะระ บวบ มะนาวแป้น มะนาวยักษ์ ฯลฯ โดยพืชผักที่ปลูกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปบ้าง
เรื่องมะนาวนั้น ผมได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ว่ามะนาวแป้นที่เห็นออกลูกทั้งปีนั้น จะใช้ต้นตอมะนาวยักษ์ ซึ่งในโครงการมีปลูกโชว์ไว้ตรงใกล้ๆห้องประชุม มะนาวพันธุ์นี้มีระบบรากที่หากินได้เก่ง และเนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง จึงเหมาะแก่การทำเป็นต้นตอได้ดี
ผลไม้ เช่น สับปะรด แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก มะยงชิด ฯลฯ
วันที่ไปนั้น ได้มีโอกาสลงไปเดินชมแปลงปลูกสับปะรด ซึ่งทราบว่าเป็นพันธุ์เพชรบุรี 1 หรือ “สับปะรดฉีกตา” บางส่วนกำลังให้ผลผลิตจะเห็นห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ คาดว่าอีกไม่กี่วันคงเก็บได้แล้ว
ใกล้ๆกันนั้น ยังมี “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ผลไม้ที่ขึ้นชื่อของเพชรบุรี วันที่ไปเยี่ยมชมยังไม่ใช่ช่วงที่ให้ผลผลิต แต่ได้เห็นนั่งร้านที่แปลกกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆก็ถือว่าตื่นใจแล้ว
พืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพด มันเทศญี่ปุ่น มันต่อเผือก มันเทศออสเตรเลีย มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ชิวแม่จัน ข้าวเจ้าพันธุ์ลีซอ ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยด ข้าวหอมปทุมธานี ยางนา ยางพารา ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานหญ้าแก่แม่โคนม และพระราชทานนมแก่ลูกวัวเพศผู้ พันธุ์โฮลสไตล์ ฟรีเชี่ยนหรือพันธุ์ขาว-ดำ และได้พระราชทานชื่อว่า “ตุ้ม” ขณะนี้เป็นวัวหนุ่ม ลักษณะเหมาะเป็นพ่อพันธุ์ ซึ่งคณะของเราได้ให้เจ้าหน้าที่จอดรถและถ่ายรูปด้วย
ยังมีพระราชดำริด้านพลังงานทดแทนที่สามารถอยู่ด้วยกันในแปลงเกษตร คือกังหันลมผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้า มีกำลังการผลิตขนาด ๕๐ กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีทั้งหมด ๒๐ ต้น เป็นจุดที่กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของโครงการก็ว่าได้
อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับพลังงานคือ ได้มีการสาธิตปลูกสบู่ดำ เพื่อนำมาเป็นพืชพลังงานทางเลือก จะเห็นว่ามีสถานีน้ำมันไบโอดีเซลตั้งอยู่ด้วย
ทั้งหมดที่ผมนำมาบอกเล่านี้ เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ผมได้คิดในใจของผมก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของเรานั้น ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา มุ่งที่จะช่วยเหลือให้ราษฎร์มีอาชีพพออยู่พอกิน โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเกษตรมีกว่า 3,000 โครงการ จึงกล่าวได้ว่าทรงเป็น “กษัตริย์เกษตร” อย่างแท้จริง และเนื่องจากโครงการชั่งหัวมันนี้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ จึงเลือกปลูกพืชผลตามที่ต้องการ ที่นี่จึงเสมือน “บ้านไร่ของในหลวง” แต่ไม่ได้ทำเพื่อในหลวง แต่ทำเพื่อคนไทยทุกคน
ณ บัดนี้ ผืนดินอันแห้งแล้งกลับชุ่มชื้น “หัวมันบนตาชั่งยังขึ้นได้ แล้วที่แห้งแล้งขนาดไหน มันก็ต้องขึ้นได้” เช่นเดียวกับพืชผลต่างๆที่งอกงาม รอลูกหลานไทยไปเก็บเกี่ยวได้ไม่มีวันหมดสิ้น…นี่คือความสำเร็จอันยั่งยืน.
ขอบคุณ : บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก ในนามตราสินค้า “ศรแดง” ที่ได้นำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมชมโครงการชั่งหัวมันในครั้งนี้ โดยที่ “ศรแดง” ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักให้กับโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดนี้ได้มาปลูกดอกดาวเรืองสายพันธุ์ต่างๆอีกด้วย