รัฐ-เอกชนร่วมพัฒนา “บัลลังก์โมเดล” ปลูกข้าวโพดแปลงใหญ่แห่งแรกของไทย
“บัลลังก์โมเดล” ข้าวโพดแปลงใหญ่แห่งแรกของไทยเกิดขึ้นแล้ว

องค์การบริการส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย เกษตรอำเภอโนนไทย และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)  ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ในรูปแบบ “บัลลังก์โมเดล” เพื่อพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่แห่งแรกของประเทศ นำไปสู่ต้นแบบการรวมกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เข้มแข็ง และยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานตรวจสอบย้อนกลับได้

พิธีร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ
พิธีร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ

พิธีร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือได้จัดขึ้น ระหว่าง 4 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคการเกษตร ประกอบด้วย  สำนักงานเทศบาลตำบลบัลลังก์ สำนักงานเกษตรอำเภอโนนไทย สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) นครราชสีมา และบ.กรุงเทพโปรดิ๊วส โดยมีกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าร่วมโครงการในปีแรก 360 คน ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 7,300 ไร่  

ว่าที่ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา
ว่าที่ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา

ว่าที่ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา  นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบัลลังก์ กล่าวว่า เทศบาลตำบลบัลลังก์มีเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก 700 กว่าราย พื้นที่ปลูก 12,000 ไร่ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาแห้งแล้งซ้ำซาก ผลผลิตพืชผลเกษตรตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้น้อย จึงได้ขอความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก บ.กรุงเทพโปรดิ๊วส ภายใต้โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพราะเห็นว่าเป้าหมายของโครงการมุ่งพัฒนาการเพาะปลูกอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนผลิตลดลงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และต่อยอดโครงการให้ส่งเสริมเกษตรกรครบวงจรมากขึ้นตั้งแต่วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยวจนถึงการสนับสนุนตลาดรับซื้อ

“การผนึกกำลัง 4 ฝ่ายในครั้งนี้ เพื่อริเริ่ม “บัลลังก์โมเดล” เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพาะปลูกข้าวโพดได้มาตรฐานที่ดีในลักษณะแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และสนับสนุนเรื่องตลาดและราคารับซื้ออย่างครบวงจร” นายฐนนท์ธรณ์กล่าว

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับการอบรมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถูกต้องตามหลักการของโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เริ่มจากการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินวางแผนการใช้ปุ๋ยได้เหมาะสม  ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่ม เรื่องจัดสรรเครื่องมือและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ  การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเก็บข้อมูลแปลงเพาะปลูกเพื่อสนับสนุนระบบตรวจสอบแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ตลอดจนการจัดการเก็บเกี่ยวและขนส่งผลผลิตร่วมกันอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมายให้เกษตรกรพัฒนามาตรฐานการเพาะปลูก ตามหลัก การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices: GAP)

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บัลลังก์โมเดล” จะเป็นแห่งแรกของประเทศ ที่มีการผนึกพลังภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูก การบริหารจัดการเก็บเกี่ยวและขนส่ง รวมถึงการมีตลาดรับซื้อในราคาประกัน บนพื้นฐานการตรวจสอบย้อนกลับได้

ทั้ง 4 ภาคส่วนได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อผลักดันโครงการฯ ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมี เทศบาลตำบลบัลลังก์จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อำนวยความสะดวกและจัดหาปัจจัยการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร มีเกษตรอำเภอเป็นผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุนข้อมูล  ส่วน สกต.ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิต จัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิต ขณะที่ กรุงเทพโปรดิ๊วส ช่วยสนับสนุนการจัดอบรมการเพาะปลูกตามหลักวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงรับซื้อในราคาประกันขั้นต่ำ 7.90 บาท/กิโลกรัม

นายจำลอง จันดอน กำนันตำบลบัลลังก์ 1 ในเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรุ่นแรก ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 50 ไร่ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ตนเองและชาวบ้านรู้วิธีการปลูกข้าวโพดดีขึ้น และสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการรวมกลุ่มยังช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อรองลดราคาค่าปุ๋ย และปัจจัยการผลิตอื่นๆ  ที่สำคัญเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องตลาดรับซื้อ จากเดิมที่เคยขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่ปีนี้สามารถนำผลผลิตขายให้โรงงานอาหารสัตว์โดยตรง

“แม้ว่าปีนี้ข้าวโพดจะได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงระยะหนึ่ง แต่ผลผลิตที่ได้ครั้งนี้ข้าวโพดมีคุณภาพฝักดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 กว่ากิโลกรัมจากเดิม 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ ประกอบกับต้นทุนที่ลดลง คาดว่าปีนี้รายได้หลังค่าใช้จ่ายน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” นายจำลอง กล่าว.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated