แนะวิธีฟื้นฟูสวนส้มโอ “ทับทิมสยาม” หลังน้ำลด-สูตรกรมวิชาการ...เกษตรกรทำได้
เกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามที่ถูกน้ำท่วม...หลังน้ำลดก็ต้องรีบฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีฟื้นฟูสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม “ของดีปากพนัง” ในพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ เน้นแก้ปัญหาจัดการระบบภายในสวนหลังน้ำลด งดเครื่องจักรกลหนักเข้าพื้นที่ ชี้ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสมส่งผลดีระยะยาว เอื้อประโยชน์สวนฟื้นเร็ว ลดการสูญเสีย เห็นผลไว ง่ายต่อการปฏิบัติจริง

สภาพน้ำท่วมสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่ปากพนัง
สภาพน้ำท่วมสวนส้มโอทับทิมสยาม
รีบเร่งสูบน้ำออกจากสวนส้มโอ
รีบเร่งสูบน้ำออกจากสวน

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม “ส้มโอดีมีชื่อเสียง” อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 และระดับน้ำในบางพื้นที่ได้ ลดลงสู่ภาวะปกติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช ได้ลงพื้นที่และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในด้านการจัดการสวนระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำลด เพื่อฟื้นฟูสภาพสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมนำปัจจัยการผลิตในการฟื้นฟูสวนบางส่วน มอบให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อทำให้เป็นแปลงเกษตรกรต้นแบบฟื้นฟูสภาพสวนหลังน้ำลด รวมถึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับเกษตรกรสวนส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

กรมวิชาการเกษตร พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
กรมวิชาการเกษตร พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ลงพื้นที่ให้คำแนะสวนส้มโอที่ถูกน้ำท่วม
ลงพื้นที่ให้คำแนะต่างๆ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟื้นฟูสวนส้มโอหลังน้ำลด เกษตรกรควรบำรุงรักษาต้นให้เกิดรากใหม่และแตกใบอ่อนโดยเร็ว ซึ่งต้องมีระบบการจัดการดินที่ถูกต้อง ส่วนขั้นตอนปฏิบัติหลังน้ำลดใหม่ๆ แนะนำให้เกษตรกรงดนำเครื่องจักรกลหนัก บุคคล หรือสัตว์เลี้ยงเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่บริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบรากพืช ทำให้ต้นโทรมและอาจตายได้ หากในพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ให้ขุดร่องระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นโดยเร็วและมากที่สุด กรณีเกิดการทับถมดินหรือทรายบริเวณแปลงปลูก ให้ขุดหรือปาดเอาออกจากโคนต้น จากนั้นควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการคายน้ำและเร่งการแตกใบใหม่ให้เร็วขึ้น สำหรับต้นที่กำลังติดผลอยู่ให้ปลิดผลออกบางส่วนให้ต้นคงอยู่ได้ หากเกษตรกรต้องการให้ต้นส้มโอฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ควรพ่นปุ๋ยทางใบหรือใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 หรือสูตร 21-21-21 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก พ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนเป็นใบเพสลาด ภายหลังน้ำลดต้นส้มโออาจเกิดปัญหา รากเน่าและโคนเน่าได้ เมื่อดินแห้งเกษตรกรควรพรวนดินเพิ่มออกซิเจนให้รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น และปรับปรุงสภาพของดินให้มีความสมบูรณ์ อีกทั้งตรวจดูแผลโรครากเน่าโคนเน่าที่โคนต้นว่ามีหรือไม่ หากพบให้ถากเนื้อเยื่อที่เสียออกแล้วทาด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนแรกหลังน้ำลด เกษตรกรห้ามใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราคาร์เบนดาซิม เพราะจะทำให้ใบแก่ร่วงเร็วก่อนอายุ ห้ามใช้สารควบคุมวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า ควรใช้วิธีตัดหรือดายหญ้าแทน และห้ามราดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดหรือรักษาโรครากเน่าโคนเน่า แนะนำให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาทั้งในลักษณะการราดดินหรือการฉีดพ่นทางใบแทน

ให้ความรู้แก่เกษตรกร
ให้ความรู้แก่เกษตรกร

เกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำการฟื้นฟูสวนส้มโอหลังประสบอุทักภัย สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-7580-9709

(ข่าวโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : ธันวาคม 2559)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated