ด่วน! “หนอนหัวดำ” ระบาดสวนปาล์ม-มะพร้าวที่สุราษฎร์ (เผย วิธีป้องกันกำจัดอย่างละเอียด)
ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำเข้าทำลายเสียหายหนัก

ในช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลง มีลมกระโชกแรง และก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมันเฝ้าระวังหนอนหัวดำมะพร้าว สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน เผย 4 วิธีป้องกันกำจัดอย่างละเอียด โดยเฉพาะมะพร้าวแต่ละชนิดมีวิธีที่ต่างกัน

ลักษณะของใบมะพร้าวที่ถูกทำลาย
ลักษณะของใบมะพร้าวที่ถูกทำลาย
ดูกันชัดๆ..มันจะอยู่ในใบมะพร้าว
ดูกันชัดๆ..มันจะอยู่ในใบมะพร้าว
วิธีสังเกต…

ในสวนมะพร้าวให้สังเกตการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว จะพบตัวหนอนแทะกินผิวใต้ทางใบ จากนั้นจะถักใยโดยใช้มูลที่ถ่ายออกมาผสมเส้นใยที่สร้างขึ้นนำมาทำอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามใต้ทางใบ ตัวหนอนจะอยู่ในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบแก่ หากรุนแรง จะพบหนอนทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ตัวหนอนจะถักใยดึงใบมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มลำตัวเพื่อเข้าดักแด้อยู่ในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยอุโมงค์หรือซากใบที่ถูกทำลาย เมื่อหนอนฟักออกจากไข่จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนย้ายไปกัดกินใบ จึงมักพบหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบเดียวกัน ทำให้มะพร้าวตายได้

ส่วนในสวนปาล์มน้ำมัน จะพบหนอนหัวดำมะพร้าวเลือกทำลายมะพร้าวก่อน แล้วจึงเข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมันที่อยู่ข้างเคียง ลักษณะการทำลายเช่นเดียวกันกับมะพร้าว

ดักแด้หนอนหัวดำมะพร้าว
ดักแด้หนอนหัวดำมะพร้าว
เริ่มระบาดแล้ว

ปัจจุบันพบหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดในแปลงปลูกมะพร้าวและปาล์มน้ำมันใน พื้นที่หมู่ 1 ตำบลขุนทะเลสอ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เกษตรกรควรสังเกตพื้นที่ระบาด 3 ลักษณะ คือ 1.) พื้นที่วิกฤต พื้นที่ที่หนอนลงทำลายทั้ง 2 พืช 2.) พื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่หนอนลงทำลายมะพร้าวและมีการปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ด้วย 3.) พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่ที่ปลูกมะพร้าวและปาล์มน้ำมันอยู่ร่วมกัน แต่ยังไม่มีการทำลายของหนอน

เครื่องพ่นแรงดันน้ำสูง
เครื่องพ่นแรงดันน้ำสูง
วิธีป้องกัน-กำจัด

หากพบหนอนหัวดำมะพร้าวในสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกัน-กำจัดแบบผสมผสาน 4 วิธี คือ วิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และการใช้สารเคมี

1-2. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ให้เกษตรกรตัดใบที่มีหนอนนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรย้ายต้นพันธุ์มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด

  1. ชีววิธี ให้เกษตรกรปล่อยแตนเบียนโกนีโอซัสและบราคอน ในอัตราชนิดละ 200 ตัวต่อไร่ ประเมินสถานการณ์ทุก 7 วัน เพื่อกำหนดเขตควบคุมไม่ให้ระบาดวงกว้าง และให้พ่นแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซีส (บีที) ด้วยเครื่องพ่นแรงดันน้ำสูงให้ทั่วทรงพุ่ม อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นช่วงเย็นหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์จากกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น
เจาะรู ...ฉีดสารเคมีผสมน้ำเข้าไป และปิดรูด้วยดินน้ำมัน
เจาะรู …ฉีดสารเคมีผสมน้ำเข้าไป และปิดรูด้วยดินน้ำมัน
  1. สารเคมี กรณีมะพร้าวต้นสูงมากกว่า 12 เมตรขึ้นไป ให้เกษตรกรใช้สว่านเจาะรูที่ลำต้นให้รูอยู่สูงจากพื้นดิน 1 เมตร เอียงลง 45 องศา ลึก 10 เซนติเมตร เจาะ 2 รู ให้รูอยู่ตรงข้ามกันและต่างระดับกันเล็กน้อย จากนั้นให้ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซีเข้มข้น ไม่ผสมน้ำฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร และปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนได้นานมากกว่า 3 เดือน และป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลโดยเด็ดขาด

สำหรับมะพร้าวที่สูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลในพื้นที่ระบาดรุนแรง ไม่ได้ปล่อยแตนเบียน และสวนปาล์มน้ำมัน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารเคมีฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสปินโนแซด 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน หากปล่อยแตนเบียน ให้ปล่อยหลังพ่นสารเคมี 2 สัปดาห์ วิธีนี้ใช้ย้ายต้นพันธุ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายได้เช่นกัน

(เรื่องโดย : อังคณา  ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : ธันวาคม 2559)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated