กรมวิชาการเกษตรเจ๋ง!…แนะเกษตรกรเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ “แมลงหางหนีบ” ไว้ใช้ในการกำจัด-ควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยชีววิธี ตัวห้ำตัดวงจรชีวิตแมลงศัตรูพืช ช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาตรงจุด หยุดการระบาดอย่างทันท่วงที เน้นเลี้ยงง่าย โตไว ปลอดภัย สร้างสมดุลธรรมชาติ ใช้วิธีนำศัตรูธรรมชาติมาควบคุมแมลงศัตรูพืช สนองนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ขับเคลื่อนมาตรการเกษตรอินทรีย์ สนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ส่งเสริมให้ใช้ชีววิธีในการกำจัดและควบคุมแมลงศัตรูพืช เน้นการนำศัตรูธรรมชาติมาใช้กำจัดศัตรูพืช ซึ่งแมลงหางหนีบถือได้ว่าเป็นแมลงตัวห้ำที่มีศักยภาพสูง สามารถช่วยเหลือเกษตรกรกำจัดและควบคุมแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี โดยกรมวิชาการเกษตรได้ผลิตแมลงหางหนีบและนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืช คือ แมลงหางหนีบสีน้ำตาล ใช้ควบคุมหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด แมลงหางหนีบขาวงแหวน ใช้ควบคุมหนอนกออ้อย และยังมีที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้ควบคุมแมลงดำหนามและหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งแมลงหางหนีบมีลักษณะเด่น คือ มีแพนหางรูปคีมใช้ในการจับเหยื่อ ป้องกันตัว สร้างรัง และช่วยในการผสมพันธุ์ ลำตัวเล็กยาวรีค่อนข้างแบน จากหัวจรดแพนหางยาวเฉลี่ย 4-18 มิลลิเมตร แมลงหางหนีบทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช ชอบอยู่ในที่มืดอับชื้น พบได้ทั่วไปในแปลงปลูกพืช เช่น อ้อย ข้าวโพด และพืชไร่พืชผักต่างๆ จะพบออกหากินในเวลากลางคืน เคลื่อนไหวรวดเร็ว หาเหยื่อตามซอกมุมได้ดี และเป็นตัวห้ำที่มีพฤติกรรมดุร้าย จะเข้าทำลายหนอนที่เป็นเหยื่อโดยใช้แพนหางคล้ายคีมหนีบลำตัวของเหยื่อกินเป็นอาหาร ถ้าเป็นไข่หรือแมลงขนาดเล็กที่มีลำตัวอ่อนนุ่มจะกัดกินโดยตรง อีกทั้งสามารถจับกินแมลงศัตรูพืชได้ตั้งแต่ระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย แมลงหางหนีบเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้ง่าย สามารถนำไปปล่อยในแปลงเพาะปลูกพืชเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบไว้ใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช เพราะแมลงหางหนีบมีวิธีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่ง่าย เพียงนำแกลบดำตากแดด 2 วัน และพลิกกลับกองแกลบดำทุกวัน จากนั้นนำแกลบดำที่ตากแดดแล้วใส่ในกล่องหนา 3-4 เซนติเมตร แล้วฉีดพ่นน้ำให้ทั่วให้ความชื้น ต่อมาให้ใส่แมลงหางหนีบตัวเต็มวัยลงในกล่องๆ ละ 40 ตัว เพศเมียอายุ 50-60 วัน จะเริ่มวางไข่เป็นกลุ่มๆ ละ 30-60 ฟอง โดยให้อาหารแมวบดละเอียด 40 กรัมต่อกล่อง สลับกับให้ไข่ผีเสื้อข้าวสาร 10 กรัม ให้เกิดความคุ้นเคย และให้ฉีดพ่นน้ำบนแกลบดำรักษาความชื้น เปลี่ยนอาหารทุก 3 วัน ป้องกันอาหารเน่าเสีย
ท่านที่สนใจเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบเพื่อใช้ในการกำจัด-ควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยชีววิธี สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-4580 หรือที่เว็บไซด์ www.doa.go.th/plprotect/
(ข่าวโดย : อังคณา ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร)