กรมปศุสัตว์ปี60 ก้าวสู่ไทยแลนด์4.0 “ยกระดับมาตรฐานสินค้า-รุกส่งออก”
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงผลดำเนินงานกรมปศุสัตว์ปี 59 และทิศทางขับเคลื่อนภาคปศุสัตว์ไทยในปี 60

กรมปศุสัตว์ เดินหน้าปี 60 ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 วางเป้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสู่ความยั่งยืน มุ่งพัฒนาฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ทุกขนาด พร้อมขยายผลปศุสัตว์แปลงใหญ่ คุมเข้มการลักลอบนำเข้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย ตั้งเป้าภายปี 60 ไทยปลอดโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ด้านส่งออกเนื้อไก่สด ไก่แช่เย็น/แช่แข็งชี้ตลาดเกาหลีใต้-สิงคโปร์ลู่ทางสดใส คาดปีนี้ดันยอดส่งออกเพิ่มกว่า 4,000 ล้านบาท

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงผลดำเนินงานกรมปศุสัตว์ปี 59 และทิศทางขับเคลื่อนภาคปศุสัตว์ไทยในปี 60 ว่าปีนี้กรมปศุสัตว์ได้ปรับแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ให้สอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาล รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดเขตเสรีทางการค้า อาทิ ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) และการเปิดตลาดเสรีระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังได้ออกกฎระเบียบและเงื่อนไขควบคุมการนำเข้าเข้มงวดมากขึ้น ทั้งยังหยิบยกมาตรการที่มิใช่ภาษีขึ้นมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าด้วย เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และด้านแรงงาน เป็นต้น

จึงจำเป็นต้องปรับทิศทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกเบื้องต้นได้มุ่งพัฒนายกระดับสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัยสูงขึ้น เป็นไปตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯที่กำหนดให้ “ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความอย่างยั่งยืน” โดยกรมปศุสัตว์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าสู่มาตรฐานจีเอพี (GAP) เพิ่มขึ้น ทั้งฟาร์มโคนม โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดเนื้อ และสุกรพร้อมส่งเสริมและพัฒนาโรงฆ่าสัตว์สู่มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ในเรื่องการตรวจสอบและให้การรับรอง GMP/HACCP 80 แห่ง การตรวจติดตามโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต (ฆจส. 2) 2,235 แห่ง และฝึกอบรมผู้ประกอบการ 300 คน และพนักงานตรวจโรคสัตว์ 500 คน

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์(ฉบับใหม่) โดยใบอนุญาตโรงฆ่าสัตว์จะมีอายุ 5 ปี หากโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปรับปรุงจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต การดำเนินโครงการ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์

โดยสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ “ปศุสัตว์ OK” ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเนื้อสัตว์มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน และผลิตจากฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมารับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ (ปศุสัตว์ OK)ได้ถึง 2,616 แห่ง จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2,000 แห่ง โดยปี 2560 จะเพิ่มอีก 2,000 แห่งรวม 4,616 แห่ง

“เรายังมุ่งลดจำนวนโรงฆ่าสัตว์เถื่อนภายในประเทศ ด้วยการพัฒนาปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่เข้าสู่มาตรฐาน GMP ภายในปี 2562 และเร่งส่งเสริมให้โรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลาง ปรับปรุงและพัฒนายกระดับเข้าสู่มาตรฐานตามกฎหมายภายในปี 2564 เพื่อให้สามารถแข่งขันได้และกำกับดูแลให้โรงฆ่าสัตว์ท้องถิ่นต้องมีพนักงานตรวจโรคสัตว์อย่างเพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2560 ต้องไม่มีโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ขณะเดียวกันยังมุ่งขยายผลโครงการปศุสัตว์ OK และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพและการเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดและจุดจำหน่ายสินค้ามาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ในตลาดสดทั่วประเทศในช่วยตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ เพื่อปกป้องผู้บริโภคด้วย”

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันยังกำหนดแผนงานและมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อลดและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งปีที่ผ่านมาตรวจพบการลักลอบนำเข้าเนื้อแช่แข็ง  115 ครั้ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 148.56 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องโรคระบาดสัตว์หลุดลอดเข้ามาแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ของเกษตรกรในประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ ทั้งยังเร่งรัดการจับกุมและปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยเพิ่มการสุ่มตรวจที่ฟาร์มสุกร ฟาร์มโคขุน และโรงฆ่าสัตว์อย่างต่อเนื่องด้วย

“ปีนี้กรมปศุสัตว์ยังมีแผนส่งเสริมและพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยยึดพื้นที่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับ Agri-Map ทั้งยังมีเป้าหมายพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ในพื้นที่แปลงใหญ่เข้าสู่มาตรฐาน เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดรองรับที่แน่นอนภายใต้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังบูรณาการพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบตามแผนพัฒนาการบริหารจัดการนมโรงเรียนของมิลค์บอร์ด

โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม (DHHU) ช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตน้ำนมดิบอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้ดีขึ้นตามแนวทางยุทธศาสตร์โคนม

สำหรับการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ปี 2560 คาดว่าปีนี้การส่งออกสินค้าเนื้อไก่สด และไก่สดแช่เย็น/แช่แข็งมีแนวโน้มค่อนข้างดี เนื่องจากไทยสามารถผลักดันเปิดตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่สดไปสาธารณรัฐเกาหลีได้ครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยมีโรงงานไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง ของไทย จำนวน 12 โรงงานที่ส่งออกได้ ซึ่งในปี 2560 คาดว่า จะสามารถส่งเนื้อไก่สดไปยังสาธารณรัฐเกาหลีได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ตัน มูลค่าประมาณ 3,600 ล้านบาท ขณะเดียวกันหน่วยงาน AVA ของสิงคโปร์ยังแจ้งอย่างเป็นทางการว่า สิงคโปร์ได้ประกาศรับรองอนุญาตให้โรงงานผลิตเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทยส่งออกไปสิงคโปร์ได้เพิ่มอีก 20 โรงงาน โดยเริ่มส่งออกได้ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป ปีนี้คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทยไปยังสิงคโปร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท และปีถัดไปคาดว่าปริมาณและมูลค่าส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังสิงคโปร์ได้ราว 16,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 2,340 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันการส่งออกไข่และผลิตภัณฑ์ไข่ไปตลาดสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอียูด้วย และยกระดับมาตรฐานคุณภาพไข่ปลอดภัยโดยคาดว่าปี 60 ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีทองของสินค้าปศุสัตว์ส่งออก ทั้งเนื้อ นม ไข่ และอาหารสัตว์ รวมทั้งตลาดและราคาสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศจะมีเสถียรภาพที่ดี

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated