ก.พาณิชย์ยก “ยโสธรต้นแบบเกษตรอินทรีย์” หนุนผลผลิต สู่ตลาดโลก
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ยืนกลาง) เป็นประธานเปิดงาน เกษตรอินทรีย์ยโสธร 2559 โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ยืนอยู่ข้างๆ (ด้านซ้าย)

เรื่อง/ภาพ : มนตรี ตรีชารี

เจ้ากระทรวงพาณิชย์ โปรยคำหวาน ในงานเกษตรอินทรีย์ยโสธร 2016 ยกเป็นต้นแบบการผลิต เมืองเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน พร้อมตั้งสถาบันเกษตรนวัตกรรม ดันงบตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ และออร์แกนิค เอ้าท์เลต ดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ สู่ตลาดโลก

"ยโสธรคือต้นแบบเมืองเกษตรอินทรีย์ค่ะ"
“ยโสธรคือต้นแบบเมืองเกษตรอินทรีย์ค่ะ”

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน เกษตรอินทรีย์ยโสธร 2559 ว่าส่วนตัวขอชื่นชมต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน ของจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นการกำหนดตำแหน่งการพัฒนาเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมความเข้มแข็งและการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ อย่างเป็นรูปธรรม การส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายที่สำคัญนโยบายหนึ่งของรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในอาชีพการเกษตรให้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปสู่การสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีมูลค่า ไม่ต้องวิตกตามภาวะราคาที่ไม่แน่นอนของสินค้าเกษตรตามที่ปรากฏ อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้เลือกเอาแนวทางการพัฒนาเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ของจังหวัดยโสธรเป็นต้นแบบ เรียกว่า “ยโสธร โมเดล” เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆนำไปเป็นต้นแบบในการทำเกษตรแบบประณีต โดยใช้วิถีธรรมชาติต่อไป ซึ่งจังหวัดยโสธรมีศักยภาพและมีความพร้อมต่อการก้าวเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า “ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน”

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่ตนรับผิดชอบอยู่ ก็มีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพร้อมที่จะผลักดันให้มีการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างการรับรู้ในอัตลักษณ์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์และจดจำสินค้าอินทรีย์ของไทย ภายใต้สัญลักษณ์ “Oganic Thai Products”

ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ มีการมอบหมายภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนช่องทางการตลาดให้กับสินค้าอินทรีย์ของประเทศไทย ทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมการค้าภายในและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมเกษตรนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่แบบงานราชการ แต่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะได้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อสร้างตลาดให้กับสินค้าเกษตรที่มีการใช้นวัตกรรม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ สถาบันนี้จะเป็นที่ปรึกษาที่สมบูรณ์ให้กับผู้ลงทุน เน้นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ไปต่อยอดให้เกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์ ต่อไป

ส่วนหนึ่งของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นำมาโชว์
ส่วนหนึ่งของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นำมาโชว์

สาหรับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2560-2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเชี่ยน” ซึ่งมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์ การสร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  2. ยุทธศาสตร์ ผลักดันมาตรฐานและระบบรองรับเกษตรอินทรีย์
  3. ยุทธศาสตร์ พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์
  4. ยุทธศาสตร์ พัฒนาสร้างมูลค่าสินค้าและบริการอินทรีย์

ประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทางกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดกิจกรรมและแนวทางการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งจะมีการกระจายการดำเนินงาน ลงในระดับพื้นที่ ต่อไป.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated