กรมส่งเสริมการเกษตร ปลื้มผลงานพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทะลุเป้า 1.5 ล้านไร่ สร้างรายได้เกษตรกร 9.6 หมื่นราย สร้างรายได้รวมกว่า 4,218 ล้านบาท เร่งบูรณาการขับเคลื่อนต่อเนื่องปี 60 เป้าหมาย 912 แปลง พร้อมยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ความยั่งยืน เพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2559 ว่า จากการที่กระทรวงเกษตรฯได้บูรณาการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยยึดพื้นที่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุกหรืออะกริแม็ป (Agri-Map) เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยรวมกันผลิตสินค้าเกษตร พร้อมจัดหาปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิตร่วมกัน ลดต้นทุนที่เหมาะสม เพิ่มผลผลิต และให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ในสินค้า 9 ประเภท ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผักและสมุนไพร ไม้ผล หม่อน กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และประมง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 96,697 ราย พื้นที่รวมกว่า 1.5 ล้านไร่ ซึ่งประสบผลสำเร็จแล้ว 480 แปลง จากทั้งหมด 600 แปลง
นอกจากนั้น ยังพบว่า การดำเนินงานใน 12 ชนิดสินค้าหลักจาก 9 ประเภท ซึ่งคิดเป็น 92% ของพื้นที่แปลงใหญ่ สามารถก่อให้เกิดรายได้ในภาพรวมถึง 4,218 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิต จำนวน 1,505 ล้านบาท มูลค่าจากการลดของต้นทุน 2,713 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มที่เกษตรกรได้รับเฉลี่ยคนละ 41,060 บาท
“ปี 2560 นี้ กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เร่งบูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของพื้นที่และเกษตรกร มีเป้าหมาย 912 แปลง แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกดำเนินการ จำนวน 400 แปลง และระยะที่ 2 จำนวน 512 แปลง เน้นให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น อาทิ จีเอพี (GAP) หรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และช่วยสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกรด้วย” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งปีนี้นอกจากจะเพิ่มจำนวนพื้นที่แปลงใหญ่มากขึ้นแล้ว ยังได้มีแผนเร่งพัฒนาเกษตรกร ให้ทำหน้าที่ผู้จัดการแปลงใหญ่ให้ได้ภายใน 3 ปี ขณะเดียวกันยังจะร่วมกับภาคเอกชนในการนำงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ พร้อมประสานเครือข่ายจัดหาตลาดรับซื้อผลผลิต เพื่อเข้าไปจับคู่หรือแมชชิ่ง (Matching) ในแปลงใหญ่ ทั้งยังมุ่งพัฒนายกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าผลผลิต และชักชวนให้บริษัทเอกชนต่างๆ เข้าร่วมพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการตลาด ช่วยสร้างพลังอำนาจต่อรองทางการค้า อันจะทำให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่เกิดความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ส้มโอ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯได้คัดเลือกดำเนินการส่งเสริมในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนเกษตรส้มโอ ตำบางนางลี่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นต้นแบบการผลิตส้มโอแปลงใหญ่ที่ประสบผลสำเร็จทั้งด้านการบริหารจัดการผลิตและการตลาด โดยสมาชิกวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวปลูกส้มโอ พันธุ์ขาวใหญ่ มีพื้นที่ 510 ไร่ สมาชิก จำนวน 137 ราย เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) 25 ราย ได้ผลผลิต รวม ประมาณ 760 ตัน/ปี ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมและผลักดันให้กลุ่มฯนี้ นำส้มโอแปลงใหญ่ เข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี (GAP) ปัจจุบันมีสมาชิกที่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 64 ราย และอยู่ระหว่างพัฒนาแปลงเพื่อเข้าสู่มาตรฐานเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยการห่อผลส้มโอด้วยกระดาษคาร์บอน เพื่อให้ได้ผลผลิตส้มโอพรีเมี่ยมเกรดซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด เช่น ตลาดโมเดิร์นเทรด และส่งออกได้มากขึ้น ทำให้ขายได้ราคาดี นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้สมาชิกวางแผนซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน พร้อมวางแผนการผลิตให้เก็บเกี่ยวได้ในช่วงตรุษจีนและสารทจีน และยังส่งเสริมให้พัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า รวมทั้งจัดทำระบบตามสอบย้อนกลับโดยใช้คิวอาร์โค๊ด (QR Code) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภคด้วย และขณะนี้อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ (GI)
“การส่งเสริมการผลิตส้มโอแปลงใหญ่ สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯจาก 4,755 บาทต่อไร่ เหลือไร่ละ 4,000 บาท คิดเป็น 10% ทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตจาก 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็น 20% นอกจากนั้น สินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 30 บาทต่อกิโลกรัม และส้มโอ พรีเมี่ยมเกรด ยังมีมูลค่าสูงขึ้นจาก 120 บาท/ผล เป็น 300 บาทต่อผล หรือเพิ่มขึ้นผลละ 170 บาท ทำให้เกษตรกรมีโอกาสทางการตลาดและมีรายได้สูงขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว