“ทุกคำตอบเรื่องการเกษตร” คูโบต้าจัดให้...ส่งเสริมเกษตรกรด้วยนวัตกรรมเพาะปลูก
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ อธิบายโครงการ KAS ที่ใช้กับแปลงปลูกอ้อย...

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า จังหวัดอุดรธานี ทำแปลงเกษตรต้นแบบของการเพาะปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง นำนวัตกรรมเพาะปลูก KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS เข้ามาสนับสนุนและพัฒนาการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า เพื่อช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรให้มีความสุข

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การจัดการโครงการ บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งสภาพอากาศแล้ง และน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทั้งเรื่องผลผลิตที่ตกต่ำ ผลผลิตขายไม่ได้ราคา ส่งผลให้เกษตรขาดทุนและเป็นหนี้สะสมระยะยาว ซึ่งจำเป็นที่ต้องนำนวัตกรรมที่สามารถควบคุมตัวแปรการเพาะปลูกให้ได้มากที่สุด เช่น ระบบการจัดการน้ำ เข้ามาเป็นตัวช่วยที่สำคัญ และปัจจุบันเกษตรกรมีอายุที่มากขึ้นโดยมีค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่เกษตรกรจะอายุอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป จึงทำให้เกษตรกรทำการเกษตรลำบากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จึงได้ศึกษาและทดลองวิธีการที่จะเป็นแนวทางในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ภายใต้ชื่อ KUBOTA (Agri) Solutions” หรือมีความหมายว่า “ทุกคำตอบเรื่องการเกษตร-คูโบต้าจัดให้” ด้วยการนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีความแม่นยำและสม่ำเสมอ ตั้งแต่การปฏิรูปพื้นที่การเพาะปลูก การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่งผลผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต และรายได้ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

สยามคูโบต้าได้เข้ามาดำเนินงานในแปลงตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า จังหวัดอุดรธานี ด้วยการนำ KUBOTA (Agri) Solutions เข้ามาทดลองกับแปลงพืชเศรษฐกิจทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยทำการศึกษาสภาพพื้นที่และวิธีการเพาะปลูกพืชทุกขั้นตอน แล้ววิเคราะห์ถึงปัญหา เพื่อหาเทคนิคทางการเกษตรมาแก้ไข ผ่านการทำแปลงทดสอบเปรียบเทียบวิธีการแบบดั้งเดิมของเกษตรกร และวิธีการของ KUBOTA (Agri) Solutions เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ รวมทั้งการนำเทคนิคด้านการเกษตรและองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรกลการเกษตรมาสนับสนุนวิธีการทำเกษตรในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูกจริง ซึ่งปัญหาที่บริษัทฯ พบในทุกพืชหลังจากที่เข้ามาศึกษา พบว่า เกษตรกรมีการใส่ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น บริษัทฯจึงได้สังเกตและศึกษาดูว่าการใส่ปุ๋ยครั้งไหนมีประโยชน์กับพืชบ้าง แล้วจึงนำมาเป็นตัวกำหนดในการใส่ปุ๋ยของพืชแต่ละชนิด เพื่อเป็นวิธีการลดต้นทุนในการผลิตวิธีหนึ่ง

แปลงปลูกอ้อยที่คูโบต้าให้การส่งเสริม
คูโบต้าให้การส่งเสริม

ตัวอย่างเช่น แปลงอ้อยของวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า มักจะปลูกอ้อยในเดือน ต.ค.-พ.ย. ส่วนใหญ่จะปลูกบนพื้นที่ดอนและพบว่าในขั้นตอนการเตรียมดินมีความลึกไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถเก็บความชื้นในดินได้ และดินดอนที่ไม่ได้ดูแลรักษาจะขาดความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับใช้วิธีการปลูกร่องแคบ ทำให้ต้องใช้แรงงานคนใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช ซึ่งไม่สามารถดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง บริษัทฯ จึงได้นำ KUBOTA (Agri) Solutions เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการระเบิดดินดาน เพื่อเตรียมแปลงให้มีความลึกและสามารถเก็บความชื้นได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งใช้วิธีการปลูกด้วยเครื่องปลูกอ้อย และขยายร่องเพื่อให้แทรกเตอร์ขนาดเล็กสามารถเข้าไปในไร่เพื่อใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืชได้อย่างเหมาะสม การระเบิดดินดานทำให้ปลูกได้รากลึกขึ้น ท่อนอ้อยโต ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การปลูกแบบดั้งเดิมของเกษตรกรจะได้ผลผลิต 15.9 ตันต่อไร่ แต่เมื่อปลูกด้วยวิธี KUBOTA (Agri) Solutions จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20.6 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้น 25% และมีกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ปลูกด้วยวิธีแบบดั้งเดิมจะมีกำไรอยู่ที่ 5,248 บาทต่อไร่ หากปลูกด้วยวิธี KUBOTA (Agri) Solutions จะมีกำไรอยู่ที่ 8,737 บาทต่อไร่

แปลงมันสำปะหลัง ที่คูโบต้า ให้การส่งเสริม
แปลงมันสำปะหลัง

ในส่วนของแปลงมันสำปะหลัง การปลูกแบบดั้งเดิมของเกษตรกร มักจะพบปัญหาเรื่องการเตรียมดินที่ความลึกไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรักษาความชื้นในดินได้ รวมทั้งยังขาดองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาที่เหมาะสม บริษัทฯ จึงได้เข้าไปให้ความรู้และนำเทคโนโลยีของเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปช่วยในเรื่องของการเตรียมแปลงให้มีความลึกที่เหมาะสม ด้วยวิธีระเบิดดินดานเพื่อทำให้ดินสามารถเก็บความชื้นได้ดี ใช้เครื่องปลูกทดแทนแรงงานคน ซึ่งวิธีการปลูกโดยใช้แรงงานคนจะมีการปักเอียง ไม่สม่ำเสมอ เมื่อใช้เครื่องปลูกมันสำปะหลังเข้ามาปลูก จะทำให้การปักกิ่งได้ตรง และสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยจาก 3 ครั้งเหลือเพียง 2 ครั้ง โดยรอบแรกจะใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก และอีก 2 เดือนจึงจะใส่ปุ๋ยอีกครั้ง การปลูกแบบดั้งเดิมจะมีผลผลิตอยู่ที่ 2.3 ตันต่อไร่ แต่เมื่อปลูกด้วยวิธี KUBOTA (Agri) Solutions จะได้ผลผลิตอยู่ที่ 3.4 ตันต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ได้เกิดปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตทั้งการปลูกแบบดั้งเดิมและการปลูกด้วยวิธีการของสยามคูโบต้าตกต่ำ แต่โดยรวมแล้ว วิธีการปลูกด้วย KUBOTA (Agri) Solutions ยังคงได้ผลลผลิตที่ดีกว่า

นายจีน พระชัย เกษตรกรชาวนายิ้มได้...ที่เห็นนี้เป็นการปลูกถั่วเหลือง พืชหลังนา
นายจีน พระชัย เกษตรกรชาวนายิ้มได้…ที่เห็นนี้เป็นการปลูกถั่วเหลือง พืชหลังนา

สำหรับแปลงนาข้าว วิธีการปลูกแบบดั้งเดิมของเกษตรกร คือ วิธีดำมือ ปัญหาของวิธีนี้คือมีค่าจ้างแรงงานที่สูง ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปใช้วิธีการทำนาหว่านเพื่อลดต้นทุนในการปลูก แต่ก็ยังพบปัญหาผลผลิตต่ำ รวมทั้งยังขาดองค์ความรู้ด้านการรักษาที่เหมาะสม บริษัทฯจึงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกด้วยนวัตกรรม KUBOTA (Agri) Solutions ใช้รถดำนาทดแทนการดำมือและการหว่าน และใช้ปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับค่าวิเคราะห์ดิน การปลูกด้วยวิธีนี้ ทำให้เกษตรกรลดต้นทุน ทั้งค่าแรงงาน และลดเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก ซึ่งหากทำนาหว่านแบบดั้งเดิมเกษตรกรจะใช้เมล็ดพันธุ์มากถึง 30 กิโลกรัมต่อไร่ แต่หากทำนาโดยวิธีใช้รถดำนา จะใช้เมล็ดพันธุ์เพียงแค่ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตที่ได้ก็เพิ่มขึ้น เดิมการทำนาหว่าน จะได้ผลผลิตอยู่ที่ 556 กิโลกรัมต่อไร่ หากทำด้วยวิธีการ KUBOTA (Agri) Solutions ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 733 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการที่ปลูกข้าวได้เว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม มีการให้ปุ๋ยตรงชนิดกับที่ดินขาด ในส่วนของกำไรที่ได้ การทำแบบนาหว่านจะได้กำไรอยู่ที่ 3,396 บาทต่อไร่  แบบนาดำมือ กำไรจะอยู่ที่ 3,923 บาทต่อไร่ และวิธีการปลูกแบบ KUBOTA (Agri) Solutions จะได้กำไรมากถึง 5,001 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยวข้าว สยามคูโบต้ายังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม โดยมีกำไรในการปลูกถั่วเหลืองอยู่ที่ 1,000 บาทต่อไร่ และการปลูกถั่วเหลืองยังเป็นการบำรุงดินทำให้การทำนาข้าวในครั้งต่อไปมีผลผลิตมากขึ้นอีกด้วย

วิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า ที่คูโบต้าให้การส่งเสริม
ที่ทำการ วิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า บัดนี้ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่คูโบต้าให้การส่งเสริม

วิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า เป็นกลุ่มที่บริษัทฯ ได้เสนอชื่อเข้าเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ประชารัฐ เกษตรสมัยใหม่ ในกลุ่มข้าว เมื่อปี 2559 โดยที่ผ่านมามีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างสยามคูโบต้า กลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนากิจกรรมด้านการเกษตรภายในกลุ่มฯ โดยการสนับสนุนรูปแบบการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ทั้งการลดต้นทุนการผลิตด้วยการให้องค์ความรู้ด้านการผลิตปัจจัยทางการเกษตรด้วยตนเอง การควบคุมการจัดการดูแล รักษาให้ถูกต้องและเหมาะสมตามช่วงเวลา และการจัดการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบรวมกลุ่ม นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้วางเป้าหมายในอนาคตเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมแปลงใหญ่ฯ ในพื้นที่เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมและต่อยอดพัฒนากิจกรรมให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า ที่นอกจากจะเป็นแบบอย่างในด้านการทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยเกษตรกรในชุมชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated