เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานการเกษตรที่ จ.อุดรธานี ขอบอกก่อนเลยว่า ภาคอีสานเวลานี้ มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำทางด้านเกษตรกรรมสูงมาก
ระหว่างทางที่จะไปยังจุดหมายคือ ศูนย์การเรียนรู้พลังชุมชนเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า อ.หนองวัวซอ ซึ่งเขาจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ผมได้มองเห็นเกษตรกรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะสวนยางพาราที่จังหวัดแห่งนี้มีปลูกมากเหมือนว่าอยู่ที่ภาคใต้ยังไงยังงั้น แต่การไปของผมครั้งนี้ไม่ได้ไปดูสวนยางพารา คือไปดูแปลงปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกข้าว อันเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก โดยสยามคูโบต้าเป็นผู้สนับสนุนในการเดินทางครั้งนี้
ในการเขียนบทความตรงนี้ผมจะไม่ลงในรายละเอียดเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ 3 ตัวหลักดังกล่าว แต่จะเขียนในอีกมุมมองหนึ่งที่ผมได้เห็นก็คือว่า การเกษตรกรรมของเรายังมีช่องว่างที่จะพัฒนาได้อีกมาก ยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องการใช้ปุ๋ย เกษตรกรยังเข้าใจผิดอีกมากว่าใส่ปุ๋ยยิ่งมากยิ่งดี โดยที่ยังขาดความเข้าใจว่าดินขาดธาตุอาหารอะไรบ้างจะปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะกับการปลูกพืช และควรปลูกพืชชนิดใดจึงจะได้ผลผลิตดีหรือเหมาะกับดินที่ปลูก รวมไปถึงการจัดการระหว่างปลูก ตั้งแต่พันธุ์ที่ใช้ ระบบน้ำ การจัดการโรคแมลง ไปจนการเก็บเกี่ยว และต่อเนื่องไปถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่า สำคัญที่สุดคือปลูกได้ก็ต้องขายได้ราคาดีด้วย (ขอย้ำว่า “ขายได้ราคาดีด้วย”)
ผมฟันธงเลยว่าหากเกษตรกรของเราเสริมความรู้เรื่องวิชาการสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอีกนิด รับรองว่าการเกษตรของเราไปโลด เป็นที่ 1 อย่างแน่นอน เพราะว่าการเกษตรของเรามีต้นทุนที่ดี ดินฟ้าอากาศเป็นต่อ (แม้ภายหลังจะไม่ค่อยเป็นใจแต่โดยรวมก็ถือว่ายังดีกว่า) แถมมีพื้นฐานอาชีพที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งแสดงถึงความมีจิตใจที่อดทน ที่ผ่านมาต้องยอมรับเป็นอาชีพที่เหนื่อยสุดๆ แต่การทำเกษตรสมัยใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องเหนื่อยแบบแต่ก่อนแล้ว
ตรงนี้ผมก็ขอพูดแค่นี้ สิ่งที่จะพูดต่อไปก็คือว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเปลี่ยนเกษตรประเทศไทยให้พัฒนาแบบก้าวกระโดดหรือเป็นผู้นำได้ ผมขอบอกเลยว่า “ผู้นำ” สำคัญที่สุด…
ในการเดินทางครั้งนี้ ผมได้พบผู้นำหลายคนที่มีหัวใจเกษตรและมองเห็นว่าการเกษตรมีความสำคัญ แต่ที่จะพูดถึงก็คือ ผู้นำเกษตรในชุมชน…อันนี้ผมคิดว่าสำคัญที่สุด
ผมได้พบกับ พ่อสีลา ภูจำเริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มห้วยตาดข่า ซึ่งวันนี้ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีต่อหน้านายปริญญา เพ็งสมบัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มาเป็นตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการฯ ในฐานะประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ ต่อหน้านายธวัชชัย แปรงศรี นายอำเภอหนองวัวซอ ต่อหน้านางสาววราภรณ์ อิ่มแสงจันทร เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ต่อหน้าผู้บริหารทุกระดับของคูโบต้า ซึ่งนำโดยนายฮิโรตะ คิมุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฯลฯ และต่อหน้าเกษตรนับร้อยคนที่มาร่วมในพิธีครั้งนี้ เป็นการกล่าวที่แสดงถึงความเป็นผู้นำเกษตรกร รู้เรื่องการเกษตรในพื้นที่เป็นอย่างดี (ผมได้ยินคนที่นั่งข้างๆ กระซิบกันว่าอย่างนี้ไปสมัครเป็น ส.ส. หรือเป็นนักการเมืองได้เลย)
หลังลงจากเวทีผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยกันสั้นๆ และได้มาคุยยาวๆอีกครั้งหนึ่งหลังอาหารมื้อกลางวัน ทำให้ผมรู้ได้ว่า พ่อสีลา ภูจำเริญ อายุ 59 ปี เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินทำนาเพียง 10 ไร่ เรียนจบแค่ชั้นประถม 4 แต่บวชเรียนทางพระมาบ้าง (2พรรษา) จากนั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนมาโดยตลอด ปัจจุบันยังเป็นประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ประชารัฐ อ.หนองวัวซอ อีกด้วย
ผมได้ถามพ่อสีลาว่า มีเคล็ดลับอย่างไร จึงครองใจเกษตรกรด้วยกัน และสามารถเป็นผู้นำชุมชนได้ ก็ได้รับคำตอบว่า ต้องมีความเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันอดทน มนุษย์สัมพันธ์ต้องดี เป็นกันเอง อยู่กับหมู่คณะต้องสนุกสนาน โดยรวมก็คือว่าต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด
ได้คุยกันเรื่องทิศทางการพัฒนาภาคเกษตร พ่อสีลา มองว่าเกษตรบ้านเราอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างคนรุ่นเก่าที่เป็นพ่อแม่มาสู่คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลาน เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องความรู้ที่เป็นวิชาการ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นเครื่องจักรกลต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้การทำเกษตรไม่เหนื่อยและหนักเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะทำให้ประหยัดต้นทุนได้ เช่น เรื่องแรงงาน และเวลาที่ทำได้รวดเร็วกว่ากันมาก
“ถ้าภาครัฐหรือผู้เกี่ยวข้องให้ความสนใจคอยช่วยเหลือเกษตรเราก็จะไปได้ อย่างแต่ก่อนลงมาดูแลไม่ทั่วถึง แต่เวลานี้รัฐบาลหรือผู้นำมองเกษตรเป็นเรื่องใหญ่ ใครๆก็ให้ความสำคัญต่างก็ลงมา อย่างสื่อมวลชนเข้ามาสัมภาษณ์ออกข่าวทำให้เกษตรกรตื่นตัวกันมาก คนรุ่นใหม่ก็เข้าสู่ภาคเกษตรเยอะ ซึ่งถ้าเกษตรกรรวมตัวบริหารจัดการกันได้ ก็คิดว่าเกษตรบ้านเราจะไปได้”
ผมได้ยินได้ฟังพ่อสีลา ก็บอกเลยว่า ผู้นำทางการเกษตรตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีลงมา ไปจนถึงผู้นำในชุมชน โดยเฉพาะเกษตรของเราเวลานี้ มีรายย่อยมากมายทั่วประเทศ หากไม่มีการรวมตัวกัน ไม่สามัคคีกัน มีแต่ตายกับตาย จนกับจน (ขออภัยที่ต้องใช้คำนี้) เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ผู้นำชุมชนหรือผู้นำเกษตรกรสำคัญที่สุด
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันสร้างผู้นำทางการเกษตรให้เข้มแข็งและให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด ทั้งนำชุมชน นำในอาชีพ และสำคัญไปกว่านั้นก็คือการนำตนเองไปสู่จุดที่ดีกว่า… “เกษตรคือประเทศไทย” บอกสั้นๆแค่นี้ละครับ
(ขอบคุณ : บริษัท สยามคูโบต้าฯ ที่ให้ความสะดวกในการเดินทางครั้งนี้ และมองเห็นว่าการเกษตรของประเทศไทยมีความสำคัญ จึงให้การส่งเสริมด้วยการนำนวัตกรรมการเพาะปลูกมาใช้ในพืชเศรษฐกิจหลักของภาคอีสาน ซึ่งเชื่อมั่นว่ายังพัฒนาให้ก้าวไกลได้อีกมาก…อ่านประกอบข่าวนี้ https://goo.gl/FlThoN)