ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในช่วงนี้กลางวันจะมีอากาศร้อน มีลม และกลางคืนมีอากาศเย็น กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกชี้ฟ้าให้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยอ่อน และไรขาว มักพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นพริกแตกใบอ่อน
อาการที่เกิดและวิธีป้องกัน
สำหรับเพลี้ยอ่อน จะทำให้ใบและยอดอ่อนหงิกงอ บิดเบี้ยว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกติดผลพริก ให้เกษตรกรใช้วิธีเขตกรรมกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หากพบเพลี้ยอ่อนมีความหนาแน่น 10-20 เปอร์เซ็นต์ของใบทั้งต้นจากจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทั้งหมด ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีโทเฟนพร็อกซ์ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และควรพ่นสารอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในส่วนของไรขาว มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอด และดอก ทำให้ใบและยอดหงิกงอ ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง ใบมีลักษณะเรียวแหลม ก้านใบยาว เปราะหักง่าย อาการขั้นรุนแรง ส่วนยอดจะแตกเป็นฝอย ถ้าไรขาวทำลายดอก กลีบดอกจะบิด แคระแกร็น และชะงักการเกิดดอก หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต มักพบระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศชื้น เกษตรกรควรสุ่มสำรวจต้นพริกทุกสัปดาห์ หากพบให้ใช้สารฆ่าแมลง-ไรที่มีประสิทธิภาพ อาทิ สารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไพริดาเบน 20% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปโรมีซิเฟน 24% เอสซี อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกำมะถัน 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยสามารถพ่นซ้ำได้ตามการระบาด
(ข่าวโดย : อังคณา ว่องประสพสุข : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร : กุมภาพันธ์ 2560)