ล้วงลึกพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ของศรแดง “ไม่หวังรายได้แต่อนุรักษ์ให้ยั่งยืน”
ส่วนหนึ่งของผักพื้นบ้านที่ถูกปรับปรุงพันธุ์โดยศรแดง ซึ่งไม่ได้หวังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ แต่หวังว่าจะช่วยอนุรักษ์พันธุ์ให้คงอยู่...

ปี 2560 เป็นปีที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก “ตราศรแดง” ครบรอบ 35 ปีแห่งการก่อตั้ง ซึ่งมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และมีกิจกรรมหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ การเปิดตัวผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ที่ศรแดงได้ซุ่มปรับปรุงพันธุ์มานานนับปี และได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สนใจ เข้าเยี่ยมชม ณ ศูนย์วิจัยพันธุ์ผักพื้นบ้าน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดเจดีย์แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

บนพื้นที่ 8 ไร่ ของศูนย์วิจัยพันธุ์ผักพื้นบ้าน ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกได้จำลองการปลูกเป็นแบบการค้า และส่วนที่สอง ได้จำลองการปลูกแบบบริโภคเอง

คุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด
คุณอิสระ วงศ์อินทร์

โดยคุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ได้ให้ข้อมูลว่า งานปลูกทั้ง 2 รูปแบบนี้ เพื่อต้องการให้เห็นว่าถ้าจะปลูกเป็นการค้าต้องปลูกอย่างไร มีการจัดการอย่างไร เช่น ปลูกแบบมีพลาสติกคลุมวัชพืช มีระบบน้ำ ระบบการให้ปุ๋ยที่สามารถควบคุมได้ และโดยเฉพาะการปลูกกินเองในครอบครัว ได้จำลองให้เห็นว่าสามารถปลูกได้จริงในทุกพื้นที่ เช่น ปลูกในยางรถยนต์ ปลูกแนวรั้ว ปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ ปลูกในกระถางแบบแขวน หรือปลูกแนวตั้ง หรือแม้แต่การปลูกบนหลังคา

มะเขือเทศตีลังกา แสดงให้เห็นถึงการใช้สอยพื้นที่อย่างคุ้มค่าและไม่ว่าจะมีพื้นที่จำกัดแค่ไหนก็ปลูกผักกินเองได้
มะเขือเทศตีลังกา แสดงให้เห็นถึงการใช้สอยพื้นที่อย่างคุ้มค่าและไม่ว่าจะมีพื้นที่จำกัดแค่ไหนก็ปลูกผักกินเองได้

“เราต้องการทำให้เห็นว่าคุณจะอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่จำกัดอย่างไรก็สามารถทำการเกษตรหรือปลูกพืชผักกินเองได้”

ถามถึงความยากง่ายของการปลูก คุณอิสระบอกว่า ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแต่ต้องวางแผนการปลูกให้เหมาะสม นั่นหมายถึงว่าผักพื้นบ้านแต่ละชนิดให้ผลผลิตที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน จึงต้องปลูกในเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สวยงามในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเปิดตัว

ทั้งพันธุ์ผัก พันธุ์ดอกไม้ ของศรแดง ถูกจัดแจงไว้อย่างลงตัว
ทั้งพันธุ์ผัก พันธุ์ดอกไม้ ของศรแดง ถูกจัดแจงไว้อย่างลงตัว
ผักบุ้งต้น ดอกสีม่วงสวยงาม...สังเกตดูภาพนี้แม้แต่ทางเดิมก็ยังเติมเต็มด้วยพืชผักชนิดต่างๆ
ผักบุ้งต้น ดอกสีม่วงสวยงาม…สังเกตดูแม้แต่ทางเดินก็ยังเติมเต็มด้วยพืชผักชนิดต่างๆ

ผลจากความทุ่มเทของผู้บริหารและพนักงานทุกคนที่ช่วยกันปลูกผักพื้นบ้านทำให้พื้นที่ 8 ไร่สวยงาม ทุกอณูของพื้นที่แฝงไว้ด้วยพืชผักที่เป็นผลิตภัณฑ์ของศรแดงอย่างไร้ที่ติ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ที่สามารถนำมาปลูกโชว์ได้ ต้องใช้เวลาคัดเลือกสายพันธุ์เป็นแรมปี

“นักวิจัยของเราได้ทุ่มเทอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเสาะหาพันธุ์ผักพื้นบ้านว่ามีชนิดใดบ้างที่เป็นที่นิยมและมีคุณประโยชน์ ซึ่งเริ่มจากผักพื้นบ้านของไทยเป็นหลัก ยกเว้นบางชนิดที่เริ่มหายาก เช่น มะเขือเทศฟักทองที่แต่ก่อนเคยมี เราจึงต้องหาเชื้อพันธุกรรมจากประเทศเพื่อนบ้านที่บริษัทของเรามีเครือข่าย ซึ่งเขาก็มีผักพื้นบ้านหลายชนิดที่เหมือนกับเรา เช่น พม่า กัมพูชา ฯลฯ เมื่อได้พันธุ์มาแล้วเราก็นำมาคัดสายพันธุ์เป็นพันธุ์ผสมเปิดเพื่อหาต้นพันธุ์ที่ดีที่ถูกต้องตามสายพันธุ์ดั้งเดิม จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการผลิตของเรา ตั้งแต่การปลูกที่ถูกต้อง การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การไว้ผล การสุกแก่ของเมล็ดพันธุ์ และนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้เข้าสู่ห้องทดสอบ เพื่อดูความงอก ความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานที่ดีกว่าเดิมหรือดีกว่าเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาด 10% เราจึงจะนำออกเผยแพร่และวางจำหน่ายในท้องตลาด”

ได้รับความสนใจมาก...สังเกคดูมีปลูกผักบนหลังคาด้วย
ได้รับความสนใจมาก…สังเกตดูมีปลูกพืชผักบนหลังคาด้วย

เหตุผลที่ศรแดง หันมาปรับปรุงพันธุ์ผักพื้นบ้าน คุณอิสระ บอกว่า พันธุ์ผักพื้นบ้านที่เกษตรกรปลูกนั้นเริ่มมีปัญหาเรื่องคุณภาพและความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้เกษตรกรบางส่วนลดการปลูกพันธุ์ผักพื้นบ้าน ทั้งที่ผักพื้นบ้านหลายชนิดมีคุณค่าด้านอาหารและโภชนาการสูง รวมทั้งวัฒนธรรมการเพาะปลูกผักพื้นบ้านที่มีเฉพาะในประเทศไทย จึงถือเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทางศรแดงจึงตระหนักในเรื่องนี้ และหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นการเพาะปลูกและอนุรักษ์สายพันธุ์ผักพื้นบ้านให้คงอยู่…

มะเขือพวง พวงมณี ปลูกแบบการค้า
มะเขือพวง พวงมณี ปลูกแบบการค้า

สำหรับเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ศรแดงได้ทำการปรับปรุงและคัดสายพันธุ์มีทั้งหมด 52 ชนิด แต่ที่จะทำให้สำเร็จในปี 2560 มีทั้งหมด 35 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ได้วางจำหน่ายแล้ว 12 ชนิด ได้แก่ กระเพราเขียวกลิ่นไท แมงลักหอมไท ผักชีลาวหอมอุดร มะเขือพวงพวงมณี ผักโขมราชบุรี มะเขือเทศพวงชมพู โหระพาจัมโบ้ ผักกาดเขียวน้อยถิ่นไท กวางตุ้งดอกสองฝั่งโขง ถั่วพูกำแพงแสน ถั่วเขียวชัยนาท และ ผักขี้หูดล้านนา

ถั่วแปบม่วง
ถั่วแปบม่วง
น้ำเต้าและแตงไทยผลอ่อน
น้ำเต้าและแตงไทยผลอ่อน

และในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ จะมีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านของศรแดงวางจำหน่ายเพิ่มอีก 23 ชนิด ได้แก่ มะเขือเทศอีเป๋อ มะเขือเทศฟักทอง มะเขือเทศเชอรี่ พริกขี้หนูสวน พริกประดับ มะเขือจานม่วง มะเขือเปราะเขียว มะเขือเปราะม่วง ถั่วแปบม่วง ถั่วฝักยาวพุ่ม ถั่วฝักยาวม่วง ถั่วพูม่วง ถั่วแดงหลวง ฟักหอม น้ำเต้า แตงไทยผลอ่อน ฟักทองญี่ปุ่น กระเจี๊ยบแดง ผักโขมแดง ผักโขมเขียว ผักปลัง และ ทานตะวันงอก

“การเปิดตัวพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด เราไม่ได้หวังว่าจะผลิตเพื่อสร้างยอดขายหรือรายได้ให้แก่บริษัทมากมาย เพราะเป็นกลุ่มพืชผักที่รับประทานเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เป็นผักที่นิยมในวงกว้าง ซึ่งไม่ได้มีมูลค่าทางการตลาดนัก แต่สิ่งที่เราทำคือพันธสัญญาที่เปรียบเสมือนเครื่องหมายในโอกาสครบรอบ 35 ปี และที่เราหวังคือการช่วยรักษามรดกที่บรรพบุรุษให้มาให้คงอยู่ชั่วลูกหลานสืบไป” คุณอิสระ กล่าวในที่สุด

คุณเอกชัย อินชนบท นักปรับปรุงพันธุ์พืชของศรแดง กับแตงกวากลิ่นใบเตย
คุณเอกชัย อินชนบท นักปรับปรุงพันธุ์พืชของศรแดง กับแตงกวากลิ่นใบเตย

อนึ่ง ในวันที่เปิดตัวพันธุ์ผักพื้นบ้าน 35 ชนิด ทางศรแดงได้มีการเปิดเผยมาแล้วว่า ยังมีพันธุ์ผักชนิดใดอีกบ้างที่อยู่ในจำนวน 52 ชนิดที่กำลังปรับปรุงพันธุ์ ก็พบว่า อย่างน้อยมีอยู่ 2 ชนิด ที่ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมกันก่อนใคร ณ แปลงปลูกที่ศูนย์วิจัยไซมอน กรูท  หรือ ฟาร์มเลิศพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.เชียงใหม่เช่นกัน คือ

แตงกวากลิ่นใบเตย โดย คุณเอกชัย อินชนบท นักปรับปรุงพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า แตงกวากลิ่นใบเตย ใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์โดยการผสม 4 ปี กลิ่นหอมของแตงกวาเป็นกลิ่นใบเตย ซึ่งไม่ได้หอมเฉพาะผล แต่หอมทั้งใบและดอก หากปลูกไว้เมื่อเดินไปใกล้จะหอมกลิ่นใบเตย หรือเมื่อรับประทานผลจะได้กลิ่นใบเตยขณะรับประทานด้วย

บวบมินิ..จิ๋วแต่แจ๋ว...ศรแดงทำได้
บวบมินิ..จิ๋วแต่แจ๋ว.

บวบมินิ บวบขนาดปกติ มีความยาว 25-30 เซนติเมตร ศรแดงได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้มีขนาดเล็กลง เนื่องจากบวบขนาดปกติ เป็นปัญหาของเกษตรกรในการทำค้างขนาดใหญ่ เมื่อมีพันธุ์บวบมินิ จะช่วยให้ทำค้างขนาดเล็กลงได้ ความสูงของค้างเพียง 1.8-2 เมตรก็เพียงพอ หรือถ้าไม่ต้องการต้นใหญ่ก็สามารถปลูกในกระถางได้เช่นเดียวกับผักชนิดอื่น

ข้อแตกต่างระหว่างบวบปกติ กับ บวบมินิ คือ การติดผลทุกข้อ ติดผลดก สามารถเก็บเกี่ยวได้ 3 ระยะ คือ ระยะผลอ่อน ระยะดอกตูม และระยะดอกบาน นอกจากนี้ดอกของบวบมินิสามารถนำไปรับประทานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสารเบต้าแคโรทีนให้กับร่างกายจากสีเหลืองของดอกบวบด้วย คุณเอกชัย กล่าว

ใครที่อยากได้พันธุ์ผักพื้นบ้านตราศรแดงไปปลูกก็ซื้อหาได้แล้ว หรือต้องการทราบว่าพันธุ์ผักพื้นบ้านในชนิดที่เหลือยังมีอะไรบ้างก็อดใจรออีกนิด และแว่วๆมาว่า ปลายปีนี้ จะมีการจัดงานเปิดตัวโชว์การจัดสวนผักพื้นบ้านกันอีกครั้ง….ครั้งนี้จะเป็นการเอาใจคนเมืองหลวง เพราะว่าจะจัดกันที่สำนักงานใหญ่ศรแดงย่านถนนไทรน้อย-บางบัวทอง นั่นเอง.

หมายเหตุ : สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 086 3611870

 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated