นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึง วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ว่า เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีการบริหารจัดการที่ดีภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ซึ่งเป็นการสนับสนุนในด้านความรู้โดยการใช้งานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ เข้าไปช่วยพัฒนา สนับสนุนการทำการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่างๆ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย สำหรับเงินทุนรัฐบาลได้สนับสนุนโครงการสินเชื่อระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่นำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาการผลิตของกลุ่ม
ทำไมต้องมีภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ เป็นการใช้จุดแข็งของภาคเอกชนในเรื่อง การบริหารจัดการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการตลาด มาช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถพัฒนาการผลิต และเข้าถึงตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความยั่งยืน และมั่งคงในอาชีพเกษตร ซึ่งความร่วมมือ กับเอกชนในการดำเนินงานแปลงใหญ่แต่ละแปลง เกษตรกรไม่ได้มีข้อผูกมัดในการใช้ปัจจัยการผลิตจากภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเลือกใช้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงด้านการตลาดเกษตรกรก็มีอิสระในการที่จะจำหน่ายให้กับเอกชนที่มีเงื่อนไขที่ดีสำหรับเกษตรกร ทั้งนี้ แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ เป็นการดำเนินการร่วมกันของคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ มีจำนวน 58 แปลง จากแปลงใหญ่ของประเทศทั้งหมด 600 แปลง (ปี 2559) ซึ่งเป็นความร่วมมือ ที่ดำเนินการตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน
คำว่า“ผูกขาด”จะไม่เกิดขึ้นในระบบแปลงใหญ่
ความร่วมมือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ไม่ได้ร่วมมือในเรื่องตลาดเพียงอย่างเดียว และในเรื่องตลาดสำหรับการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ไม่ได้เป็นตลาดผูกขาดสำหรับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ในการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในแปลงใหญ่ทุกแปลง ได้เปิดโอกาสให้เอกชนทุกรายสามารถเข้าร่วมดำเนินงานได้ในทุกด้าน รวมทั้งการรับซื้อผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถตัดสินใจจำหน่ายกับรายที่ให้ราคา และมีเงื่อนไขที่เกษตรกรพอใจ ทั้งนี้อาจจะเป็นผู้ส่งออก พ่อค้าท้องถิ่น หรือเอกชนขาดใหญ่ เช่นมะม่วง ทุเรียน มังคุด ได้มีบริษัทส่งออกเข้ามารับซื้อ และส่งออกไปต่างประเทศ ผัก และสับปะรด ได้มีการเชื่อมโยงกับ Modern trade ในการเข้ามารับซื้อเพื่อจำหน่ายในประเทศ การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสามารถทำธุรกิจได้ด้วยตนเอง ตัวอย่าง เช่นแปลงใหญ่ข้าว อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ขายตลาดต่างประเทศได้โดยตรงภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรม…