พด. ชูผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.3 และ 7 นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่า ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมมาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารพิษ ทำให้มีสุขภาพดี รักษาสมดุลของระบบนิเวศ สนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยและช่วยสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ โดยการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.3 เพื่อการควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าในพืชและผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.7 เพื่อผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืชบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
สำหรับจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.3 เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ทั้งในสภาพพื้นที่ดอนและพื้นที่ลุ่ม โดยเป็นการผสมผสานการใช้จุลินทรีย์ 2 ชนิด ที่สามารถควบคุมเชื้อ สาเหตุโรคพืช ประกอบด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเข้าทำลายเชื้อ สาเหตุโรครากเน่าและโคนเน่าของพืชเนื่องจากมีคุณสมบัติเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถแก่งแย่งแข่งขันอาหารและที่อยู่อาศัยได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคพืช สร้างสารปฏิชีวนะ และเข้าทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืชได้โดยตรง จึงสามารถใช้ในการป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ได้แก่ โรคราก เน่าและโคนเน่าในไม้ผล และไม้ยืนต้น เช่น ส้ม ยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อรา สาเหตุโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน โรคเน่าคอดิน และลำต้นเน่าของพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด พืช เส้นใย และพืชตระกูลถั่ว โรคเน่าและเหี่ยวของพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เช่น พริก มะเขือเทศ กะหล่ำปลี เบญจมาศ และมะลิ และการควบคุมเชื้อสาเหตุโรคถอดฝักดาบจากเชื้อราในนาข้าว
ส่วนจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.7 เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืชจากพืชสมุนไพร เป็นการผสมผสานการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งแบคทีเรีย ได้แก่ แบคทีเรียผลิตกรดอะซีติคใช้เป็นตัวทำละลายในการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรและแบคทีเรียผลิตกรดแลคติกป้องกันการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ภายนอกและยับยั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการบูดเน่า และยีสต์ ผลิตแอลกอฮอล์เพื่อสกัดสารออกฤทธิ์ในการไล่แมลงศัตรูพืช รวมทั้งผสมผสานกับการใช้ชนิดพืชสมุนไพรที่เหมาะสมต่อการควบคุมเพลี้ยและหนอน เช่น พืชสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพควบคุมเพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน ได้แก่ ยาสูบ ดีปลี หางไหล กลอย และพริก พืชสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพควบคุมหนอนกระทู้ผักและหนอนใยผัก ได้แก่ ว่านน้ำ สะเดา มันแกว หนอนตายหยาก และขมิ้นชัน โดยสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น และไม่เป็นพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมทั้งดินและน้ำหรือในผลผลิตพืช
“อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมให้เกษตรกรนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ใช้สารอินทรีย์เพิ่มขึ้น ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการใช้สารเคมีเป็นการใช้สารอินทรีย์ และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 33.37 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งสามารถลดใช้สารเคมีทางการเกษตรได้ 35.85 เปอร์เซ็นต์ โดยเกษตรกรยอมรับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.3 และ7 เกิดการรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์และมีความเข้มแข็งขึ้น สร้างเครือข่ายเพิ่มขึ้น พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากขึ้น สิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชนดีขึ้น สุขภาพดีขึ้นตามลำดับ” นายสุรเดช กล่าว
ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้านทุกจังหวัด และหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หรือกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน โทร 0 – 2579 – 0679 ต่อ 1379 และ 1297